ใครมีบัตรทองหรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ไม่ค่อยได้ใช้หรือบางคนแม้จะเคยใช้ แต่ก็อาจยังไม่ทราบว่าบัตรทองให้สิทธิ์อะไรกับเราอีกบ้างนอกเหนือจากที่เราใช้อยู่ ใช้รักษาได้ทุกโรค ใช้ได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐที่เราขึ้นทะเบียนไว้หรือใช้ที่อื่นได้ด้วย ใช้ที่โรงพยาบาลเอกชนได้หรือไม่ รายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ วันนี้จะมาทบทวนสิทธิ์บัตรทองกันสักรอบนะคะ
อ่านเพิ่มเติม : คนไทยต้องรู้ บัตรทองจะอยู่ต่อไปหรือไม่ ?
ใครใช้สิทธิ์บัตรทองได้บ้าง
ประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ใช้บัตรทองค่ะ เพียงมีบัตรประชาชนที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ก็สามารถขึ้นทะเบียนสิทธิ์บัตรทองได้ ไม่เว้นแม้แต่เด็กที่ยังไม่มีบัตรประชาชนก็สามารถใช้ใบสูติบัตรไปขึ้นทะเบียนได้เช่นกันค่ะ มีเงื่อนไขแค่เพียงว่าจะต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสุขภาพของประกันสังคม ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่นใดจากรัฐเท่านั้น อย่างกรณีของเด็กหากมีสวัสดิการจากพ่อแม่ที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานวิสาหกิจอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้รับสิทธิ์บัตรทอง
30 บาทรักษาทุกโรค กับ บัตรทอง เหมือนหรือต่างกัน
ปัจจุบันรวมเรียกว่าบัตรทองกันหมดแล้วค่ะ 30 บาทรักษาทุกโรคที่เป็นบัตรแบบอ่อนธรรมดาก็ยกเลิกไป เปลี่ยนเป็นฟรีไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว ทุกวันนี้สิทธิ์บัตรทองอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ไม่มีบัตรทอง ใช้สิทธิ์ได้หรือไม่
ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรทองไปยื่นเพื่อรับการรักษาพยาบาลแล้ว ใช้บัตรประชาชนได้ หากเรามีสิทธิ์อยู่ก็เพียงยื่นบัตรประชาชนที่หน่วยบริการที่เรามีสิทธิ์อยู่ได้เลย ทางหน่วยบริการจะสามารถตรวจสอบสิทธิ์ให้กับเราได้เพราะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหมดทุกระบบเรียบร้อยแล้ว
เช็คสิทธิ์บัตรทองได้ที่ไหน
จำไม่ได้ว่าเคยมีสิทธิ์บัตรทองหรือเปล่า บัตรทองก็หาไม่เจอไม่รู้ไปไหนแล้วจะขอเช็คสิทธิ์ทำได้อย่างไรบ้าง มีหลายช่องทางที่ทำได้ค่ะ ติดต่อด้วยตัวเองที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้บ้านหรือหากอยู่ในกรุงเทพฯ ติดต่อสอบถามที่สำนักเขตของ กทม. ก็ได้เช่นกัน หรือจะโทรเพื่อตรวจสอบสิทธิ์ที่ระบบโทรศัพท์อัตโนมัติก็ได้เช่นเดียวกัน ที่เบอร์โทร 1330 กด 2 (มีค่าบริการ) หรือจะเช็คผ่านทางเว็บไซด์ก็ที่ nhso.go.th หรือจะเช็คผ่านทางแอพของ สปสช. ได้ทั้งระบบ IOS และ Android
ใช้สิทธิ์บัตรทองได้ที่ไหน
เบื้องต้นจะต้องไปใช้สิทธิ์ที่หน่วยบริการ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัย ศูนย์การแพทย์ชุมชน หรือคลินิกที่เข้าร่วมที่เรามีสิทธิ์อยู่ โดยสามารถยื่นแค่เพียงบัตรประชาชนเพื่อใช้สิทธิ์ได้เลย หากหน่วยบริการไม่สามารถรักษาได้ก็จะทำการส่งตัวคนไข้ให้ไปรักษายังโรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้นต่อไป แต่หากเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินก็สามารถใช้สิทธิ์ข้ามเขตได้ โดยสามารถใช้สิทธิ์ได้ 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง
บัตรทองให้สิทธิ์อะไรบ้าง
