สวัสดีครับผู้อ่านที่น่ารักของพวกเราชาว Moneyhub ที่อยู่ด้วยกันมาจนถึงตอนที่ 4 แล้ว เรียกได้ว่าถ้าเป็นซีรี่ย์เกาหลี นี่อาจจะเป็นช่วงพีคของเรื่องเลยก็ว่าได้ ผ่างๆๆ !!หลังจากตอนที่แล้วเราได้ทำความคุ้นเคยกับ กองทุนรวม กันไปแล้วบ้างแบบกรุบกริบๆวันนี้ครับ Moneyhub จะพาท่านผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกองทุนกันให้มากขึ้นไปอีก รับรองว่าจัดเต็มเหมือนเดิมเพิ่มเติมอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย …
อ่านภาคที่แล้ว : Happy Investing The Series : ลงทุนง่ายขึ้นด้วย “ กองทุนรวม ”
อย่างที่ทราบกันดีนะครับว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้นมีหลากหลายทางเลือกเต็มไปหมด แล้วตกลง “กองทุนรวม” มีกี่ประเภทกันล่ะนี่ ??
หากเราแบ่งประเภทกองทุนรวมอย่างง่ายๆ ตามประเภทของการขายคืน จะแบ่งได้สองประเภทครับ นั่นคือกองทุนรวมที่สามารถขายคืนเมื่อไรก็ได้ ที่เรียกว่า “กองทุนเปิด” และกองทุนรวมที่จะขายคืนได้ก็ต่อเมื่อกองทุนนั้นๆครบกำหนดโครงการ ที่เรียกว่า “กองทุนปิด” ครับ
แต่ถ้าแบ่งกองทุนรวมตามประเภทนโยบายการลงทุน จะแบ่งได้ทั้งหมด 10 ประเภทครับ ซึ่งค่อนข้างจะลึกลับซับซ้อนกันสักหน่อย อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านลมจับเอาได้ ทาง moneyhub จึงขอแบ่งประเภทกองทุนรวมแบบยากๆให้เข้าใจง่ายๆ โดยแบ่งตามที่เสนอขายในปัจจุบันแล้วกัน แต่ถ้าใครสงสัยและรู้ตัวว่าจิตแข็งพอก็ลองเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่ ครับ
กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund)
กองทุนประเภทนี้เป็นกองทุนรวมเปิดที่สามารถเอาเงินของเราไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น จะเป็นตราสารหนี้ในประเทศ หรือตราสารหนีต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละกองทุน ซึ่งตามที่ ก.ล.ท กำหนด ตราสารหนี้ระยะสั้นนั้นจะต้องมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี ซึ่งโดยรวมกองทุนนี้มีสภาพคล่องสูงมากครับ เราสามารถใช้แทนเงินฝากออมทรัพย์ได้เลย อีกทั้งยังคำนวณดอกเบี้ยให้ทุกวันอีกด้วย โอกาสขาดทุนเงินต้นจากการลงทุนค่อนข้างค่ำ มีผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วๆไปนิดหน่อย แต่สิ่งที่พิเศษกว่าเงินฝากนั่นก็คือผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย15% นั่นเองครับ
กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund)
อาจจะเป็นกองทุนรวมเปิด หรือ กองทุนรวมปิดก็ได้ ซึ่งผู้จัดการกองทุนรวมตราสารหนี้จะนำเงินลงทุนของเราไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือที่ยาวกว่ากองทุนรวมประเภทตลาดเงิน ส่วนอายุคงเหลือของตราสารหนี้จะยาวนานแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาของกองทุนรวมนั้นๆ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้อายุ 6 เดือน ผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินของเราไปลงทุนในตราสารหนี้อายุคงเหลือประมาณ 6 เดือนเป็นต้นครับ ส่วนตราสารหนี้ที่ผู้จัดการไปลงทุนนั้น สามารถลงทุนได้ทั้งตราสารหนี้ในประเทศและ ตราสารหนี้ต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้แต่ละกองเลยครับ และในส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ในต่างประเทศ ผู้จัดการก็ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ให้พวกเราเรียบร้อย เรียกได้ว่าเซฟให้สุดๆเลย สบายใจได้ และก็มีดอกเบี้ยมากกว่าเงินฝากประจำโดยทั่วไปเหมือนเดิม เพิ่มเติม คือ !!! ผลตอบแทนที่ได้รับไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% อีกนั่นเอง
