ในปัจจุบันการให้นมแม่ได้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เนื่องจากมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องจากทางฝั่งคุณหมอที่จะบอกคุณพ่อคุณแม่บ่อย ๆ ว่าต้องให้นมแม่อย่างต่ำ 6 เดือน เพราะกระเพาะของเด็กยังไม่พร้อมที่จะย่อยอาหาร การให้อาหารเสริมควรให้หลัง 6 เดือนเป็นต้นไป ดังนั้นในช่วง 6 เดือนแรกจึงเป็นการให้นมแม่ล้วน 100 % ข้อความเหล่านี้ได้ถูกเป่าหูเข้าไปในสมองของทุกครอบครัวที่มีลูกใหม่ ๆ สำหรับประสบการณ์ของผู้เขียนแล้วการให้นมแม่เป็นสิ่งที่ประทับใจที่สุดในชีวิต ลูกของเราได้รับนมแม่จนถึงอายุ 8 เดือน แต่ในหลาย ๆ คนก็สามารถให้ได้จนเกิน 1 ขวบไปก็มี อาจจะเป็นเพราะผู้เขียนในช่วงนั้นเลี้ยงลูกเองพอเขาเริ่มคลานเริ่มเกาะยืนต้องวิ่งไล่จับ วินัยการปั๊มนมจึงเริ่มถดถอย
การให้นมแม่ถ้าจะให้สำเร็จเคล็ดลับบ้าน ๆ ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงคือ
-
ต้องมีวินัยในการให้นม
ขอให้ยึดหลักว่าเมื่อนมออกจากตัวคุณแม่มาก ร่างกายจะสั่งให้ผลิตนมมากขึ้นไปด้วย โดยจะต้องปั๊มทุก 2-3 ชั่วโมง (หรือให้ลูกเข้าเต้าโดยจรง) สำหรับเครื่องปั๊ม มีให้เลือกหลายแบบทั้งแบบปั๊มมือ ปั๊มไฟฟ้า ขอแนะนำว่าซื้อแบบปั๊มไฟฟ้าจะดีกว่า เพราะจะได้ไม่เมื่อยมือ และถ้าไม่อยากเสียเวลา ก็ควรซื้อแบบกรวยปั๊ม 2 ข้าง แต่ถ้าใครนมไม่เยอะมากก็สามารถซื้อแบบข้างเดียวแล้วค่อย ๆ ปั๊มสลับข้างกันไปได้ ราคาเครื่องปั๊มมีราคาหลับเฉียด 10,000 – 20,000 บาท ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมกระเป๋าเงินให้พร้อม จริง ๆ แล้วมีความจำเป็นเพราะช่วง 6 เดือนแรกเราต้องให้นมแม่ และหน้าอกจะคัด ถ้าไม่สะดวกในการให้นมโดยตรงจากเต้า ก็สามารถปั๊มใส่ขวดไว้ได้ โดยใช้ผ้าคลุมให้นมอีกที หรือถ้าไปตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ จะมีห้องให้นม ก็สามารถเข้าไปปั๊มได้อย่างสะดวกสบายเพราะมีคนเข้าไปได้แค่ผู้หญิงและเด็กเท่านั้น
-
เน้นให้ลูกเข้าเต้า
เพราะเวลาที่เราให้นมลูกน้อยโดยตรงจากเต้า จะมีสารเคมีในสมองสั่งให้ผลิตน้ำนมมากขึ้น เป็นการกระตุ้นที่ดีที่สุด ควรให้ลูกงับทั้งหมดของลานนม เพื่อไม่ให้คุณแม่เจ็บ อีกอย่างการให้นมกับลูกยังเป็นการสร้างสายใยรักระหว่างลูกกับแม่อีกด้วย อาจจะเป็นช่วงเวลาก่อนนอนของลูกที่เราจะให้ลูกดูดจากเต้าโดยตรง
ประโยชน์ของนมแม่ที่เราเห็นกันชัด ๆ คือ
-
มีส่วนประกอบของสารอาหารเพียงพอสำหรับทารก
ปกตินมแม่ในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอดจะมีปริมาณ 850 มิลลิลิตรต่อวัน และในน้ำนมนั้นจะมีสารอาหารต่างๆ ตั้งแต่ โปรตีน ไขมัน คารโบไฮเดรท เกลือแร่ และวิตะมินครบถ้วนเพียงพอกับความต้องการของทารกในระยะ 4-6 เดือนแรก จะขาดหายไปบ้างก็อาจเป็นธาตุเหล็ก วิตะมินซี และวิตะมินดี น้ำนมแม่จึงมีคุณค่าทางอาหารและมีจำนวนแคลอรี่เหมาะสมกับทารกมากที่สุด ฉะนั้นการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ จะเป็นวิธีการสำคัญในการป้องกันโรคขาดอาหารในทารกได้
-
ให้ภูมิต้านทานโรคติดเชื้อ
