ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ความร่ำรวย” คือ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนา
ผู้คนในสังคมทุกวันนี้ ต่างก็ดิ้นรน ทำทุกอย่างเพื่อทำให้ตนเองมีความร่ำรวย และมองว่า “ความยากจน” เป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะทำให้ชีวิตของตนต้องลำบาก แต่ก็มีบางคน ที่ใช้ความยากจนของตัวเองในการเอารัดเอาเปรียบสังคม และสุดท้ายแล้ว ชีวิตคนเหล่านั้นก็มีความทุกข์ไม่จบไม่สิ้น อันเนื่องมาจากความยึดติดใน “ความรวย” และ “ความจน” มากเกินไป ทั้งที่ความจริงแล้ว การรวยล้นฟ้า ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีเสมอไป และความยากจน ก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป ถ้าเราสามารถอยู่ร่วมกับมันได้
ก่อนอื่นเลย เราลองมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ความจน” คืออะไร และต่างจากความรวยอย่างไร
ซึ่งมนุษย์เกือบทุกคนมีความเข้าใจคำสองคำนี้อย่างผิวเผิน ว่า ความจนก็คือการไม่มีเงิน ส่วนความรวยก็คือการที่มีใช้อย่างเหลือเฟือ อันที่จริง ความเข้าใจเช่นนี้ก็ไม่ผิดไปจากความเป็นจริงมากนัก เพียงแต่เป็นความเข้าใจที่ไม่รอบด้าน เพราะที่จริงแล้ว ความจน จะวัดจากสิ่งจำเป็นในชีวิตที่มนุษย์ควรจะต้องมี เช่น ปัจจัย 4 หรือของจำเป็นอื่น ๆ เพื่อการดำรงอยู่ได้ของชีวิต ถ้าบุคคลใดก็ตาม เป็นผู้มีของจำเป็นสำหรับการเลี้ยงชีพ ที่น้อยกว่าคนอื่น ก็อาจถือว่าบุคคลผู้นั้นจนได้เช่นเดียวกัน เช่น A มีอาหารการกินที่ค่อนข้างอัตคัตขัดสน ส่วน B เป็นผู้มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ ก็ถือว่า A จนกว่า B เป็นต้น
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าบุคคลใดจนหรือไม่ ก็คือ การเปรียบเทียบบุคคลนั้นกับคนอื่น ๆ ในสังคม หากว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมมีอะไร ใช้อะไร แต่บุคคลคนนั้นมีน้อยกว่าคนในสังคมทั่ว ๆ ไป ก็ถือว่าเขาเป็นคนจนได้ เช่น A เข้าไปอยู่ในสังคมที่นิยมใช้ Iphone กัน แต่ A ยังใช้โทรศัพท์ราคาถูก ๆ อยู่ ก็จะถือว่า A เป็นคนจนได้ เป็นต้น
การที่บุคคลใดถูกถือว่าเป็นคนจน บุคคลนั้นในบางครั้งอาจถูกมองจากสังคมว่าเป็นคนที่ไม่ดี ไม่ควรคบ และมักถูกเหยียดหยามกลาย ๆ อยู่เสมอ ด้วยเหตุผลนี้ จึงมักทำให้หลายคนที่ถูกถือว่าเป็นคนจน พยายามที่จะผลักดันตัวเองให้กลายเป็นคนรวยขึ้นมา รวมถึงคนจนทั้งหลาย มักจะมีพฤติกรรมที่อยากได้ อยากมีสูงกว่าคนรวย จนบางครั้งก็เพิ่มค่าใช้จ่ายในครัวเรือนขึ้นมามากเกินความจำเป็น จึงยิ่งกลายเป็นตัวการผลักดันให้คนจน พยายามดิ้นรนเพื่อให้ได้เงิน และเกิดเป็นความร่ำรวยขึ้นมาในหลาย ๆ ทาง ทั้งการกู้หนี้ยืมสิน การทำบัตรเครดิต เป็นต้น กลายเป็นว่ายิ่งทำให้คนจนผู้นั้นจนหนักเข้าไปอีกจากภาระหนี้สิน และเกิดเป็นภาวะความเครียดต่าง ๆ ตามมาจนในบางรายก็จบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้า
คนยากจนหลายคนที่อ่านบทความมาจนถึงตรงนี้แล้ว อาจมีคำถามอยู่ในใจว่า ถ้าเกิดว่าการหาเงิน เพื่ออัพเกรดให้ตัวเองมีความร่ำรวยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วจะให้ทำอะไรล่ะ จะให้จมปลักอยู่กับความยากจนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ หรือ ขอตอบเลยว่า บางครั้ง การอยู่กับความยากจนก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสมอไป บุคคลผู้ยากจน สามารถอยู่กับความจนอย่างมีความสุขได้ อีกทั้งยังมีของแถมที่จะกลายเป็นบทเรียนอันล้ำค่าในอนาคตอีกด้วย นั่นก็คือ นิสัยแห่งความประหยัด และอดออม
