ประกันสังคม ว่างงาน ได้กี่บาท อัปเดตสิทธิที่คุณจะได้รับหากตกงาน
ใครที่มีตกอยู่ในสถานะคนว่างงาน รู้หรือไม่ว่าสามารถยื่นขอความช่วยเหลือจากประกันสังคมได้ หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่จ่ายเงินสมทบให้กับประกันสังคมทุกเดือนตามมาตรา หรือเงื่อนไขที่กำหนดซึ่งถ้าหากยังไม่รู้ หรือไม่ทราบรายละเอียดวันนี้เราจะพารู้จักกับขั้นตอนการลงทะเบียนว่างงาน ใครบ้างที่ได้รับสิทธิ พร้อมไขข้อข้องใจ ประกันสังคม ว่างงาน ได้ชดเชยกี่บาท อัปเดตสิทธิที่คุณจะได้รับหากตกงาน ไปเช็กกันเลย
ว่างงาน/ตกงาน แจ้งประกันสังคมยังไง?
ในช่วงที่ผ่านมาที่บริษัทห้างร้านทั้งหลายนั้นเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และยังคงได้รับผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน มีหลายบริษัทเลยทีเดียวที่ออกโครงการลาออกโดยสมัครใจ ลูกจ้างที่ลาออกจะได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง และหากเราเป็นผู้ประกันตนที่มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เรายังจะได้รับเงินชดเชยจากการว่างงานรวมไปถึงสิทธิประโยชน์อื่นอีกด้วย โดยรายละเอียด มีดังนี้
สิทธิประโยชน์ และหลักเกณฑ์จากประกันสังคมกรณีว่างงาน
สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหาว่างานสามารถยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์ชดเชยจากทางประกันสังคมได้ โดยหลักเกณฑ์ก็คือเราจะต้องเป็นผู้ประกันตนที่มีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือนในระยะเวลาก่อนการว่างงานทั้งหมด 15 เดือน สาเหตุจากการลาออก ถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาตามกำหนดระยะเวลา โดยที่ลูกจ้างไม่มีการกระทำความผิดตามกฎหมาย
สิ่งที่ลูกจ้างต้องทำหลังจากที่ว่างงานเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็คือ การขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานโดยไปยังสำนักงานจัดหางานของทางภาครัฐภายในระยะเวลา 30 วันนับตั้งแต่ที่ว่างงานโดยไม่จำเป็นต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงานของทางบริษัทแต่อย่างใด เพื่อเป็นการแสดงสิทธิเบื้องต้น และปฏิบัติตามเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคม
โดยเงื่อนไขก็คือเราจะต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมทำงานที่จัดหามาให้ตามเหมาะสม มีการรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักจัดหางานอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถใช้สิทธิ์ขอรับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคมได้แล้ว
ประกันสังคม ว่างงาน ได้กี่บาท?
- กรณีถูกเลิกจ้าง
หากคุณถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนจากประกันสังคมระหว่างการว่างงานไม่เกิน 180 วันต่อปี โดยจะได้รับเงิน 50% จากค่าจ้างเฉลี่ย คำนวณมาจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำจำนวนเดือนละ 1,650 บาทกับฐานเงินสมทบสูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 15,000 บาท เช่น หากเรามีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 15,000 บาท ก็จะได้รับเงินชดเชยเป็นจำนวนเดือนละ 7,500 บาท
- กรณีลาออกหรือสัญญาจ้างสิ้นสุดลง
ตามระยะเวลาที่กำหนด ในกรณีดังกล่าวนั้นเราจะได้นับเงินทดแทนในระยะเวลาที่ว่างงานจำนวน 90 วันต่อปี จำนวนเงินที่จะได้รับนั้นอยู่ที่ 30% จากค่าจ้างเฉลี่ย นำเอาฐานเงินสมทบขั้นต่ำอยู่ที่เดือนละ 1,650 บาทกับฐานเงินสมทบสูงสุดจำนวนไม่เกินเดือนละ 15,000 บาทมาเป็นตัวคำนวณ อย่างเช่นหากคุณมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 15,000 บาท ก็จะได้รับเงินชดเชยอยู่ที่เดือนละ 4,500 บาท
สิทธิประโยชน์อื่น ๆ ประกันสังคม
