กลับมาเจอกันอีกแล้วนะครับกับซีรี่ย์สุดฟรุ้งฟริ้งจากทาง Moneyhub และเราก็อยู่ด้วยกันมาถึงตอนที่สามแล้ว หลังจากตอนที่แล้วท่านผู้อ่านที่น่ารัก ก็ได้ทราบกันไปแล้วว่าแบบประเมินความเสี่ยงเป็นอย่างไร และมีความสำคัญอะไรบ้าง ทางทีมงานก็ยังย้ำ !! คำเดิมนะครับว่าสำคัญมากจริงๆ (อาจจะดูย้ำคิดย้ำทำไปซักนิดแต่เราเป็นห่วงด้วยใจจริงนะครับ : D) หากใครเพิ่งบังเอิญเจอกันในบทความนี้ แนะนำให้ย้อนไปอ่านกันซักหน่อย
อ่านตอนที่แล้ว : Happy Investing The Series : อยากลงทุนเริ่มต้นที่ไหนดี ?
และมาถึงตรงนี้หลายๆคนคงจะงงว่า เอ๊ะ !! แล้วตราสารหนี้ ตราสารทุน คืออะไร ?? ยังไม่ทันไร กองทุนรวมมาอีกแล้ว เดี๋ยวครับ !! อย่าเพิ่งถอดใจไปดึงสติกันก่อนแล้วลุยกันต่อเลย…
ตราสารหนี้
การลงทุนในตราสารประเภทนี้เราจะมีสภาพเป็นเจ้าหนี้นั่นเอง แต่สิ่งหนึ่งที่หัวอกคนเป็นเจ้าหนี้เท่านั้นที่รู้คือ ความเสี่ยงที่จโดนชักดาบ ฟิ้งๆ !! ใช่ไหมล่ะครับ แต่ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะเรามีลูกหนี้ชั้นดีอย่าง “รัฐบาล” ที่ยืมเงินจากเวลามีโครงการใหญ่ๆ ความเสี่ยงมีต่ำมาก โดยจะมีตราสารหนี้ออกมาเสนอขายแก่ผู้ลงทุนในรูปแบบของ ตั๋วเงินคลัง (ในกรณีสั้นๆไม่เกิน 1 ปี) และ พันธบัตรรัฐบาล(กรณีเกินกว่า1ปี) นั่นเอง
นอกจากรัฐบาลแล้ว ยังมีลูกหนี้ชั้นดีอีกหนึ่งราย นั่นคือ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีรัฐบาลถือหุ้นใหญ่อยู่ ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำแต่อาจจะไม่เท่ารัฐบาลนะ เพราะเป็นองค์กรแสวงหากำไร โดยตราสารหนี้จะออกมาในรูปแบบของ “พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ” นั่นเอง และลูกหนี้รายสุดท้ายก็คือ บริษัทเอกชนครับ โดยบริษัทเอกชนจะต้องการใช้เงินในระยะสั้นเพื่อหมุนเวียนในธุรกิจ โดยออกตราสารหนี้มาในรูปแบบของ “ตั๋วแลกเงิน” แต่หากต้องการใช้เงินในระยะยาวมากกว่า 1 ปี จะออกมาในรูปแบบของ “หุ้นกู้”นั่นเอง โดยผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้จะอยู่ในรูปแบบของดอกเบี้ย แต่การจะตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทใดซักที่ ท่านผู้อ่านควรเลือกจากบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือนะครับ โดยสามารถดูได้จากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency)ได้เลย
โน้ตไว้อีกซักนิดนึงนะครับ บริษัทที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ได้รับความเห็นชอบจาก สนง.กำกับหลักทรพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีอยู่ 2 บริษัท ได้แก่ บ.ทริสเทรดดิ้ง จำกัด และ บ. ฟิทซ์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัดอยากเชคอันดับที่บริษัทไหนจัดก็เลือกเอาที่สบายใจเลยครับ รับรองว่าชัวร์ !!
