เป็นหนี้เท่าไหร่ ถึงโดนยึดทรัพย์ คลายข้อสงสัย เข้าใจง่าย รู้ทันกฎหมาย
เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบกับความเครียดจากการไม่มีเงิน แต่สิ่งที่ทำให้เครียดมากกว่าคือการที่เราเป็นหนี้ ไม่ว่าจะจากบัตรเครดิต หรือสินเชื่อ เพราะแค่เงินจะกินจะใช้เรายังไม่มี ไม่ต้องพูดถึงเงินที่จะเอาไปชำระหนี้เลย และประเด็นที่ทำให้เครียดมากที่สุดก็คือ เป็นหนี้เท่าไหร่ ถึงโดนยึดทรัพย์ เพราะคงไม่มีใครอยากถูกฟ้องร้องเป็นคดีความ หรือถูกเจ้าหนี้ยึดทรัพย์อย่างแน่นอน เราเลยจะพาทุกคนไปไขข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นนี้แบบเจาะลึกกัน
เป็นหนี้เท่าไหร่ ถึงโดนยึดทรัพย์ ก่อนถึงกระบวนการนั้นต้องผ่านอะไรบ้าง
เพื่อนๆ คนไหนที่มีข้อสงสัยว่าเป็นหนี้เท่าไหร่ ถึงโดนยึดทรัพย์ เนื่องจาก ตัวเองกำลังประสบปัญหามีหนี้สินอยู่ แต่ว่าเราไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามที่ตกลงกันไว้กับเจ้าหนี้ อันดับแรกเราขอพาทุกคนไปดูกันก่อนว่าขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่จะดำเนินไปถึงการฟ้องร้อง เราต้องผ่านอะไรบ้าง เจ้าหนี้ถึงสามารถฟ้องยึดทรัพย์เราได้
- ธนาคารโทรหา ส่งข้อความ หรือส่งจดหมายทวงถามหนี้ หลังจากผ่านระยะเวลากำหนดชำระหนี้ไปไม่กี่วัน เราจะเริ่มได้รับการติดต่อจากธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ อาจมาในลักษณะการโทรศัพท์หา การส่งข้อความแจ้งเตือน หรือการส่งจดหมายทวงถามหนี้ หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ Notice เป็นการแจ้งให้เราทราบว่าเราต้องชำระหนี้ตามกฎหมาย และเป็นการบอกกล่าวทวงถามก่อนฟ้องคดีกับลูกหนี้ด้วย
- ส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามผู้ค้ำประกัน กรณีที่เรามีผู้ค้ำประกัน เจ้าหนี้อาจมีการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามผู้ค้ำประกันด้วย เป็นการแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบว่าลูกหนี้อย่างเรายังไม่ได้ชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนด และแจ้งสิทธิ์ว่าเจ้าหนี้สามารถเรียกร้องให้ทั้งลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันชำระหนี้ที่ค้างอยู่
- หนังสือรับสภาพหนี้ หากเรายังคงบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายชำระหนี้สินตามที่ควร ธนาคารอาจปล่อยคุณไปสักพัก แต่เดี๋ยวจะมีหนังสือรับสภาพหนี้ส่งมาตามที่อยู่ที่เราระบุเอาไว้ในสัญญา เป็นหนังสือที่จะให้ลูกหนี้ลงนามเพื่อยอมรับว่าตัวเองเป็นหนี้ และยังไม่ได้ชำระเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ขอกระซิบว่ามันคือหนังสือที่จะทำให้อายุความเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ของเดิมผ่านมาแล้วกี่ปีไม่นับ เริ่มต้นนับใหม่ในวันที่ลงนามหนังสือตัวนี้
- หนังสือรับสภาพความผิด ในกรณีที่เจ้าหนี้อาจจะปล่อยหนี้ยาวจนหมดอายุความแล้ว แต่อยากจะฟ้องร้อง เจ้าหนี้ก็สามารถทำได้ หากมีการส่งหนังสือรับสภาพความผิดให้ลูกหนี้ และลูกหนี้ลงนามรับสภาพความผิด
เปิดยอดหนี้สินตามข้อกฎหมาย ที่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องเอาความได้
ใครบอกว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตแค่ 1,000 ถึง 2,000 บาทไม่โดนฟ้องหรอก บอกเลยว่าผิดมหันต์ เพราะคดีความเกี่ยวกับหนี้สินจะมีการนับอายุความนับตั้งแต่วันแรกที่เรามีการพิมพ์นัดชำระหนี้เลย และขอแค่มีจำนวนเงินเป็นหนี้ขั้นต่ำเพียงแค่ 2,000 บาท เจ้าหนี้ก็สามารถส่งฟ้องเพื่อขอหมายศาลได้แล้ว เท่ากับว่าหากเรามีหนี้บัตรเครดิตอยู่ 2,000 บาท และเราไม่ได้ชำระคืนภายในวันที่กำหนด จะเลยไปเพียงแค่วันเดียว เจ้าหนี้ก็สามารถส่งฟ้องศาลได้ คดีเหล่านี้ถือเป็นคดีแพ่ง มีอายุความ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่เราผิดนัดชำระหนี้
เปิดรายชื่อทรัพย์สินที่เจ้าหนี้สามารถฟ้องยึดทรัพย์ได้ หากเราไม่ใช้หนี้
สำหรับใครที่ถูกฟ้องร้อง และแพ้คดีเรียบร้อยแล้ว ศาลมีการตัดสินให้เราชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ แต่เราไม่มีเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินสด เงินในธนาคาร เหลือเพียงแค่ทรัพย์สินติดตัวเท่านั้น กระบวนการก็จะถูกส่งต่อไปยังกรมบังคับคดี กรมบังคับคดีมีหน้าที่สืบทรัพย์
เจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ทรัพย์สินเหล่านี้สามารถนำเอาไปขายทอดตลาดเพื่อหาเงินมาคืนเจ้าหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่มีอะไรการันตีว่าสินทรัพย์ของเราจะขายได้ในราคาที่เท่าไหร่ เพราะปกติแล้วกรมบังคับคดีก็จะขายทรัพย์สินเหล่านี้ในรูปแบบการประมูล บอกเลยว่าปกติแล้วราคามันจะต่ำกว่าราคาตลาดอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังสืบรวมไปถึงรายได้ของเราด้วย แต่กระบวนการยุติธรรมก็ยังคงเป็นธรรมเสมอ เพราะมีทั้งสิ่งที่สามารถถูกยึดทรัพย์ได้ และสิ่งที่ได้รับการยกเว้นในการยึดทรัพย์ ดังนี้
สิ่งที่ได้รับการยกเว้นในการยึดทรัพย์
- ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน ของที่มีความจำเป็นในการใช้ชีวิต มูลค่า 50,000 บาทแรก ไม่สามารถยึดได้ เขาเป็นสินทรัพย์ที่มีความจำเป็นในการใช้ชีวิตจริงๆ อย่างเช่น เก้าอี้ เครื่องครัว โต๊ะกินข้าว จานชาม ช้อนส้อม รวมถึงโทรทัศน์ด้วย