ในกรณีที่เรานั้นสิ้นสุดจากการเป็นผู้ประกันตนในกรณีลาออก เราจะสามารถใช้สิทธิ์ของประกันสังคมต่อไปได้อีกถึง 6 เดือนเลยทีเดียวโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในกรณีที่มีการเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ ได้รับอันตราย คลอดบุตร ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต เราสามารถขอประโยชน์ทดแทนได้ทุกกรณีโดยจะต้องยื่นเรื่องรับเงินชดเชยในระยะเวลา 1 ปี
ในกรณีที่เราว่างงานเราจะต้องมีการขึ้นทะเบียนกับทางสำนักจัดหางานภายใน 30 วันหลังจากลาออกหรือถูกเลิกจ้าง หากเราไม่มีการยื่นสิทธิ์ภายใน 30 วันก็จะไม่ได้รับสิทธิ์ย้อนหลังแต่อย่างใด และหากยื่นขอสิทธิ์เกินวันที่กำหนดก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ชดเชยกรณีว่างงานอีกด้วย ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือเราจะต้องรีบแจ้งกับทางสำนักจัดหางานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ให้กับตนเอง
เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอรับประโยชน์ชดเชยจากประกันสังคมเมื่อว่างงาน
- บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนา
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน
- รูปถ่ายไม่เกิน 6 เดือน ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป
- หนังสือรับรองการออกจากงาน สำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนอย่างใดอย่างหนึ่ง หากไม่มีตัวสำเนาแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนก็ยังคงสามารถขึ้นทะเบียนว่างงานได้อยู่
- คำสั่งหรือหนังสือให้ออกจากงานของนายจ้างหากมี
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารออมทรัพย์หน้าแรกที่มีระบุชื่อรวมไปถึงเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน โดยรับทั้งหมด 11 ธนาคารประกอบไปด้วยธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารธนชา ธนาคารทหารไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคาร CIMB ไทย ธนาคารออมสิน แล้วธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
กรณียกเว้นที่ลูกจ้างไม่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากประกันสังคม
ทางสำนักงานประกันสังคมไม่ได้มอบสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานให้กับผู้ประกันตนทุกกรณีแต่อย่างใด มีบางกรณีเช่นเดียวกันที่เป็นข้อยกเว้นซึ่งผู้ประกันตนหรือลูกจ้างไม่สามารถเข้าขอรับสิทธิประโยชน์อันมีเหตุมาจากการว่างงานได้ ซึ่งประกอบไปด้วย
- จงใจก่อความเสียหายให้กับนายจ้าง
- มีการประพฤติทุจริตต่อหน้าที่ความรับผิดชอบหรือมีการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาให้กับนายจ้าง
- ละทิ้งหน้าที่เป็นระยะเวลา 7 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีสาเหตุอันควร
- ฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับในการทำงาน หรือฝ่าฝืนคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีที่มีความร้ายแรง
- ประมาทเลินเล่อจนกลายเป็นเหตุให้ผู้จ้างได้รับความเสียหายรุนแรง
- ได้รับโทษให้จำคุกตามคำพิพากษาของศาล
- ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามสมัครใจในมาตรา 39
- เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพและมีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 8 จากวันว่างงานในการทำงานกับนายจ้างคนสุดท้าย
คงพอได้คำตอบแล้วว่า หากว่างงาน หรือตกงาน ประกันสังคมจะจ่ายชดเชยให้ยังไงบ้าง ในกรณีที่เรานั้นมีการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ชดเชยกับทางประกันสังคมในระยะเวลาที่กำหนด ที่สำคัญจะต้องยื่นลงทะเบียนว่างงานกับสำนักงานจัดหางานภายในระยะเวลา 30 วันนับตั้งแต่ที่ว่างงาน หลังจากนั้นติดต่อกับทางประกันสังคมเพื่อยื่นหลักฐานขอรับประโยชน์ทดแทน เพียงเท่านี้เราก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน สำหรับกรณีเลิกจ้างเราจะได้รับเงินทดแทนจำนวนปีละไม่เกิน 180 วันหรือประมาณ 6 เดือน หากเป็นกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจะได้รับเงินทดแทนจำนวนปีละไม่เกิน 90 วันหรือประมาณ 3 เดือน