ตราสารทุน
หลายๆคนอาจจะไม่คุ้นกับคำนี้กันเลยใช่ไหมครับ แต่ถ้าใช้คำว่า “หุ้น” เชื่อว่าทุกคนคงถึงบางอ้อกันแล้วแน่ๆ เท่ากับว่าถ้าเราอยากเป็นเจ้าของกิจการไหน เราก็เลือกไปลงทุนบริษัทนั้นนั่นเอง แต่การลงทุนในตราสารทุนจะมีความเสี่ยงมากกว่าตราสารหนี้นะครับ อย่างที่บอกไว้ตอนแรกว่าเราลงทุนเพื่อเป็นเจ้าของกิจการไปแล้ว ผลประกอบการจะเป็นอย่างไร เจ้าของก็ต้องยอมรับสภาพนั้นๆนะครับ ความเสี่ยงหลักๆก็คือการที่จะขาดทุน หรือ กำไร ขึ้นอยู่กับทั้งภาวะตลาดหุ้น และ สถานการณ์ทางการเมือง จึงต้องเลือกลงทุนกับบริษัทใดซักที่ ก็ต้องสืบกันซักหน่อยว่าแนวโน้มบริษัทเป็นอย่างไร การบริหารมีกำไรหรือเปล่า อะไรทำนองนั้น ในส่วนของค่าตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหุ้น คือ เงินปันผล และ กำไร ครับ
มาถึงตรงนี้ผู้อ่านทั้งหลายอาจจะรู้สึกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน ดูยุ่งยากจัง แถมมีความเสี่ยงเข้ามาให้หวั่นใจไปอีก แล้วจะไหวไหมเนี่ย กลับไปฝากเงินในธนาคารเหมือนเดิมดีไหม สบายใจกว่าเยอะเลย… แต่เดี๋ยวก่อน !! การลงทุนที่เราว่าแสนซับซ้อนเหล่านั้น จะง่ายขึ้นมากๆเลยถ้าเราลงทุนผ่าน “ กองทุนรวม ” นั่นเอง
กองทุนรวมคืออะไร ??
แปลจากไทยเป็นไทยตามชื่อเลยครับ กองทุนรวมก็คือ การเอาเงินของผู้ลงทุนหลายๆคนมองรวมๆกัน แล้วก็บริหารเงินกองนั้นๆไปในนโยบายเดียวกัน โดยหน้าที่ของเราก็ไม่มีอะไรมากครับ แค่หาเงินมาลงทุน และเลือกนโยบายการลงทุนให้เหมาะสมกับเราเท่านั้นเอง (ซึ่งดูได้จากการทำแบบประเมินความเสี่ยงทั้งนั้นเลย)
ส่วนหน้าที่ในการบริหารกองทุนต้องยกให้กูรูด้านการลงทุนอย่าง “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ.” นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีอยู่ทั้งหมด 23 บลจ. โดย บลจ. ทั้งหลายจะมี ผู้จัดการกองทุน หรือ Fund Manager ทำหน้าที่บริหารเงินลงทุนของผู้ลงทุนนั่นเอง โดยแต่ละ บลจ.ก็อาจจะถนัดการบริหารกองทุนกันคนละแบบ เช่น
- ถ้าตัวแม่ด้านการบริหารกองทุรวมตราสารหนี้ต้องยกให้ บลจ.ทหารไทย เค้าไปเลย
- ตัวพ่อด้านกองทุนรวมหุ้นก็ต้องยกให้ บลจ.อเบอร์ดีน อีกเช่นกัน
แต่อีกหลายๆบลจ.ที่ไม่ได้พูดถึงก็อย่าเพิ่งน้อยใจไปนะครับ
การลงทุนผ่านกองทุนรวมมีข้อดีอย่างไร
มาถึงตรงนี้ผู้อ่านหลายๆท่านคงจะใจชื้นกันไม่มากก็น้อยนะครับสำหรับการเริ่มลงทุน เห็นไหมล่ะครับว่าไม่มีอะไรยากเลยโดยเฉพาะข้อดีของกองทุนรวมที่ทำให้คุณสบายใจหายห่วงได้เลย
- ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นจำนวนไม่มาก
ในการลงทุนในกองทุนรวมเราจะสามารถกระจายการลงทุนในหุ้นได้หลายตัวกว่าครับ หรือถ้าหากเราต้องการลงทุนในตราสารหนี้ซักตัว เราอาจจะต้องลงทุนหลักแสน แต่เราลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ เงินหลักพันก็สามารถลงทุนได้แล้วครับ หรือถ้าใครป๋าซักหน่อย มีเงินเต็มกระเป๋าแต่อยากให้เงินงอกเงยก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมได้เช่นกันครับ
- กองทุนรวมมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่า
โดยปกติกองทุนรวมหนึ่งกองจะไม่สามารถลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้เพียงตัวเดียวครับ ผู้จัดการกองทุนจะต้องกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากการถือครองตราสารใดตราสารหนึ่งเพียงตัวเดียว อย่างถ้าเป็นกองตราสารหนี้ ส่วนใหญ่ผู้จัดการกองทุนก็จะถือตราสารหนี้มากกว่า 5 ตัวขึ้นไป ส่วนถ้าเป็นกองทุนรวมหุ้นผู้จัดการกองทุนก็มักจะลงทุนในหุ้นมากกว่า 10 ตัวขึ้นไป เพื่อไม่ให้กองทุนมีความเสี่ยงกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากจนเกินไปครับ จึงทำให้การลงทุนผ่านกองทุนรวมมีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น หรือหุ้นกู้เพียงตัวเดียว