- สินทรัพย์ที่ใช้ในการทำมาหากิน หักของเหล่านี้มูลค่ารวมกันไม่เกิน 100,000 บาท เจ้าหนี้จะไม่สามารถยึดทรัพย์ได้ เพราะมันเป็นเครื่องมือที่ลูกหนี้จะต้องใช้ในการประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเอง อย่างเช่น รถพ่วง หม้อก๋วยเตี๋ยว เครื่องมือช่าง คอมพิวเตอร์ เครื่องสแกนเอกสาร เครื่องถ่ายเอกสาร รถสามล้อ ในกรณีที่เครื่องมือประกอบอาชีพรวมกันแล้วมูลค่ามากกว่า 100,000 บาท หากเราจำเป็นต้องใช้ก็สามารถร้องขอต่อศาลได้เหมือนกัน
- เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ใครที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สินทรัพย์เหล่านี้เจ้าหนี้จะไม่สามารถหยุดได้ เรายังคงสามารถสะสมเงินสำหรับเอาไปใช้จ่ายหลังเกษียณได้เหมือนเดิม
- สินทรัพย์ที่ถูกเจ้าหนี้รายอื่นยึดไปแล้ว กรณีที่เรามีเจ้าหนี้หลายคน ถูกฟ้องในเวลาไล่เลี่ยกัน เจ้าหนี้จะต้องเป็นคนไปจัดการกันเองว่าใครจะยึดอะไร เพราะของที่ถูกเจ้าหนี้รายหนึ่งยึดไปแล้ว เจ้าหนี้อีกรายหนึ่งจะไม่สามารถมายึดซ้ำได้ ใครมาก่อนก็ได้ก่อน
สิ่งที่สามารถถูกยึดทรัพย์ได้
- หลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่เราเห็นคนโดนยึดบ้าน ยึดรถ ส่วนใหญ่แล้วเกิดมาจากการที่เราขอสินเชื่อด้วยการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน อย่างสินเชื่อบ้านแลกเงิน สินเชื่อรถแลกเงิน สินเชื่อเหล่านี้ถ้าเราถูกฟ้อง สิ่งแรกที่จะโดนยึดก่อนเลยก็คือสินทรัพย์ที่เราเอาไปค้ำประกันเอาไว้ แต่ก็มีบางกรณีเหมือนกันที่เป็นหนี้บัตรเครดิต แต่โดนยึดบ้าน ขึ้นอยู่กับว่าหนี้สินของเราปริมาณมากแค่ไหน ถ้ามากถึงขั้นที่ต้องเอาบ้านไปขาย เราก็อาจโดนยึดบ้านได้เหมือนกัน
- รายได้ ในกรณีเงินเดือนจะสามารถอายัดได้ไม่เกิน 30% เพื่อใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้ในแต่ละเดือนไป คำนวณจากเงินเดือนก่อนนำเอาไปหักค่าใช้จ่ายอื่น แต่เงื่อนไขก็คือลูกหนี้ต้องมีเงินเดือนเกินกว่า 10,000 บาทขึ้นไปเท่านั้น นอกจากนี้หลังอายัดแล้ว ดูมีหยังต้องมีเงินสำหรับใช้จ่ายตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไปด้วย และยังมีส่วนอื่นๆ ที่สามารถยึดได้ ดังนี้
- โบนัส 50%
- เงินตอบแทนสำหรับการออกจากงาน 100%
- ค่าคอมมิชชั่น 30%
สรุปแล้ว เป็นหนี้เท่าไหร่ ถึงโดนยึดทรัพย์ คำตอบก็คือเมื่อเป็นหนี้ตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป และนับเวลาตั้งแต่วันแรกที่เราผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารจะเริ่มต้นจากการโทรมาเตือน ส่งหนังสือมาให้ หากทวงทุกวิถีทางแล้วแต่ลูกหนี้อย่างเราก็ยังไม่ใช้หนี้ ไม่ติดต่อธนาคารเพื่อหาทางออกร่วมกัน ธนาคารจึงจะตัดสินใจฟ้อง เพราะฉะนั้น หากคุณไม่มีเงินชำระหนี้ และไม่อยากถูกยึดทรัพย์ มีคดีความติดตัว เราขอแนะนำว่าให้ไปพูดคุยกับเจ้าหนี้อย่างตรงไปตรงมาเพื่อหาทางออกร่วมกันก่อนที่เรื่องจะบานปลายดีกว่า เพราะธนาคารเองก็มีมาตรการมากมายในการช่วยเหลือลูกหนี้เหมือนกัน