กองทุนรวมตราสารทุน(Equity Fund)
หรือเรียกกันง่ายๆก็คือกองทุนรวมหุ้นนั่นเอง โดยที่มีเสนอขายทั่วไปมักจะเป็นกองทุนเปิดครับ แต่ก็มีบางกองที่เป็นกองทุนปิดเหมือนกันนะ อย่างพวกกองทุนประเภท Trigger มักจะเป็นกองทุนที่มีอายุกำหนด เช่น 1 ปี ผู้ถือจะขายหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดอายุโครงการไม่ได้ ส่วนในเรื่องของสัดส่วนการลงทุนในหุ้นของแต่ละกองนั้น ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุนรวมนั้นๆว่าต้องการลงทุนหุ้นเท่าไรครับ
ดอกจันไว้นิดหนึ่งครับว่า… โดยทั่วไปกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้น จะต้องลงทุนในหุ้นโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 65% ในหนึ่งรอบบัญชี (อันนี้เป็นไปตามที่ ก.ล.ต กำหนด) แต่เอาเข้าจริงๆ กองทุนรวมหุ้นเท่าที่เห็นส่วนใหญ่มักจะลงทุนในหุ้นมากกว่า 90% แทบจะทั้งนั้นครับ
กองทุนรวมแบบผสม(Banlance Fund)
กองทุนรวมประเภทนี้จะสามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก ตราสารหนี้ หรือ ตราสารทุน แต่จะต้องมีสัดส่วนในการลงทุนในขณะใดขณะหนึ่งไม่น้อยกว่า 35% และ 65 % ครับ
กองทุนรวมยืดหยุ่น (Flexible Fund)
บอกเลยว่ากองทุนนี้ยืดหยุ่นสมชื่อจริงๆ ไม่มีการชวนเชื่อแต่อย่างใดครับ เพราะกองทุนนี้สามารถลงทุนได้ทั้งเงินฝาก ตราสารหนี้ และตราสารทุน โดยสัดส่วนในการลงทุน จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการลงทุน หากผู้จัดการมองแนวโน้มตลาดหุ้นไม่ค่อยดี หรือคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่หุ้นจะตก ผู้จัดการกองทุนสามารถลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น จนเหลือ 0%
ตามทฤษฎี แต่เอาเข้าจริงๆก็ยังไม่มีเคสไหนที่ลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจนเป็น 0%
กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Fund)
กองทุนรวมประเภทนี้จะเห็นได้มากในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศครับ เรียกได้ว่าอินเตอร์มากเลยทีเดียว โดยจะนำเงินลงทุนของเราไปลงทุนในกองทุนอื่นอีกต่อหนึ่ง(ลงทุนในกองทุนหลัก) ส่วนผู้จัดการกองทุนในประเทศจะทำหน้าที่แค่ส่งเงินไปลงทุนในกองทุนหลัก แต่ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารเงินของเราจริงๆนั้น จะเป็นผู้จัดการกองทุนอีกคนหนึ่ง (คนที่บริหารกองทุนหลัก)ครับ
กองทุนรวมเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี
หลายๆคนเห็นชื่อกองทุนแล้วก็ถึงกับตาลุกวาวกันเลยใช่ไหมครับ ซึ่งในส่วนของกองทุนที่จะนำไปลดหย่อนภาษีได้นั้น จะต้องมีนามสกุล หุ้นระยะยาว (LTF: Long term equity fund) หรือ เพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement mutual fund)เช่น กองทุน EXO หุ้นระยะยาว (LTF ) กองทุนSNSD เพื่อการเลี้ยงชีพ (RTF) เป็นต้น โดยผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุนไปใช้จ่ายเพื่อขอลดหย่อนภาษีได้ครับ