นอกจากทารกจะได้ภูมิต้านทานโรคจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้ว ยังได้ภูมิต้านทานโรคจากน้ำนมแม่ด้วย น้ำนมที่หลั่งในระยะ 2-3 วันแรกจะมีสีค่อนข้างเหลือง เรียกกันว่า นมน้ำเหลือง (Colostrum) ซึ่งมีปริมาณไม่มากนัก วันหนึ่งจะหลั่งออกมา 10-40 มิลลิลิตร นมน้ำเหลืองนี้มีประโยชน์มาก เพราะอุดมด้วยเม็ดเลือดขาว โปรตีน วิตะมินเอ และแร่ธาตุหลายชนิดในปริมาณที่มากกว่าในระยะอื่นๆ จึงเป็นภูมิต้านทาน ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อ เช่น หวัด โปลิโอ วัณโรค หูน้ำหนวก ฯลฯ ให้กับทารกในระยะ 6 เดือนหลังคลอด และยังช่วยในการระบายท้องทำให้การขับถ่ายเป็นไปตามปรกติ ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารทำงานด้วยดี จึงไม่ควรบีบทิ้งควรจะให้ทารกดื่มน้ำนมแม่ในระยะต่อๆ มาก็มีปริมาณภูมิต้านทานที่เหมาะกับทารก ทำให้ทารกมีโรคติดเชื้อน้อย
นมน้ำเหลืองนี้จะมีอยู่ประมาณ 10 วัน ซึ่งหลังจากทารกคลอดได้ 3-4 วัน นมน้ำเหลืองจะเริ่มเปลี่ยนเป็นน้ำนม แล้วอีก 1 สัปดาห์ก็จะเปลี่ยนเป็นน้ำนมแท้จริงอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากอุจจาระของทารกที่ดื่มนมแม่มีภาวะเป็นกรด จึงขัดขวางการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ ในระบบทางเดินอาหาร เช่นเชื้อบิด เชื้อไข้รากสาด และเชื้อรา เป็นต้น มีหลักฐานเป็นที่ยืนยันได้ว่าทารกที่เลี้ยงด้วยนมอื่นที่ไม่ใช่นมแม่ จะมีเปอร์เซนต์การป่วยด้วยโรคติดเชื้อง่ายกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ถึง 2 เท่า และมีอัตราการตายด้วยโรคติดเชื้อสูงกว่าถึง 9 เท่า แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองอาจสังเกตได้ว่า แม้คนในบ้านหลายคนจะเป็นหวัด แต่ลูกจะไม่ติดเชื้อหวัด หรือถ้าเป็นก็ไม่รุนแรงอะไรนัก (อ้างอิง www.thaihealthcare.com)
-
สะดวกและสะอาด
จะให้ที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเตรียมน้ำร้อน หรือนึ่งขวดนมเหมือนการให้นมผง ไม่ต้องเตรียมการมากมากโดยเฉพาะการให้จากเต้าก็สามารถให้ได้ทันทีทั้งที่บ้านและนอกบ้าน (ถ้านอกบ้านก็หาห้องให้นมแม่หรือใส่ผ้าคลุมให้นม)
-
ประหยัดเงินคุณพ่อคุณแม่
เป็นที่รู้กันดีว่าการให้นมแม่ไม่ต้องเสียเงินซื้อ เพียงแค่ต้องมีระเบียบวินัยนมก็จะมา แต่ถ้าคุณแม่คนไหนนมน้อยอย่าได้กังวลก็เสริมนมผงไป เพราะเราได้พยายามเต็มความสามารถแล้ว อย่ากดดันตัวเอง ถ้าไม่สบายใจก็ปิดการรับสารที่แม่คนโน้นคนนี้ได้นมเยอะ ถ้าลูกเรายิ้มมีความสุขและมีสุขภาพดีก็เพียงพอแล้ว การให้นมแม่นั้นไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเป็นการให้นมผงต้องเตรียมซื้อนมค่าใช้จ่ายนมเด็กแรกเกิดกระป๋องหนึ่ง 400 กรัม กินได้ประมาณ 5 – 7 วันราคากระป๋องละ 430 บาท (ตัวอย่างยี่ห้อหนึ่ง แต่อาจจะมียี่ห้อที่ถูกกว่านี้) อย่างน้อย 1 เดือนต้องเตรียมเงินไว้ประมาณ 4,000 บาทค่านมผงสำหรับ 6 เดือนแรก และเด็กมีแนวโน้มกินเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แต่พอถึง 6 เดือนก็ลดลงได้ เพราะกินข้าวได้ 1 มื้อ พออายุ 9 เดือนก็จะกินเข้าได้เป็น 2 มื้อ และเมื่ออายุ 1 ปีก็จะกินข้าวได้ 3 มื้อและนมเป็นตัวเสริม อาจจะก่อนนอนหรือระหว่างวัน
ผู้เขียน: