เงินเดือน 15000 เสียภาษีเท่าไหร่ เปิดคู่มือเสียภาษีสำหรับมือใหม่
เรื่องภาษียังคงเป็นคำถามสุดฮิตของมนุษย์เงินเดือนอยู่เสมอ ว่าเงินเดือนของเราต้องเสียภาษีไหม หรือเงินเดือน 15000 เสียภาษีเท่าไหร่ ความจริงแล้วเราไม่สามารถบอกได้ว่าเงินเดือนแต่ละช่วง ต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเท่าไหร่อย่างตรงไปตรงมา เพราะแต่ละคนก็มีรายได้ที่แตกต่างกัน แถมบางคนก็มีรายได้หลายทางอีกต่างหาก การจะคำนวณว่าเราต้องเสียภาษีสักเท่าไหร่จึงจะดูแค่เงินเดือนอย่างเดียวไม่ได้
เงินเดือน 15000 เสียภาษีเท่าไหร่
สำหรับสูตรการคำนวณภาษีแบบง่าย ๆ คือการนำเอาเงินได้พึงประเมินตลอดทั้งปี ลบกับค่าใช้จ่าย ลบค่าลดหย่อน จากนั้นก็จะกลายเป็นรายได้สุทธิ ให้เรานำเอารายได้สุทธิมาตรวจเปรียบเทียบบนตารางว่าเราต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเท่าไหร่ หากเรามีรายได้มากกว่า 1 ทาง เราก็ต้องเอารายได้ทั้งหมดมาคำนวณ และมันจะน่าปวดหัวขึ้นไปอีก เพราะรายได้แต่ละประเภทก็สามารถหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกันออกไปด้วย
เพื่อความเข้าใจง่าย เราขออธิบายแบบรวบรัดว่าเงินได้พึงประเมิน คือรายได้ หรือเงินได้ที่เราต้องนำเอามาคำนวณสำหรับการเสียภาษี สามารถแบ่งออกได้เป็น 8 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
- เงินได้จากการจ้างแรงงาน อย่างเช่น เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ค่าจ้าง โบนัส บําเหน็จ บำนาญ ค่าเช่าบ้านที่รับจากนายจ้าง
- เงินได้จากตำแหน่งหรือหน้าที่ อย่างเช่น ค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม ค่าส่วนลด เบี้ยประชุม โบนัส
- ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าลิขสิทธิ์ ค่าสิทธิ รายได้จากพินัยกรรม นิติกรรม หรือคำพิพากษา
- ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร เงินเพิ่มทุน เงินลดทุน ผลประโยชน์จากการโอนหุ้น
- เงินได้จากการให้เช่า อย่างเช่น ให้เช่าทรัพย์สิน รายได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน รายได้จากการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
- เงินที่ได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ อย่างเช่น การบัญชี กฎหมาย การประกอบโรคศิลป์ สถาปัตยกรรม วิศวกรรม
- เงินได้จากการรับเหมา โดยผู้รับเหมาจะต้องเป็นผู้ลงทุนจัดหาสัมภาระนอกเหนือจากเครื่องมือ
- เงินจากธุรกิจ การเกษตร การพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การขายอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง และอื่น ๆ
เมื่อเรารู้แล้วว่ารายได้ของเราแต่ละก้อนในช่วงปีนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทไหนบ้าง จากนั้นก็ให้ไปทำการตรวจสอบว่าเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภท สามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากน้อยแค่ไหน หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การลดหย่อนภาษี ซึ่งมีหลากหลายหมวดหมู่ด้วยกันที่เราจะกล่าวอีกทีในตอนท้าย หลังจากที่นำเอารายได้ทั้งหมดหักกับค่าใช้จ่าย และลดหย่อนภาษีแล้ว ก็จะกลายเป็นรายได้สุทธิ
วิธีคำนวณภาษีสำหรับมือใหม่
มนุษย์เงินเดือนคนไหนที่มีเงินได้พึงประเมินเฉพาะประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 เราได้ทำตารางเพื่อให้ทุกคนตรวจสอบง่ายขึ้นว่าเงินเดือนเท่าไหร่ ต้องเสียภาษีแค่ไหน โดยคำนวณรายได้สุทธิจากการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินเฉพาะประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 50% ไม่เกิน 100,000 บาท และหักลดหย่อนส่วนตัวอีก 60,000 บาท จากนั้นนำเอามาคำนวณตามอัตราภาษีเป็นขั้นบันได จะได้ออกมาเป็นตาราง ดังนี้
รายได้สุทธิ | อัตราภาษี |
ไม่เกิน 150,000 บาท | ได้รับการยกเว้นภาษี |
150,001 บาท – 300,000 บาท | 5% |
300,001บาท – 500,000 บาท | 10% |
500,001 บาท – 750,000 บาท | 15% |
750,001 บาท – 1,000,000 บาท | 20% |
1,000,001บาท – 2,000,000 บาท | 25% |
2,000,001 บาท – 5,000,000 บาท | 30% |
