เราจะเห็นประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นประเทศในแถบยุโรป หรืออย่างในเอเชียก็มีประเทศญี่ปุ่นกับจีนที่มีรถไฟความเร็วสูงใช้กันแล้ว รถไฟความเร็วสูงนี้มีข้อดีคือช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางระหว่างเมืองให้สั้นลง ช่วยให้ประหยัดเวลาการเดินทางได้มาก ด้วยความเร็วสูงถึงกว่า 2-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เมืองที่อยู่ไกลกันเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร สามารถเดินทางถึงกันได้โดยใช้เวลาแค่เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เทียบกับการเดินทางโดยรถยนต์ที่ต้องใช้เวลาเป็นสิบชั่วโมงหรือเป็นวันกว่าจะถึง หรือบางครั้งความห่างกันระหว่างเมืองก็ไม่ได้ไกลจนถึงที่จะต้องนั่งเครื่องบิน
อ่านเพิ่มเติม : รถไฟฟ้าความเร็วสูง ยกระดับเศรษฐกิจของไทยให้ดีขึ้นได้จริงหรือ ?
สำหรับประเทศไทยเราเรื่องรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องที่มีการพูดกันมาหลายรัฐบาลแล้ว และก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินงบประมาณในการลงทุนมหาศาล ที่เรียกว่ามหาศาลเพราะเป็นงบประมาณที่เยอะมากหลายแสนล้านบาททีเดียว ทำให้แม้ทราบกันดีถึงข้อดีของการมีรถไฟความเร็วสูงเพื่อใช้ประโยชน์ในการเดินทางเชื่อมเมือง แต่ก็อดคิดถึงความคุ้มค่าของโครงการไม่ได้ว่าการมีรถไฟความเร็วสูงไว้ใช้กับเงินงบประมาณมหาศาลที่ต้องลงทุนขนาดนี้จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เพราะเงินงบประมาณก็มาจากเงินภาษีของประชาชน ทำให้เส้นทางส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเส้นทางที่ต้องใช้เงินลงทุนมากจึงต้องหาพันธมิตรในการร่วมลงทุนด้วย สำหรับของประเทศไทยเราก็มีการร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้กับประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนเองก็ต้องการได้รับผลประโยชน์จากการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงจากไทยด้วยเช่นกัน
รัฐบาลได้มีการเดินหน้าในโครงการรถไฟความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้มีข่าวคืบหน้าออกมาเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงนี้ โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้ให้กระทรวงคมนาคมไปเร่งทำแผนรายละเอียดพื้นที่เชิงพาณิชย์แนวรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทาง โดยให้เวลา 2 สัปดาห์ ให้มีทั้งรายละเอียดในเรื่องแนวคิด เงินลงทุน ผลตอบแทนของพื้นที่สถานี รวมถึงจุดพักรถในแนวมอเตอร์เวย์ เพื่อที่จะนำแผนงานเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยได้ย้ำว่าเส้นทางที่จะสามารถเริ่มได้ก่อนก็จะเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง และมอเตอร์เวย์พัทยา- มาบตาพุด
ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้ออกมาเผยว่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ของโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง จะมีการเริ่มประมูลกันก่อนเป็นโครงการแรก เพราะเป็นเส้นทางที่จะรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เป็นเส้นทางที่เรียกได้ว่ามีความพร้อมมากที่สุด กระทรวงคมนาคมจะเสนอผลศึกษาให้กับทางคณะกรรมการ PPP อนุมัติ ภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2559 นี้ โดยสถานีของเส้นทางสายกรุงเทพ-ระยองนี้จะมีทั้งหมด 4 สถานีด้วยกัน คือ ลาดกระบัง ฉะเชิงเทรา ศรีราชาและระยอง โดยความเป็นไปได้ของการพัฒนาจะเป็นเรื่องของโรงแรม ธุรกิจ ศูนย์การค้าจะมีการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาด้วย
ประเทศเยอรมนีได้เคยมีการศึกษาถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการรถไฟความเร็วสูงที่มีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจพบว่ามีผลกับเศรษฐกิจโดยรวมในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถศึกษาถึงผลกระทบการเศรษฐกิจที่หลากหลายได้ แต่ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างเมืองที่มีศักยภาพเทียบเท่ากัน เมืองหนึ่งมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านและอีกเมืองไม่มี ใช้ระยะเวลาในการศึกษา 10-15 ปี พบว่าเมืองที่มีรถไฟวิ่งผ่านทำให้ประชากรในเมืองนั้นมีเพิ่มมากขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น มีนักเรียนนักศึกษาเพิ่มขึ้นและมีผลทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงขึ้นด้วย
ในฐานะประชาชนคนไทยเราจะได้อะไรจากโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-ระยองนี้
สิ่งแรกที่รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะให้ก็คือเรื่องของความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางที่มีมากขึ้นอย่างแน่นอน รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเข้ามาแทนที่การเดินทางด้วยรถยนต์หรือการคมนาคมขนส่งทางถนน และเนื่องจากรถไฟเป็นระบบขนส่งแบบรางก็จะถือว่ามีปลอดภัยสูงกว่า รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-ระยองจะช่วยให้การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพ ชลบุรี และระยอง สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ก็จะเป็นการส่งเสริมในเรื่องของการท่องเที่ยว เนื่องจากพื้นที่ที่เชื่อมต่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยอยู่แล้ว ก็ถือว่ายิ่งเป็นการส่งเสริมทำให้นักเที่ยวท่องมีทางเลือกในการเดินทางไปยังจุดหมายได้มากขึ้นด้วย และเมื่อความเจริญขยายตัวไปสู่เมืองใหญ่ ๆ เป็นวงกว้างมากขึ้น มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ก็จะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นด้วย ประชาชนในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดชลบุรีและระยองก็จะมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้นและเมื่อความเจริญแผ่ขยายไปเช่นนี้ ราคาที่ดินโดยรวมในพื้นที่ก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณรอบสถานีทั้ง 4 แห่ง
การขนส่งโดยรถไฟความเร็วสูงจะทำให้การบริหารต้นทุนของภาคธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง ซึ่งก็จะมีผลกับราคาของสินค้าทำให้ประชาชนได้มีสินค้าและบริการใช้ในราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้นด้วย นอกจากนั้นพื้นที่โดยรอบที่โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-ระยองผ่านไปในแต่ละสถานีก็จะมีความเจริญทางเศรษฐกิจไปโดยรอบสถานีนั้น ๆ ทำให้เกิดเป็นสังคมเมืองพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของชุมชนนั้น ๆ ได้อีกเช่นกัน
แน่นอนว่าการลงทุนในโครงการอะไรที่ใหญ่ ๆ และมีงบประมาณในการดำเนินการที่มหาศาลเช่นนี้ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีคนมาท้วงติงหรือตั้งข้อสงสัยถึงความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการ แต่สุดท้ายหากโครงการนั้นเป็นโครงการที่มีหลักการวัตถุประสงค์ในการทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศเป็นส่วนใหญ่ในระยะยาว ก็เชื่อได้ว่าสุดท้ายคำถามต่าง ๆ ก็จะทยอยมีคำตอบออกมาในตัวของมัน เหมือนกับโครงการรถไฟฟ้า BTS หรือ MRT ที่มีใช้ในกรุงเทพมหานครในปัจจุบันนั่นเอง
อ้างอิง