มาถึงตอนสุดท้ายแบบท้ายสุดแล้วจริงๆสำหรับซีรีย์การลงทุน นี้ …. จากที่เราเกริ่นไปในตอนที่แล้วถึงตัวช่วยที่สำคัญมากกกกกในการซื้อขายกองทุนรวมนั่นก็คือ
“หนังสือชี้ชวนส่วนสรุป” หรือ Fun Fact sheet นั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วเวลาเราไปซื้อกองทุนรวม ถือเป็นกฎเลยนะครับที่พนักงานจะต้องให้เอกสารเรามา ถ้าใครยังไม่ได้รับล่ะก็บอกเลยว่า ต้องทวง !! เพราะเอกสารตัวนี้นี่แหละครับจะเป็นตัวที่บอกว่าเงินของเราจะไปลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง มีความเสี่ยงอะไรที่เราต้องเจอ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นต้นทุนของเรา ทั้งนั้นเลยครับ ถ้าใครอยากทราบว่าหน้าตาของเจ้า “หนังสือชี้ชวนส่วนสรุป” มีหน้าตาเป็นยังไง ก็เข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของทาง บลจ. ได้เลยครับ
พลาดตอนที่แล้ว กดอ่านเลย : Happy Investing The Series : เตรียมพร้อมสู่ การลงทุน (1)
แต่ก่อนที่จะเข้าไปดูหน้าตาของหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปกันจริงๆ ทางทีมงานก็ขอสปอยท่านผู้อ่านก่อนเลยแล้วกัน ว่าหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปในแต่ละส่วนนั้น มีความสำคัญกับเราอย่างไรบ้าง….
- ส่วนนโยบายการลงทุน
โดยในส่วนนี้จะบอกว่าถ้าซื้อหรือลงทุนในกองทุนรวมนั้นๆแล้ว ผู้จัดการกองทุนสามารถเอาเงินของเราไปลงทุนในสินทรัพย์อะไรได้บ้าง ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่ต้องพิจารราเป้นอันดับแรกๆเลยครับ
- ส่วนข้อมูลการลงทุน
จะเป็นข้อมูลรวมๆเกี่ยวกับกองทุนนั้นๆว่าเป็นกองทุนปิดหรือกองทุนเปิด จัดตั้งขึ้นมาเมื่อไร มูลค่าสินทรัพย์ นโยบายการจ่ายเงินปันผล ความเสี่ยงหลักๆ ใครรับหน้าที่ผู้จัดการกองทุน นายทะเบียน ผู้รักษาผลประโยชน์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่สำคัญมาก ก็ผู้อ่านก็ควรทราบไว้คร่าวๆก็ดีครับ
- ส่วนของสินทรัพย์หลักที่กองทุนรวมลงทุน
ในส่วนนี้จะต้องแสดงสินทรัพย์ที่กองทุนลงทุนหรือคาดว่าจะลงทุนอย่างน้อย 5 อันดับแรกตามสัดส่วนการลงทุน เพื่อให้เราได้ทราบคร่าวๆว่า กองทุนรวมๆนั้นๆไปลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้างครับ
- ส่วนของผลดำเนินการย้อนหลัง
ถือเป็นส่วนสำคัญมากครับ เพราะจัดว่าเป็นโปรไฟล์ที่แสดงว่าเจ๋งของผู้จัดการกองทุนเลยทีเดียว ซึ่งผู้จัดการกองทุนเทพๆเนี่ย ต้องทำผลตอบแทนของกองทุนรวมได้มากกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืมละเลยเรื่องความเสี่ยงนะครับ
- ส่วนค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม
โดยปกติแล้วจะแบ่งเป็นสองส่วนหลักๆครับ
ส่วนแรก คือ ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ลงทุนโดยตรง ได้แก่ ค่าธรรมเนียมขาเข้า ค่าธรรมเนีบมขาออก ค่าธรรมเนียมสับเปลี่ยนเข้า ค่าธรรมเนียมสับเปลี่ยนออก
ส่วนที่สอง คือ ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากกองทุน ซึ่งจะคำนวณรวมอยู่ใน NAV เป็นรายวัน ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน ค่าจ่ายการโฆษณา
ซึ่งในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปจะแสดงค่าธรรมเนียมพวกนี้เป็นร้อยละ(%) ของมูลค่าสุทธิรายปี แต่จะเรียกเก็บจากกองทุนเป็นรายวัน รวมเป็นค่าใช้จ่ายกองทุน อยู่ใน NAV ครับ
- ส่วนของช่วงเวลาการซื้อขาย
เป็นส่วนที่บอกเราว่าจะสามารถซื้อขายกองทุนได้วันและเวลาใดบ้าง เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนแล้ว กี่วันถึงจะได้รับเงินคืนจาก บลจ.
เห็นไหมครับว่าหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปมีความสำคัญมากเลยทีเดียว เพราะค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนของเราทั้งนั้นเลย อย่าได้ละเลยเอกสารนี้เลยเชียว…
มาถึงตรงนี้แล้วทีมงานคิดว่าผู้อ่านทุกท่านคงจะเริ่มมีไฟกับการลงทุนกันแล้วใช่ไหมครับ แต่เดี๋ยวก่อน!! เรามาเช็คความพร้อมกันอีกสักทีเพื่อความชัวร์กันดีกว่า
1. เตรียมตัว !!
เพราะเป้าหมายมีไว้พุ่งชน !! ดังนั้นเราต้องกำหนดเป้าหมายกันก่อนครับ ว่าเราต้องการมีเงินเท่าไรในอนาคต ในระยะเวลาเท่าไร และ ผลตอบแทนที่คาดหวัง
2.เตรียมตังค์ !!
กำหนดนโยบายการลงทุนของเรา โดยอาจะเลือกกองทุนขึ้นมาซัก 4-5 กอง เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กับ กองทุนรวมตราสารหนี้อย่างละกอง เลือกกองทุนรวมหุ้นอย่างละ สองสามกอง เพราะผลตอบแทนอาจจะมีความแตกต่างกัน เราจะได้ลงทุนกระจายๆกันไปครับ
3.เตรียมใจ !!
สำคัญสุดเลยนะครับสำหรับข้อนี้ ถ้าเราพร้อมจะลงทุนแล้ว บอกเลยว่าวินัยต้องมาครับ ซึ่งถือว่าเป็นกฎเหล็กของการลงทุนเลยทีเดียว ต้องมีความอดทนและตั้งใจจริง กับการลงทุนในระยะยาว ถ้าเราอยากมีเงินออมไปจนชีวิตจะหาไม่ เราก็ควรจะลงทุนจนชีวิตจะหาไม่อีกเช่นกัน บอกเลยว่าต้องสตรอง !!!!!!!!
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับสาระดีๆที่ทาง Moneyhub จัดหนักจัดเต็มกันมาเป็นซีรี่ย์ขนาดนี้ หวังว่าจะเป็นตัวช่วยที่ดีให้กับนักลงทุนมือใหม่หลายๆคนนะครับ และครั้งต่อๆไปทางทีมงานรับรองว่าจะมีบทความซีรี่ย์ดีๆ มาฝากท่านผู้อ่านกันอีกอย่างแน่นอน อดใจรอกันหน่อยนะ สุดท้ายนี้ทางทีมงานขอเป็นกำลังใจให้นักลงทุนมือใหม่ทุกคนให้ประสบความสำเร็จกันถ้วนหน้าเลย หากใครชอบบทความนี้ก็แบ่งปันให้เพื่อนๆผ่านทางโซเชียลมีเดียได้เลยครับ สวัสดีครับ