หลักการสำคัญประการแรก ที่จะทำให้เราสามารถอยู่กับความจนได้อย่างมีความสุข คือ การปล่อยวาง แต่การปล่อยวางในที่นี้ไม่ได้ความถึงการมีความคิดที่ว่า อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิดเนาะ เพราะฉะนั้นเนี่ย มีเงินเท่าไร ใช้ให้เต็มที่สุดฤทธิ์ไปเลย เพราะความคิดเช่นนี้เรียกว่า ความประมาท ไม่ใช่การปล่อยวาง หากเกิดความคิดนี้ขึ้นมา แล้วทำตามเมื่อไรละก็ ชีวิตอาจจะพังได้ง่าย ๆ การปล่อยวางจริง ๆ แล้ว คือ การไม่ใส่ใจ และไม่ยึดติดกับสิ่งที่เหนือความสามารถของเรา ซึ่งการนำมาปรับใช้เพื่อให้อยู่กับความจนได้อย่างมีความสุข ก็คือ ลองคิดพิจารณาใหม่ว่า การที่พยายามทำงานอย่างเคร่งเครียด หามรุ่งหามค่ำอยู่ทุกวันนี้ เพื่อนำเงินมาใช้กับสิ่งที่เราอยากได้ และคิดว่าจะต้องรวยล้นฟ้านี่ มันดีแน่หรือ โอเค บางทีการทำงานหามรุ่งหามค่ำอยู่ทุกวันนี้อาจทำให้ร่ำรวยขึ้นมาได้จริง แต่ถ้าสุดท้ายร่างกายของเราไม่ไหว ล้มหมอนนอนเสื่อไป เงินที่ได้มาก็ต้องนำไปใช้สำหรับการรักษาพยาบาลอยู่ดี ถ้าเรามีความคิดดังนี้ขึ้นมาแล้ว จะทำให้เรารู้สึกว่า การทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อหาเงินจำนวนมากสำหรับความร่ำรวยนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย หลังจากนั้น เราก็สามารถลดความยึดติดในการมุ่งมั่นหาเงินได้ในระดับหนึ่ง
หลักการสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเสียใหม่ อย่างน้อยให้มีความรู้สึกว่า “แม้จะไม่มีเงินมาก แต่ก็มีความสุขได้” ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งที่ทำให้มนุษย์เราเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็คือ ความอยากได้ อยากมีในสิ่งต่าง ๆ และคนทั่วไปโดยมาก มักเลือกที่จะทำตามความต้องการของตนเองก่อนที่จะคิดอยู่เสมอ เช่น เมื่อเห็นสิ่งขแงสิ่งของที่ชอบ ที่อยากได้ วางตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือบริการต่าง ๆ ที่มีการจัดโปรโมชั่นอยู่ คนส่วนมากก็รีบซื้อทันทีโดยที่ไม่ทันคิดก่อน ว่าเงินในตอนนี้มีทั้งหมดเท่าไร พอซื้อแล้ว พบว่าเงินหมด ก็เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมาอีก ดังนั้น การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตดังกล่าว ก็คือ การพยายามคิดก่อนที่จะใช้จ่ายเงินทุกครั้ง และจงตั้งต้นการใช้จ่ายจากเงินที่มีอยู่ก่อน อย่าตั้งต้นการใช้จ่ายจากสินค้าที่เราอยากได้
วิธีการทั้งสองขั้นนี้ ถ้าคนทุกคนสามารถปฏิบัติได้ ก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ แม้ว่าจะมีเงินไม่มากหรืออยู่ในระดับที่ยากจนก็ตาม และจะมีความรู้สึกว่า แม้มีเงินไม่มาก ก็ยังมีความพอกินพอใช้ และมีความสุขได้ และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ที่มีความยากจนควรรู้ ก็คือ เงินที่มากหรือน้อย ไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าบุคคลผู้นั้นมีค่าหรือไร้ค่าในสังคม และการมีเงิน ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้ชีวิตมีความสุขเสมอไป หากแต่พฤติกรรมในการใช้เงินต่างหากที่จะเป็นตัวตัดสินว่าบุคคลผู้นั้นเป็นคนอย่างไร