เงินกู้บางประเภทที่มีจำนวนยอดเงินกู้ที่มาก อย่างเช่น เงินกู้ซื้อบ้าน , เงินกู้ซื้อรถยนต์ เมื่อยอดกู้สูงจึงจำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกันเงินกู้เพื่อช่วยให้ธนาคารมั่นใจในการปล่อยกู้มากขึ้นว่าถึงแม้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารก็มีสิทธิ์ที่จะไปไล่เบี้ยเอาหนี้คืนจากผู้ที่มาค้ำประกันได้ รวมถึงสินเชื่อหรือเงินกู้ตามนโยบายของรัฐบางประเภทก็จำเป็นที่ผู้ขอกู้จะต้องหาผู้ค้ำมาค้ำประกันเงินกู้ให้ด้วย
มีหลายกรณีทีเดียวที่ลูกหนี้มีปัญหาเรื่องเงินทำให้ไม่สามารถชำระหนี้กับธนาคารได้ คราวนี้เรื่องก็เลยต้องมาตกอยู่กับผู้ที่ไปเซ็นค้ำประกันให้เพราะต้องรับผิดชอบหนี้ก้อนนั้นแทน จะทำไม่รู้ไม่เห็นก็คงจะไม่ได้เพราะธนาคารมีข้อมูลของผู้ค้ำประกันอยู่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ผู้กู้ไม่ชำระหนี้ ธนาคารจะต้องติดต่อมาเพื่อทวงถามให้ชำระหนี้แทนอย่างแน่นอน
ไม่มีผู้ค้ำประกันคนใดที่อยากจะต้องมาชำระหนี้ที่เราไม่ได้เป็นคนก่อให้กับธนาคารแทนลูกหนี้ แต่ในเมื่อเราช่วยเซ็นค้ำประกันไปให้แล้ว ก็หมายความว่าเราจะปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไม่ได้ หากเราไม่จ่ายหนี้ตามที่ธนาคารทวงถามมา เราเองก็จะเป็นผู้เสียเครดิตในประวัติการชำระหนี้ซึ่งก็จะมีผลในการขอสินเชื่อหรือเงินกู้ในอนาคตของผู้ค้ำประกันเองเช่นกัน ธนาคารหรือบริษัทไฟแนนซ์เวลาฟ้องร้องก็จะฟ้องทั้งตัวลูกหนี้และผู้ค้ำประกันไปพร้อม ๆ กัน
ผู้ค้ำประกันที่ต้องตกอยู่ในสภาพรับภาระหนี้ที่ลูกหนี้ตัวจริงมีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ ต้องมีความกังวลกันแน่ว่าเราควรจะจัดการกับชีวิตของเราอย่างไรดี เราจะต้องรับผิดชำระหนี้แทนลูกหนี้ไปแบบนี้ หรือมีวิธีใดที่เราสามารถทำได้บ้าง โดยที่เราไม่ต้องการจะเสียประวัติและเครดิตในการชำระหนี้
อย่างกรณีที่มีผู้มาตั้งกระทู้ถามไว้ใน http://pantip.com/topic/35791585 ว่าพี่ชายแท้ ๆ เป็นผู้ซื้อรถยนต์ใช้โดยใส่เป็นชื่อพ่อ ตนเองและพี่สาวเป็นผู้ค้ำประกันเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันพี่ชายประสบปัญหาเรื่องเงินทำให้ไม่สามารถชำระค่างวดรถยนต์ได้ ค้างจ่ายมา 2 งวด งวดละ 14,000 บาท รวมเป็นเงิน 28,000 บาท ส่วนพี่ชายหนีไปพร้อมกับรถติดต่อไม่ได้ บริษัทไฟแนนซ์ได้ติดต่อทวงถามมายังพ่อเพราะรถยนต์เป็นชื่อพ่อ ตนเองไม่อยากต้องเสียประวัติแต่ก็ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายหนี้แทน จึงกำลังตัดสินใจว่าจะนำรถยนต์ของตนเองที่ปลอดหนี้อยู่ไปจัดไฟแนนซ์เพื่อนำเงินมาปิดหนี้รถยนต์ของพี่ชายเพื่อให้ทั้งพ่อ ตัวเองและพี่สาวไม่ต้องเสียเครดิต
จากกระทู้ดังกล่าว มีคำแนะนำที่น่าสนใจจากผู้ที่เข้ามาตอบกระทู้อย่างมากมาย สรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้
- จ่ายหนี้เข้าไปก่อนจะกลายเป็นหนี้เสีย ปกติหนี้จะกลายเป็น NPL หากค้างจ่ายเกินกว่า 90 วัน ตอนนี้ถือว่าขาดส่งไป 2 งวดแล้ว ก็น่าจะเหลือเวลาอีกไม่มากก็จะครบ 90 วัน เจ้าของกระทู้จำเป็นต้องจ่ายยอดเข้าไปเพื่อให้หนี้มีสถานะเป็นปกติก่อน หลังจากนั้นจะต่อรองหรือเจรจากับบริษัทไฟแนนซ์อย่างไรก็ค่อยว่ากันอีกที