หลัก ๆ บัตรทองให้สิทธิ์รักษาพยาบาล ตรวจ วินิจฉัย โรคทั่วไปและโรคเรื้อรัง รวมถึงโรคเฉพาะทางต่าง ๆ ทั้งในฐานะผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ค่ายาเวชภัณฑ์ ค่าอาหารและค่าห้อง การจัดส่งต่อผู้ป่วยกรณีที่ต้องส่งต่อให้โรงพยาบาลศูนย์ นอกจากนั้นยังให้สิทธิ์การวางแผนครอบครัว คุมกำเนิด ฝากครรภ์ คลอดบุตร (ไม่เกิน 2 ครั้ง) วัคซีนตามนโยบายของรัฐ การตรวจคัดกรองความเสี่ยง เช่น วัดระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม บริการทันตกรรม บริการแพทย์แผนไทยและบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เช่น กายภาพบำบัด จิตบำบัด ฯลฯ
ทำไมต้องจ่ายเอง (สิทธิ์ที่บัตรทองไม่ได้ให้)
สำหรับกรณีต่อไปนี้จะไม่สามารถใช้สิทธิ์บัตรทองได้ เช่น ภาวะมีบุตรยาก การผสมเทียม การแปลงเพศ การตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาที่เกินกว่าความเห็นของแพทย์ การบาดเจ็บการอุบัติเหตุรถยนต์ การบำบัดฟื้นฟูกรณีติดยาเสพติด การเปลี่ยนอวัยวะ ยกเว้น ปลูกถ่ายหัวใจ ปลูกถ่ายไตกรณีไตวายเรื้อรัง ปลูกถ่ายตับในเด็กที่เป็นโรคท่อน้ำดีตั้งแต่กำเนิด เป็นต้น การรักษาด้วยกรณีดังกล่าวจึงต้องจ่ายเงินเอง รวมถึงหากเป็นการรักษาโรคทั่วไปแต่ผู้ป่วยไปใช้สิทธิ์ข้ามเขต หรือการขอห้องนอนพิเศษเมื่อเป็นผู้ป่วยใน แบบนี้ก็ต้องจ่ายเองเช่นกัน
ใช้สิทธิ์โรงพยาบาลเอกชนได้หรือไม่
ต้องเป็นกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตเท่านั้น เช่น หัวใจหยุดเต้น หมดสติ เลือดออกไม่หยุด หายใจไม่ออก ขาดน้ำรุนแรง วิกฤตจากอุบัติเหตุ ชัด ปากเบี้ยว วิกฤตจากไข้สูง ปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นต้น หากมีอาการดังต่อไปนี้ ก็สามารถเลือกรับบริการที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านโดยแจ้งเป็นเหตุฉุกเฉิน โดยที่ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อน ส่วนหากเป็นเรื่องการต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่หน่วยบริการทางการแพทย์ที่เรามีสิทธิ์อาจไม่มีแพทย์เฉพาะทางนั้น ต้องแจ้งความจำนงกับโรงพยาบาลเอกชนที่เราจะขอใช้สิทธิ์ก่อนว่าสามารถใช้สิทธิ์บัตรทองได้หรือไม่
อยู่ต่างจังหวัดแต่อยากรักษาโรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพฯ
หากเป็นกรณีฉุกเฉินสามารถทำได้ทันที แต่หากเป็นการรักษาโรค เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคมะเร็ง ต้องปรึกษาแพทย์ที่หน่วยบริการการแพทย์ที่เรามีสิทธิ์เพื่อให้ออกใบส่งตัวให้ แต่หากเป็นการรักษาโรคทั่วไป ไม่สามารถใช้สิทธ์ได้
อยากย้ายสิทธิ์โรงพยาบาลทำได้หรือไม่
สามารถทำได้ติดต่อได้ด้วยตัวเองที่โรงพยาบาลที่เราต้องการใช้สิทธิ์หรือติดต่อที่สำนักงานเขต กทม. ในวันและเวลาราชการ โดยที่ต้องเลือกสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านและสะดวกในการไปรับบริการ
ใช้สิทธิ์ตรวจสุขภาพได้หรือไม่
ใช้สิทธิ์ได้แต่เฉพาะที่เป็นการตรวจคัดกรองความเสี่ยงเพื่อตรวจสุขภาพต่อไปตามความจำเป็น เช่น การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจวัดความดันหรือตรวจหามะเร็งปากมดลูก หากผลการตรวจคัดกรองไม่พบอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพอื่น ๆ
รัฐบาลจัดให้มีโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เพื่อประชาชนคนไทยทุกคนให้ได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกัน โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่าลืมหากมีเหตุที่เราสามารถใช้สิทธิ์บัตรทองได้ ก็สามารถรับบริการที่ศูนย์บริการที่เราขึ้นสิทธิ์ไว้ได้เลยค่ะ
อ้างอิง