ตั้งแต่ 5,000,001 บาท ขึ้นไป | 35% |
สำหรับใครที่อาจยังเห็นภาพไม่ชัด เราขอแนะนำสูตรง่าย ๆ สามารถนำเอาตัวเลขมาแทนค่าตามขั้นตอนได้เลย ดังนี้
- รายได้ทั้งหมดต่อปี – ค่าใช้จ่ายตามประเภทเงินได้พึงประเมิน – ค่าลดหย่อน = รายได้สุทธิ
- รายได้สุทธิ X อัตราภาษีตามขั้นบันได = ภาษีที่ต้องจ่าย
- รายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท เสียภาษี 0 บาท เนื่องจากได้รับการยกเว้นภาษี
- ภาษีรายได้สุทธิตั้งแต่ 150,001 บาท แต่ไม่เกิน 300,000 บาท = [(เงินได้สุทธิ – 150,000) x 0.05] + 0
- ภาษีรายได้สุทธิตั้งแต่ 300,001 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท = [ (เงินได้สุทธิ – 300,000) x 0.1 ] + 7,500
- ภาษีรายได้สุทธิตั้งแต่ 500,001 บาท แต่ไม่เกิน 750,000 บาท =[ (เงินได้สุทธิ – 500,000) x 0.15 ] + 27,500
- ภาษีรายได้สุทธิตั้งแต่ 750,001 บาท แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท = [ (เงินได้สุทธิ – 750,000) x 0.2 ] + 65,000
- ภาษีรายได้สุทธิตั้งแต่ 1,000,001 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท = [ (เงินได้สุทธิ – 1,000,000) x 0.25 ] + 115,000
- ภาษีรายได้สุทธิตั้งแต่ 2,000,001 บาท แต่ไม่เกิน 5,000,000 บาท =[ (เงินได้สุทธิ – 2,000,000) x 0.3 ] + 365,000
- รายได้สุทธิตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป = [ (เงินได้สุทธิ – 5,000,000) x 0.35 ] + 1,265,000
เกณฑ์การลดหย่อนภาษี
จากตารางทั้งหมดที่เรากล่าวมา เท่ากับว่าเงินเดือนประมาณ 30,000 บาทก็ต้องเริ่มเสียภาษีบุคคลธรรมดากันแล้ว สำหรับใครที่เห็นตัวเลขภาษีที่ต้องจ่ายแล้วใจหายวับ ไม่ต้องกังวลไป เพราะอย่างที่เราบอกว่าตัวอย่างตารางข้างบนนั้น เป็นการนำเอารายได้สุทธิเฉพาะเงินเดือน หักกับค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 และ 2 เท่านั้น แถมยังหักเฉพาะค่าลดหย่อนส่วนตัวอีกต่างหาก แต่ในความเป็นจริงแล้วมันยังมีค่าลดหย่อนอีกมากมายที่ช่วยให้ฐานรายได้สุทธิของเราลดลงกว่าเดิม สำหรับใครที่อยากลดหย่อนภาษี เราจะพาทุกคนมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่สามารถหักได้
ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
เป็นค่าลดหย่อนที่เราสามารถหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้แน่ ๆ 60,000 บาท สำหรับครอบครัวจะสามารถลดหย่อนได้ในกรณีที่มีบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ พ่อแม่ที่ไม่มีรายได้ ค่าฝากครรภ์ และค่าทำคลอด
ค่าลดหย่อนประกันและการลงทุน
- ประกันชีวิต สามารถนำเอาประกันที่มีกรมธรรม์ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง จำนวนเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- SSF สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% จากเงินได้ตามจ่ายจริง เป็นจำนวนเงินไม่เกินกว่า 200,000 บาท
- กองทุน RMF สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% จากเงินได้ตามจ่ายจริง เป็นจำนวนเงินไม่เกินกว่า 500,000 บาท
ค่าลดหย่อนเงินบริจาค
- การบริจาคเงินทั่วไป สามารถนำเอามาลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริง ไม่เกิน 10% จากรายได้หลังจากหักค่าลดหย่อนแล้ว
- การบริจาคเพื่อภาครัฐ การศึกษา หรือโรงพยาบาล สามารถนำเอามาลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่าจากเงินที่บริจาค ไม่เกิน 10% จากรายได้หลังจากหักค่าลดหย่อนแล้ว
สรุปแล้วเงินเดือน 15000 เสียภาษีเท่าไหร่ คำตอบก็คือ หากมีเฉพาะเงินเดือน 15,000 บาทเป็นรายได้ตลอดทั้งปีเท่านั้น เมื่อคำนวณรายได้สุทธิออกมาจะยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด แต่สำหรับคนที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป ถึงจะหักค่าใช้จ่าย และลดหย่อนส่วนตัวแล้ว ก็ยังคงถึงเกณฑ์ที่ต้องชำระภาษีอยู่ดี ดังนั้น เราจึงต้องวางแผนภาษีให้ดี โดยเฉพาะค่าลดหย่อนภาษี เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถประหยัดภาษีได้มากขึ้นกว่าเดิมไม่น้อยเลยทีเดียว