ใครโสดยกมือขึ้น…เมื่อพูดถึงความโสด คนยุคใหม่สมัยนี้คงไม่ซีเรียสกันมากนัก เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหน หรือถามเพื่อนในกลุ่มก็ต้องมีคนสถานะโสดอยู่อย่างแน่นอน แต่ในความโสดที่ทุกคนคิดว่ามีความอิสระเสรี อยากจะทำ อยากซื้อ หรืออยากจะไปไหน น่าจะทำให้ชีวิตมีความสุขอยู่ไม่น้อย กลับมีผลวิจัยออกมาชี้ว่า คนโสดนั้นมีความสุขน้อยกว่าคนมีครอบครัวเสียอีก
จากรายงานของ UNFPA พบว่า กว่า 20 ปีที่ผ่านมาแม้คนไทยที่อยู่เป็นครอบครัวยังมีถึง 84% แต่ก็มีขนาดที่เล็กลง ในขณะที่ลักษณะการอยู่คนเดียวหรือกลุ่มคนโสดมีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึง 13.9% สอดคล้องกับสถิติของ Economic Intelligence Center (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลการจดทะเบียนสมรสและจดทะเบียนหย่าของกรมการปกครองพบว่า การจดทะเบียนสมรสลดลง 5.1% จาก 3.13 แสนในปี 2550 มาอยู่ที่ 2.98 แสนในปี 2560 ซึ่งเป็นตัวเลขสวนทางกับการจดทะเบียนหย่าที่เพิ่มขึ้น 19.7% จาก 1.02 แสนในปี 2550 มาเป็น 1.22 แสนในปี 2560 ทั้งนี้ จากตัวเลขดังกล่าวการแต่งงานที่ลดลงและการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นจึงอาจหมายถึงจำนวนคนโสดที่มากขึ้น รวมถึงคู่ที่อยู่ด้วยกันแบบไม่จดทะเบียนสมรสด้วย
คนโสดเน้นกินเที่ยว
อีไอซีได้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างคนโสดและคนมีครอบครัวว่า มีความแตกต่างในหลายด้าน โดยคนโสดจะมีรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่อหัวมากกว่าคนมีครอบครัวเฉลี่ย 11% (ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 จะนับคนโสดเฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน 20 ปี ซึ่งสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย และนับกลุ่มที่หย่า) โดยคนโสดมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่อรายได้สูงกว่าเล็กน้อย แต่คนมีครอบครัวมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้สูงกว่ามาก ซึ่งสามารถแยกรายละเอียดค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้
ผลวิจัยชี้คนมีครอบครัวมีความสุขมากกว่าคนโสดและหากพูดถึงสัดส่วนความเป็นเจ้าของด้านสินทรัพย์ หรือบ้านและรถ พบว่า คนโสดมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของน้อยกว่าคนมีครอบครัว เช่น ช่วงอายุ 31-35 ปี มีคนโสดเพียง 18% ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่วนคนมีครอบครัวเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยถึง 51% เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าคนโสดอาจยังไม่มีความจำเป็นในการมีสินทรัพย์เท่าคนมีครอบครัว
จากผลการศึกษาของศูนย์ Customer Insights by TMB Analytics พบว่า คนมีครอบครัวมีความสุขถึง 60% ส่วนคนโสดมีแค่ 45%
- คนมีครอบครัวจะมีค่าใช้จ่ายพื้นฐาน และค่าใช้จ่ายการกิน ท่องเที่ยว ช้อปปิง ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ไม่แตกต่างกันนัก แต่พบว่า คนมีครอบครัวที่มีความสุขมีสัดส่วน 60% และกลุ่มที่ไม่มีความสุขอีก 40% มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากภาระเลี้ยงดูและค่าเล่าเรียนบุตร
- ส่วนพฤติกรรมการเป็นหนี้ พบว่า กลุ่มที่มีความสุขมีการบริหารจัดการที่ดีกว่า เช่น เลือกผ่อนชำระแบบไม่มีดอกเบี้ย หรือจ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยสูง ๆ ก่อน อีกทั้งส่วนใหญ่มีรายการผ่อนแบบคิดดอกเบี้ยเพียง 1-2 รายการ ขณะที่เกือบครึ่งของกลุ่มที่ไม่มีความสุข มีรายการที่ต้องผ่อนชำระแบบเสียดอกเบี้ยมากกว่า 3 รายการ และมักเลือกชำระหนี้แบบจ่ายขั้นต่ำ และมีบางส่วนจ่ายหนี้ช้ากว่ากำหนดด้วย
- เรื่องการออม พบว่า กลุ่มที่มีความสุขมีสัดส่วนคนที่มีเงินออมสูงกว่าถึง 3 เท่า และมีรูปแบบการออมเพื่อวัยเกษียณกับการเก็บออมเพื่อลงทุนเป็นสัดส่วนสูงกว่าถึง 2 เท่า
- กลุ่มที่มีความสุขยังมีการเตรียมความพร้อมในชีวิตที่ดีกว่า จะซื้อประกันสุขภาพไว้มากกว่ากลุ่มไม่มีความสุขถึง 2 เท่า รวมทั้งมีการวางแผนเกี่ยวกับเงินที่จะใช้ยามเกษียณแล้ว ขณะที่กลุ่มไม่มีความสุขจำนวน 11% สารภาพว่ายังไม่รู้จะเอาเงินจากที่ไหนมาใช้ในยามเกษียณ
การวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบ มีวินัย และมองการณ์ไกล ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตในอนาคตเป็นอย่างมาก เมื่อไม่ประมาท ไม่ว่าคุณจะเป็นคนโสดหรือมีครอบครัวก็ย่อมมีความสุขในชีวิตได้เช่นกัน