- การลงทุนผ่านกองทุนรวมจะมีผู้เชี่ยวชาญการลงทุนดูแล
บอกเลยว่าสบายยิ่งกว่าสบายอีกครับ เพราะเราแทบไม่ต้องตามดูงบการเงินของบริษัทต่างๆให้ปวดหัวเลยครับ หรือแม้แต่จะดูว่าจะขาย จะซื้อหุ้นตัวไหน เพราะเรามีกูรูจัดการให้อยู่แล้ว
- การลงทุนผ่านกองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย
หากท่านผู้อ่านรู้แล้วว่าเราเป็นผู้ลงทุนแบบไหน พี่กองทุนรวมก็มีหลายออพชั่นให้เลือกลงทุนได้อย่างสบายใจเลยครับ ไม่ว่าจะรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ก็เลือกลงทุนได้ แต่เลือกให้เหมาะสมกับตัวเราด้วยล่ะ
- ผลตอบแทนจากการลงทุนผ่านกองทุนรวมจะได้รับการยกเว้นภาษี
ถ้าหากใครลงทุนในตราสารหนี้เองโดยเองโดยตรง ดอกเบี้ยที่ผู้ลงทุนได้รับจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
แต่ยกเว้นผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปของเงินปันผลนะครับ หากกองทุนรวมมีการจ่ายเงินปันผล เงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ลงทุนนั้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%
แหม่ … นั่นล่ะฮะท่านผู้อ่านทุกท่าน บนโลกนี้คงไม่มีอะไรเพอร์เฟคใช่มั้ยครับ พี่กองทุนรวมของเราก็มีข้อเสียเหมือนกันนะ แต่ก็ไม่ได้ร้ายร้ายขนาดนั้นอย่างเพิ่งตกใจ เอาเป็นว่าเป็นแนวทางให้ผู้อ่านได้เตรียมความพร้อมแล้วกันนะ
ข้อเสียของการลงทุนผ่านกองทุนรวม
การจ่ายค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุน ค่าธรรมเนียมในการบริการรายปี หรือ บางกองทุนอาจจะมีค่าธรรมเนียมขาซื้อ หรือ ขาขาย
- การลงทุนในกองทุนรวมจะไม่ได้สามารถรู้ราคา ณ ตอนซื้อ
จุดนี้ต้องรอให้ บลจ. ประกาศตอนสิ้นวันนะครับ แต่การลงทุนก็เป็นระยะยาว เราคงไม่ซื้อวันนี้ขายวันรุ่งขึ้นใช่มั้ยล่ะ แหม่.. อะไรจะวัยรุ่นใจร้อนขนาดนั้นเนอะ
- ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมทุกประเภทจะเป็นผลตอบแทนที่คาดหวัง ไม่สามารถระบุชัดเจนเหมือนดอกเบี้ยฝาก
เวลาที่กองทุนรวมตราสารหนี้ออกมาเสนอขาย ผู้จัดการกองทุนเงินยังไม่ได้ทำการลงทุนจริง เลยยังไม่สามารถการันตีค่าตอบแทนได้ ผลตอบแทนที่ประกาศจึงเรียกว่า ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ (expected return) ครับ ซึ่งโดยปกติแล้วผลตอบแทนที่คาดหวังของกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีระยะเวลามักจะคลาดเคลื่อนกับผลตอบแทนจริงไม่มากนัก หรือบางทีอาจจะเท่ากันด้วยซ้ำ ส่วนกองทุนรวมหุ้น ผลตอบแทนก็ขึ้นอยู่กับภาวะของตลาดครับ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับการทำความรู้จักกับกองทุนรวมในวันนี้ แต่ขอบอกเลยว่าคุณยังรู้จักกองทุนรวมน้อยไป!! เพราะครั้งหน้าเราจะมาพูดถึงการซื้อขายของกองทุนรวมและประเภทของ กองทุนรวม กันซึ่งเชื่อว่าท่านผู้อ่านแต่ละคนอาจจะยังไม่รู้ แล้วมาทำความรู้จักกันให้ดียิ่งขึ้นไปอีกในครั้งหน้าครับ ก่อนจากกันไปหากใครชอบสิ่งดีๆที่ทางทีมงานนำมาฝากกัน กดแชร์ กดไลค์ สาระดีๆแบบนี้ควรส่งต่อให้เพื่อนๆได้อ่านกันบ้างนะ (แหม่ ชมตัวเองก็เป็นน่ะ) แล้วเจอกันครั้งหน้า วันนี้ Moneyhub สวัสดีครับ