ครอบครัวที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ จะต้องมีการวางแผนการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมในแต่ละวันร่วมกัน รวมไปถึงการวางแผนการใช้จ่ายของแต่ละคนให้ลงตัว และเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาทางการเงิน ซึ่งในปัจจุบันปัญหาการเงินในครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ที่หลาย ๆ ครอบครัวก็ยังหาทางออกในเรื่องนี้ไม่ได้ แต่สำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังเป็นกังวลอยู่ล่ะก็ วันนี้เรามีเคล็ดลับการบริหารจัดการเงินที่ดีมาแนะนำค่ะ
วางแผนการเงินของคนในครอบครัวอย่างลงตัวและเหมาะสม
-
พูดคุย ตกลงและทำความเข้าใจ
เริ่มต้นวางแผนการเงินได้ง่าย ๆ จากการพูดคุย ทำความเข้าใจกับคนในครอบครัว เกี่ยวกับสภาวะทางการเงิน โดยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคาร เกี่ยวกับการใช้จ่ายบ้างอย่าง หรือบางรายการที่สำคัญ อธิบายเหตุผลเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้น อธิบายให้ทุกคนในครอบครัวเห็นภาพรวมของรายได้ที่เข้ามา กับค่าใช้จ่ายที่มีอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน หลีกเลี่ยงการต่อว่ากัน เมื่อคุณเผชิญกับปัญหาทางการเงินที่ยากต่อการแก้ไข คุณจำเป็นต้องแน่ใจก่อนว่า บทสนทนาที่เกิดขึ้นนี้เป็นเชิงบวก หรือเชิงลบ เพื่อให้ทุกคนตกลงและมีส่วนร่วมในการออมเงิน และหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
-
ตั้งเป้าหมายทางการเงินของคุณและครอบครัว
เมื่อพูดคุยทำความเข้าใจในรายละเอียดบางส่วนแล้ว ต่อมาคุณจะต้องตั้งเป้าหมายทางการเงินของตัวคุณเอง และครอบครัวให้มีความชัดเจน โดยการประเมินความต้องการทางการเงินของสมาชิกทุกคนในครอบครัว แล้วจัดการตั้งเป้าหมายให้พวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้ โดยการระบุเป้าหมายในอุดมคติสำหรับครอบครัว (การศึกษาบุตร, ค่างวดผ่อนบ้าน และแผนการเงินยามเกษียณ) เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวมีเป้าหมายในการใช้จ่ายที่ชัดเจน และคุณสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของเงินได้อย่างเหมาะสมและลงตัวมากที่สุด
-
แบ่งกลุ่มเป้าหมายของคุณออกเป็นระยะสั้น กลาง และยาว
หลักของการตั้งเป้าหมายทางการเงินให้ประสบผลสำเร็จ คุณจะต้องแบ่งกลุ่มเป้าออกเป็นระยะเวลา โดยเริ่มตั้งเป้าหมายระยะสั้น ซึ่งคุณอาจจะต้องเป้าหมายว่า ภายใน 1 – 2 ปี นี้ต้องมีเงินออมได้ 120,000 บาท หรือ สามารถชำระหนี้บัตรเครดิตได้ทั้งหมด, เป้าหมายระยะกลาง คุณอาจตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี คุณจะมีบ้านสักหลัง มีรถสักคัน เพื่อเติมเต็มความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น และเป้าหมายระยะยาว คุณอาจตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 6 ปี ขึ้นไป คุณจะมีเงินเก็บออมเพื่อการศึกษาบุตร การชำระเงินค่าบ้านก่อนกำหนด หรือวางแผนการเงินยามเกษียณไปพร้อมกันเลยก็ได้ การแบ่งเป้าหมายออกเป็นส่วน ๆ เช่นนี้จะทำให้คุณสามารถจัดสรรรายได้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้นั่นเอง
-
วางแผนการเงินของทุกคนในครอบครัว
เมื่อคุณตั้งเป้าหมายไว้เป็นอย่างดีแล้ว ต่อมาก็เริ่มต้นวางแผนการเงินของคุณ และครอบครัวให้สมดุลและสอดคล้องกัน โดยการบันทึกค่าใช้จ่าย การรับรู้ถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายในครอบครัว หรือรู้ว่าคนในครอบครัวแต่ละคนมีความจำเป็นต้องใช้เงินไปกับอะไรบ้าง จะทำให้คุณสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้ ขั้นต่อมาคือการชำระค่างวดต่าง ๆ ให้ตรงเวลา เช่น ค่างวดผ่อนรถ, ค่างวดผ่อนบ้าน และอื่นๆ ที่คุณจำเป็นต้องผ่อนชำระในทุกเดือน ควรจะจัดเตรียมเงินไว้ให้เพียงพอต่อการชำระในแต่ละเดือน โดยเน้นการชำระที่ตรงเวลา เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่อาจสูงกว่าที่คุณคิด และเริ่มต้นเก็บออมอย่างจริงจัง เมื่อคุณมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น หรือสามารถชำระหนี้ได้หมดภายในเวลาที่กำหนดแล้ว ต่อมาควรจะเริ่มต้นเก็บออมเงินอย่างจริงจังเสียที โดยการหักอย่างน้อยเดือนละ 20% ของรายได้ทั้งหมดต่อเดือน เพื่อเก็บไว้เป็นเงินสำรอง ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หรือไว้ใช้เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ซึ่งเงินออมนี้จะสามารถช่วยคุณแก้ปัญหาการเงินของครอบครัวได้
-
เตรียมแผนสำรองทางการเงินไว้เสมอ
หลังจากที่คุณจัดการบริหารเงินในทุกคนในครอบครัวอย่างลงตัวแล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณควรต้องเตรียมตัวไว้ นั่นคือ เมื่อมีการวางแผนก็ต้องเตรียมแผนสำรองไว้ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาทางการเงินของครอบครัว วางแผนสำรองด้วยการแยกบัญชีเงินไว้อีกหนึ่งบัญชี อาจจะแบ่งเงินสำรองไว้ประมาณ 10% ของรายได้ทั้งหมดต่อเดือนก็ได้ เพิ่มความมั่งคงทางการเงินด้วยการนำเงินเก็บบางส่วนมาลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ เพื่อให้เงินเก็บงอกเงย หรือทำประกันชีวิตให้กับทุกคนในครอบครัว เพื่อได้มีเงินสำรองไว้ใช้ในยามที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน การเตรียมแผนสำรองให้ครอบคลุมจะทำให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนมีแต่ความสุข
อย่างไรก็ตาม การวางแผนการเงินเป็นเรื่องใหญ่ คุณจะต้องปรึกษากับทุกคนในครอบครัวทุกครั้ง ไม่ว่าจะพบกับปัญหาทางด้านการเงิน หรือพบปัญหาด้านอื่นๆ เพื่อสร้างความสุขให้ทุกคนในครอบครัวและตัวของคุณเองด้วย เริ่มวางแผนการเงินกันตั้งแต่ตอนนี้ เกิดปัญหาด้านการเงินจนคุณไม่สามารถหาทางออกได้นะคะ