“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น” เป็นสิ่งที่เรา ๆ ต่างก็ได้ยินได้ฟังและได้รับการอบรมกันมาตั้งแต่เด็ก แต่ทำไมนะ บางครั้งกับสิ่งที่เราตั้งหน้าตั้งตาทำอย่างเต็มที่เต็มกำลังแล้วกลับเกิดคำถามขึ้นในใจว่า “นี่เราจะทุ่มเททำไปมากมายขนาดนี้เพื่ออะไรกัน” ถ้าวันนี้คำถามนั้น ๆ ยังคงวนเวียนและก้องอยู่ในหัวของคุณเช่นกัน เป็นไปได้นะคะว่าคุณยังค้นไม่พบสิ่งที่คุณรักที่จะทำจริง ๆ ค่ะ
ลองดูจากตัวอย่างคนดัง Coco Chanel ดีไซเนอร์ชื่อก้องโลกเจ้าของแบรนด์พรีเมี่ยมอย่าง Chanel ความสำเร็จของเธอคือบทพิสูจน์ของคนที่มีใจรักในสิ่งทีทำ นั่นก็คืองานออกแบบ ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้เรียนจบด้านนี้ระดับปริญญา และไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวี่มีฐานะร่ำรวยอะไร แต่เธอก็เป็นเศรษฐินีคนหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของคนสู้ชีวิต ผู้สร้างฐานะการเงินให้มั่งคั่งจากงานที่ตัวเองรักและจากการพัฒนาความสามารถของตนเองสม่ำเสมอค่ะ
หรืออีกหนึ่งตัวอย่างชั้นเทพผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมยานยนตร์ไปอย่างสิ้นเชิง จนถึงขนาดที่มีการนำชื่อของเขาคนนี้ไปตั้งเป็นยุค Fordism เลยค่ะ แน่นอนว่าเขาก็คือ Henry Ford เจ้าของแบรนด์รถยนต์ชื่อดังอย่างบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ฯ ค่ะ
ซึ่งชีวิตของฟอร์ดนั้น จริง ๆ แล้วครอบครัวของเขาประกอบอาชีพทำไร่ทำนาอยู่ที่เมือง Dearborn รัฐ Michigan ฐานะการเงินก็ไม่ได้ดีมากนัก มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน ดังนั้นเขาจึงไม่ค่อยได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดีเท่าที่ควร ความคาดหวังของพ่อก็คือการให้ฟอร์ดมาช่วยงานที่ไร่เพื่อต่อไปในอนาคตเขาจะได้มีอาชีพและเป็นเสาหลักของครอบครัว แต่มันเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับความต้องการและความใฝ่ฝันของตัวฟอร์ดเอง เพราะสิ่งที่ฟอร์ดสนใจมากเป็นพิเศษก็คือเรื่องของกลไกเครื่องยนต์ค่ะ จุดเปลี่ยนชีวิตครั้งแรกของฟอรดเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาอายุได้ 16 ปี ก็เกิดรอยขัดแย้งกับพ่อจนทำให้ฟอร์ดตัดสินใจเดินทางเข้ามาทำงานที่เมืองดีทรอยด์เพื่อทำตามความฝันและสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับตัวเองที่โรงงานซ่อมรถยนต์แห่งหนึ่ง แต่ทำงานอยู่ได้ไม่นานก็ต้องย้ายกลับบ้านเพราะพ่อของเขาล้มป่วย อย่างไรก็ดี การกลับมาทำนาครั้งนี้ของฟอร์ดนั้นไม่ธรรมดาเลยเพราะเขาได้ประดิษฐ์รถไถนาขึ้นมาใช้งานแทนวัวด้วยค่ะ เขาได้สร้างครอบครัวขึ้นที่นั่นและหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำนาแบบที่พ่อต้องการ จนกระทั่งวันที่รถไถนาของเขาเกิดปัญหาเครื่องจักรไอน้ำขัดข้อง เขาก็ได้ฉุกคิดขึ้นมาว่าเขาต้องการที่จะสร้างรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแทนที่จะใช้ไอน้ำที่ให้กำลังขับเคลื่อนต่ำกว่า และเขามองว่ารถยนต์แบบใช้น้ำมันเชื้อเพลิงนี้น่าจะนำมาใช้แทนรถม้าที่ใช้ม้าลากในสมัยนั้นได้ค่ะ เมื่อได้ปรึกษากับภรรยาและเห็นดีร่วมกัน ทั้งคู่จึงย้ายเข้ามาอยู่ที่เมืองดีทรอยด์ เมืองแห่งอุตสาหกรรมที่ ๆ มีสิ่งประดิษฐ์และเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย และเป็นที่ ๆ เขาจะได้เรียนรู้และค้นคว้างานประดิษฐ์ของตนเองค่ะ
การกลับมาหางานที่ดืทรอยด์ครั้งนี้ ฟอร์ดได้เข้าทำงานที่บริษัทเอดิสัน ในตำแหน่งเด็กฝึกงานของวิศวกรในโรงงาน ซึ่งความอัจฉริยะของฟอร์ดก็ได้ฉายแววออกมาเมื่อเขาสามารถประดิษฐ์รถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงได้หลังจากทำงานที่นี่แค่ 2 – 3 ปีเท่านั้นค่ะ และแม้ว่ารถยนต์คันแรกนี้จะวิ่งด้วยความเร็วเพียง 25 – 30 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่ก็ทำให้ฟอร์ดเลื่อนเป็นวิศวกรทันที ในเวลาต่อมาฟอร์ดได้มีโอกาสย้ายมาร่วมงานกับบริษัท ดีทรอยด์ ออโตโมบิล และที่นี่ ฟอร์ดก็ได้ประดิษฐ์รถแข่งที่มีประสิทธิภาพดีจนเข้าตานักลงทุนหลาย ๆ คน จุดเปลี่ยนที่สร้างเศรษฐีหน้าใหม่จึงเกิดขึ้น เมื่อฟอร์ดตัดสินใจเปิดบริษัทรถยนต์ฟอร์ด มอเตอร์ ขึ้นในปีพ.ศ. 2466 ผู้คนจึงให้การตอบรับและร่วมลงหุ้นกันมากมายค่ะ แม้ว่าในสมัยนั้นรถยนต์ยังเป็นเรื่องไร้สาระของคนทั่ว ๆ ไป และที่สำคัญคือราคารถยนต์ก็ค่อนข้างแพงมาก ๆ ด้วย แต่แล้วประวัติศาสตร์ยนตรกรรมก็ได้ถูกเปลี่ยนโฉมอีกครั้งเมื่อฟอร์ดเจอกับปัญหาในขั้นตอนการผลิตรถยนต์คราวละมาก ๆ เพราะยุคนั้นใช้แรงงานคนเป็นหลัก ฟอร์ดจึงได้คิดค้นสายพานเพื่อขบวนการผลิตที่รวดเร็วและสะดวกมากขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ทำให้เกิดเป็นรถยนต์รุ่นโมเดล T ออกสู่ตลาดค่ะ โฉมหน้าของรถยนต์รุ่นนี้ทำให้ตลาดรถยนต์เปลี่ยนมาเป็นอุตสาหกรรมและกลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่มากในยุคนั้น เพราะรถยนต์ของฟอร์ดมาพร้อมกับโครงสร้างที่แข็งแรง, ทนทานและดูดี แถมราคายังไม่สูงมากเกินไปอีกด้วยค่ะ ทำให้ในช่วงเวลานั้น ฟอร์ดสามารถสร้างรายได้มากถึงพันล้านเหรียญ ซึ่งหากนำค่าเงินมาเทียบกับปัจจุบันนี้ก็น่าจะกวาดรายได้ไปมากถึง 36 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยค่ะ นอกจากนั้นเขายังเหมือนเป็นผู้ที่เปลี่ยนประวัติศสตร์จากการใช้รถม้าลากมาเป็นการใช้รถยนต์เดินทางแทนด้วยค่ะ