ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเกิดการทดแทนได้ตลอดเวลา แม้แต่มนุษย์เงินเดือนซึ่งต่อจากนี้อาจจะไม่สามารถมั่นใจได้อีกแล้วว่าบริษัทจะจ้างจนถึงวันเกษียณอายุ สิ่งที่เราควรทำคือวางแผนทางการเงินให้ดี ทำให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย มีเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน มีเงินเพียงพอสำหรับเป้าหมายต่างๆ ของเรา และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับเรา
บทความนี้ผู้เขียนได้รวบรวมวิธีการที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงิน เพื่อให้เราไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้มากเกินไป และสามารถนำเวลาไปคิดสร้างสรรค์เรื่องอื่นๆ ได้
-
ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และบริหารเงินให้เป็นบวก
การบันทึกว่าแต่ละเดือนเรามีรายได้เข้ามาเท่าไร และจ่ายออกไปเท่าไร จะทำให้เรารู้สถานะทางการเงินของตัวเอง ความมั่นคงทางการเงินเกิดจากการที่เรามีรายได้มากกว่ารายจ่าย หากรายจ่ายของเราสูง ให้พิจารณาตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก
-
สำรองเงินเผื่อยามฉุกเฉิน
เราต้องมีเงินเผื่อไว้สำหรับยามฉุกเฉิน เช่น ตกงาน เข้าโรงพยาบาล ซ่อมรถ หรือเหตุอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้เงินกะทันหัน โดยปกติแล้ว ควรมีเงินสำรองไว้เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3-6 เดือน หากเราเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เสริมด้วยอาจจะเตรียมเงินเผื่อไว้อย่างน้อย 3 เดือน หากมีรายได้เพียงทางเดียว ไม่มีรายได้เสริม ควรเก็บเงินไว้ให้พอค่าใช้จ่าย 6 เดือน แต่หากเรามีรายได้ไม่แน่นอน หรืออยู่ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี หางานลำบาก อาจจะเก็บเงินสำรองมากกว่านี้ เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินนี้ควรเก็บไว้ในบัญชีหรือกองทุนที่ถอนออกมาใช้ได้สะดวก เน้นรักษาเงินต้นมากกว่าทำผลตอบแทนที่สูง
-
วางแผนทางการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะยาว
เป้าหมายทางการเงินที่ทุกคนต้องมีคือเป้าหมายการเกษียณ และบริหารเงินเพื่อให้มีเงินใช้เพียงพอในวัยเกษียณจวบจนสิ้นลมหายใจ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เช่น เงินเพื่อการศึกษาบุตร หรือเงินเพื่อซื้อบ้าน เราควรให้ความสำคัญกับเป้าหมายระยะยาวเหล่านี้ โดยเมื่อมีรายได้หรือเงินเดือนเข้ามา ให้หักเงินไว้ส่วนหนึ่งสำหรับเป้าหมายเหล่านี้ ก่อนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น
-
บริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกัน
อะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้เราจะมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้แล้ว แต่บางทีอาจจะไม่พอ เราจึงควรทำประกันไว้บ้าง เช่น ประกันชีวิต สุขภาพ บ้าน และรถ โดยให้เลือกทำอย่างเหมาะสม เพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
-
ติดตามและปรับแผนตามสถานการณ์ส่วนตัวที่เปลี่ยนไป
เมื่อเรามีแผนทางการเงินแล้ว อย่าลืมที่จะติดตามและปรับแผนเมื่อเวลาผ่านไป เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายของเราได้ เช่น หากเราทำตามแผนไม่ได้เพราะใช้จ่ายมากเกินไป ต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงอีก หรือหากสถานการณ์ของเราเปลี่ยน เช่น มีลูกเพิ่มขึ้นมาอีกคน เราต้องปรับแผนทางการเงินของเราใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความจำเป็น
-
พัฒนาตัวเองและหารายได้เสริม
สำหรับผู้ที่มีรายได้ทางเดียว อาจจะพิจารณาหารายได้เสริมในเวลาว่างหรือให้เงินช่วยทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดรายได้ นอกจากนี้ยังควรพัฒนาตัวเอง ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อโอกาสและความก้าวหน้าในชีวิตการงาน รวมถึงเพื่อให้มั่นใจได้ว่าความรู้ความสามารถที่เรามีจะยังใช้ได้อยู่ในอนาคต Brian Tracy นักพูดและนักเขียนชื่อดังแนะนำไว้ว่า ความรู้ของเราควรจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวทุกๆ 3-5 ปีไม่เช่นนั้นแล้ว เราอาจจะตามคนอื่นไม่ทัน
ความมั่นคงทางการเงินไม่ยากเกินไป จากวิธีที่เขียนมาทั้ง 6 ข้อ หากเราไม่แน่ใจข้อไหนสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ได้ ที่สำคัญคือ เราต้องใส่ใจ เพราะความมั่นคงทางการเงินนั้นเกี่ยวพันกับการกินอิ่มนอนหลับของเราเอง