- เจรจากับไฟแนนซ์เพื่อขอปิดยอด ถ้าเราแสดงเจตจำนงว่าจะขอปิดยอดเลย บริษัทไฟแนนซ์อาจมีส่วนลดดอกเบี้ยให้กับเราด้วย ดังนั้นหากเราหาเงินก้อนเพื่อมาปิดหนี้ได้ วิธีนี้ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี
- นำรถยนต์ปลอดหนี้ไปจัดไฟแนนซ์ มีผู้เห็นด้วยกับความคิดของเจ้าของกระทู้ว่าเป็นความคิดที่ดีที่จะนำรถยนต์ของตัวเองที่ปลอดหนี้อยู่ไปจัดไฟแนนซ์เพื่อนำเงินมาปิดหนี้รถยนต์คันที่มีปัญหา เพราะเจ้าของกระทู้ในฐานะของลูกหนี้สามารถเลือกผ่อนค่างวดรายเดือนตามความสามารถที่เจ้าของกระทู้สามารถผ่อนชำระได้ เช่น เลือกผ่อนรายเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท แต่ผ่อนนานหน่อย แต่การนำรถยนต์ไปจัดไฟแนนซ์ก็จะต้องมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดไฟแนนซ์ที่เจ้าของกระทู้จะต้องรับรู้ด้วย
- เก็บเอกสารหลักฐานทุกอย่างให้ดี หลังจากเจรจากับบริษัทไฟแนนซ์เพื่อปิดยอดเรียบร้อย บริษัทไฟแนนซ์จะโอนทะเบียนมาเป็นชื่อของพ่อเรา ให้เก็บเอกสารที่เกี่ยวกับทุกอย่างไว้ให้ดีเพื่อเป็นหลักฐาน จะคิดว่าปิดหนี้ไปเรียบร้อยแล้วไม่ได้เพราะรถยนต์ไม่ได้อยู่กับเรา
- ตามรถยนต์คืนเพื่อนำมาขายใช้หนี้ มีผู้แนะนำว่าหากสามารถตามตัวพี่ชายได้ก็ต้องบอกว่าในเมื่อมีปัญหาเรื่องเงินไม่สามารถจ่ายค่างวดรถยนต์ได้ ก็ต้องเอารถยนต์มาคืน โดยจะนำไปขายเองเพื่อใช้หนี้ หรือ ปล่อยให้ไฟแนนซ์มายึดไป ก็ดีกว่ามาขับหนีไปแบบนี้
- แจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ว่ารถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้อยู่กับตัวเรา ผู้ที่นำรถยนต์ไปใช้ไม่ได้เป็นเจ้าของรถ กรณีที่พี่ชายนำรถยนต์ไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไปขับชนเกิดอุบัติเหตุขึ้น เจ้าของรถยนต์ตัวจริงอาจต้องเจอกับปัญหาใหญ่ได้ ถ้าเราแจ้งความเป็นหลักฐานไว้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จะมีหลักฐานว่าเราไม่ได้เป็นผู้ใช้รถยนต์คันนั้น
กรณีของเจ้าของกระทู้ไม่ได้เป็นกรณีแรกและกรณีเดียวที่ผู้ค้ำประกันจะต้องมาเป็นทุกข์เป็นร้อน ต้องรับผิดชอบกับหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้น ดังนั้นสำหรับใครที่จะต้องเซ็นเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับใครล่ะก็ คงจะต้องคิดให้หนัก ๆ เสียก่อน ยิ่งถ้าไม่ใช่ญาติพี่น้องกัน คงต้องโบกมือบายไปก่อน เพราะนี่ขนาดพี่ชายแท้ ๆ ก็ยังมีปัญหา ตอนขอกู้เซ็นค้ำไม่มีใครคิดหรอกว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น หรือเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร สุดท้ายแล้วถ้าลูกหนี้ไม่จ่ายก็เป็นผู้ค้ำประกันนั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบ ธนาคารกับบริษัทไฟแนนซ์เขาต้องทวงถามมาอย่างแน่นอน ถ้าไม่มีใครรับผิดชอบก็ทำเรื่องส่งฟ้องทั้งลูกหนี้ทั้งผู้ค้ำประกัน