ดอกเบี้ย เงินกู้ vs เงินฝาก ต่างกันยังไง เตรียมกู้เงินต้องรู้
ในยุคนี้ มีการทำธุรกรรมการเงินหลายแบบทั้งการลงทุน เพื่อหาผลตอบแทน กันฝากเงิน เพื่อพักเงิน และรับดอกเบี้ย ไปจนถึงการกู้เงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งเรามักจะได้ยินคำว่าดอกเบี้ย ติดมากับรูปแบบธุรกรรมเหล่านี้เสมอ แต่ดอกเบี้ยแต่ละแบบก็มีความหมายไม่เหมือนกัน และวิธีการคำนวณแตกต่างกันอีกด้วย ซึ่งหลาย ๆ คน อาจยังสับสน และไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ในบทความนี้เราจะพาทุกคนมา รู้จักกับ ดอกเบี้ย เงินกู้ vs เงินฝาก ต่างกันยังไง แต่ละแบบคำนวณยังไง เพื่อเป็นแนวทางในการคำนวณการฝากเงิน หรือใครที่เตรียมที่จะกู้เงิน ต้องรู้
ดอกเบี้ย เงินกู้ vs เงินฝาก ต่างกันยังไง แต่ละแบบคำนวณยังไง
ดอกเบี้ยเงินฝาก คืออะไร
ดอกเบี้ยเงินฝาก คือ ผลตอบแทนการออมเงินผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งเป็นวิธียอดนิยมในการวางแผนทางการเงินของคนไทยที่หลายคนอาจจะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ๆ ด้วยข้อดีที่ไม่สูญเสียเงินต้นและได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนในแต่ละปี โดยทั่วไปดอกเบี้ยเงินฝากจะอยู่ที่ 1.5 – 6% ต่อปี ซึ่งมีทั้งจ่ายครั้งเดียว หรือสองครั้งต่อปีขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารที่ถึงแม้อาจจะได้ผลตอบแทนไม่เยอะมาก แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะสูญเสียเงินต้นไป
ตัวอย่าง: การคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากประจำ
นาย A เริ่มต้นฝากเงินเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาทกับธนาคารทิสโก้แบบฝากประจำ 12 เดือน ดอกเบี้ย 2 งวด งวดละ 1.7% ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 31 ธ.ค. 2566 ที่จะสามารถคำนวณดอกเบี้ยที่จะได้รับด้วยสูตรดังนี้
ดอกเบี้ยในงวดนั้น = (เงินต้น x อัตราดอกเบี้ย x จำนวนวันในงวดนั้น) / จำนวนวันทั้งปี
- ดอกเบี้ยงวด 6 เดือนแรก = (30,000 x 1.7% x 181) / 365 = 252.90 บาท
- ดอกเบี้ยงวด 6 เดือนหลัง = (30,214.96 x 1.7% x 184) / 365 = 259.26 บาท
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 – วันที่ครบกำหนด 31 ธ.ค. 2566 ดอกเบี้ยที่นาย A จะได้รับ
ทั้งหมด คือ 252.90 + 259.26 = 512.16 บาท
ดอกเบี้ยเงินกู้ คืออะไร
ดอกเบี้ยเงินกู้ คือ เงินที่ต้องชำระให้ผู้กู้ หรือสถาบันการเงินจากการกู้ ซึ่งปกติจะคิดเป็นหน่วยร้อยละ (%) ของเงินต้น มาเริ่มต้นกันที่การทำความรู้จัก 2 รูปแบบดอกเบี้ยเงินกู้กันก่อน
1.ดอกเบี้ยแบบคงที่
สำหรับอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่จะเป็นการที่ธนาคาร หรือสินเชื่อผู้ให้บริการคิดดอกเบี้ยมาพร้อมเงินต้นอย่างเสร็จสรรพก่อนเริ่มเซ็นสัญญาและจะนำมาหารเฉลี่ยในค่างวดแต่ละเดือน มักใช้ในสินเชื่อรถยนต์ เพราะดอกเบี้ยถูกคำนวณให้ต้องจ่ายเฉลี่ยออกมาเป็นการชำระรายงวด ทำให้การนำเงินก้อนมาชำระเต็มจึงอาจไม่เกิดผลเรื่องดอกเบี้ยลดลง เพียงแต่ทำให้หนี้สินหมดเร็วขึ้น
2.ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
ส่วนอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกจะเป็นการที่ธนาคาร หรือสินเชื่อจะลดลงตามการผ่อนชำระค่างวดแต่ละครั้งซึ่งจะมีการคิดค่างวดที่แตกต่างออกไปตามจำนวนเงินต้นที่เหลืออยู่นั่นเอง มักใช้ในสินเชื่อส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต โดยการชำระแบบโปะ จะช่วยลดทั้งเงินต้น และลดดอกเบี้ยของจำนวนเงินที่เหลือค้างไว้
ตัวอย่าง: การคำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
นาย A ได้กู้เงินมาจากธนาคารจำนวน 20,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ย 24% ต่อปี ซึ่งจะกำหนดระยะเวลาการผ่อนไว้ที่ 12 เดือน
ดอกเบี้ยในแต่ละงวด = (จำนวนเงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ย) / 365 x 31 (31= คิดอัตราดอกเบี้ยเป็นรายวัน)
วิธีคิด (20,000 x 24%) / (365 x 31) = 1,893 บาท
แบ่งออกเป็นดอกเบี้ย 408 บาท และเงินต้น 1,485 บาท ซึ่งแทนค่าด้วยสูตรคำนวณเดียวกัน แต่เปลี่ยนเฉพาะจำนวนเงินต้นคงเหลือ
โดยหมายความว่าหลังจากจ่ายงวดแรกไปแล้วจะเหลือเงินต้นเป็นจำนวน 18,515 บาท แม้เดือนถัดไปจะจ่ายค่างวดเป็นจำนวน 1,893 บาทเท่าเดิม แต่เงินจำนวนนี้จะถูกแบ่งเป็นเงินต้น 1,528 บาท และดอกเบี้ย 365 บาท (คิดดอกเบี้ยรายวัน) เนื่องจากเงินต้นในงวดแรกได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยถูกลดลงไปอีกนั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงพอจะเห็นภาพเราว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ vs เงินฝาก ต่างกันยังไง แต่ละแบบคำนวณยังไง ใครที่สนใจจะฝากเงินหรือกำลังจะกู้สินเชื่อ ก็สามารถนำวิธีคิดนี้ไปเป็นไอเดียในการเปรียบเทียบ สถาบันการเงินก่อนก็ได้ หรือนำไปคำนวณให้ดีก่อนว่าธุรกรรมที่เรากำลังจะทำนั้นคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไร