ประเทศไทยปี 2557 มีจำนวนประชากรประมาณ 65.13 ล้านคน และมีกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย หรือที่เรียกว่า “คนจน” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ หรือค่าใช้จ่ายต่ำกว่า 2,647 บาทต่อคนต่อเดือน มีจำนวน 7.06 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 10.53% ของประชากรทั้งประเทศ
ซึ่งเกณฑ์ในการแบ่งว่ากลุ่มใดเป็นกลุ่มคนจนนั้น ใช้ข้อมูลเชิงสถิติในการพิจารณาเป็นหลัก โดยอ้างอิงจากเส้นความยากจน (Poverty Line) ซึ่งเป็นเส้นที่แสดงถึงตัวเงิน (รายได้ หรือ ค่าใช้จ่าย) ที่จัดแบ่งกลุ่มคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นดังกล่าว “เป็นกลุ่มคนจน ” และ สัดส่วนคนจน (Poverty Rate) ซึ่งบอกถึงสัดส่วนของจำนวนประชากรที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคต่ำกว่าเส้นความยากจน หากแบ่งตามภูมิภาคจะเห็นว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีคนที่มีรายได้น้อย (คนจน) มากที่สุด ซึ่งสามารถเปรียบเทียบ ดังนี้
- มีรายได้ หรือ ค่าใช้จ่าย ที่จัดเป็นกลุ่มคนจน (บาท/คน/เดือน)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2,355) < ภาคเหนือ (2,387) < ภาคใต้ (2,735) < ภาคกลาง (2,832) < กรุงเทพมหานคร (3,133)
- จำนวนประชากรกลุ่มคนจน (พันคน)
กรุงเทพมหานคร (141) < ภาคกลาง (941) < ภาคใต้ (1,255) < ภาคเหนือ (1,520) < ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (3,201)
3.สัดส่วนประชากรกลุ่มคนจน (%)
กรุงเทพมหานคร (1.64) < ภาคกลาง (4.95) < ภาคเหนือ (13.19) <ภาคใต้ (13.79) < ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (17.04)
(ข้อมูลตัวเลข อ้างอิงจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
คนจน เป็นกลุ่ม คนมีรายได้น้อย ทำให้มีโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพด้อยกว่ากลุ่มคนประเภทอื่นในสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากระดับการศึกษาที่ถูกจำกัดตามฐานะทางการเงิน แต่ใช่ว่าคนจนทุกคนจะไม่ได้รับการศึกษาที่สูง เพราะสังคมทุกวนนี้ได้ให้การสนับสนุนกลุ่ม คนมีรายได้น้อย แต่เป็นคนดี มีความขยัน อดทน มีความตั้งใจ ในการเรียนและการทำงาน ให้ได้รับการศึกษาและประกอบอาชีพที่ดีเพิ่มมากขึ้น เพราะเล็งเห็นว่าการให้โอกาส ย่อมสร้างคน ให้มีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ
อย่างไรก็ตามก็ยังมีคนจนบางกลุ่ม ที่ แม้จะมีฐานะทางการเงินที่ไม่ค่อยดี มีความสามารถในการใช้จ่ายน้อย แต่ยังมีแนวคิดที่ไม่เก็บออม ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย และกู้ยืมเพื่อซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นสาเหตุของการมีหนี้สินที่เพิ่มพูนมากกว่าทรัพย์ที่หาได้ ทั้งยังเดือดร้อนจากการจ่ายเงินกู้และดอกเบี้ยที่สูงลิ่ว และการทวงตามหนี้ของกลุ่มเจ้าหนี้ในที่สุด
กลุ่มคนจนที่มีตกอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว เกิดจากลักษณะนิสัยพฤติกรรมการใช้จ่าย ดังนี้
-
ไม่จัดทำตารางบันทีกรายได้และค่าใช้จ่าย
ในแต่ละวันของตนเอง จึงไม่ทราบถึงจำนวนเงินที่มีอยู่และความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายจริง ๆ เพื่อจะได้ใช้เงินได้คุ้มค่ามากที่สุด
-
ทราบเพียงแหล่งใช้ไปของเงิน
ว่าจะซื้อสิ่งของอะไรบ้างที่ต้องการอยากได้เป็นอันดับแรก โดยไม่คำนึงถึง แหล่งที่มาของเงิน หรือรายได้ที่ได้รับ เช่น ค่าจ้างรายวัน เงินได้รายเดือน ว่าจะได้รับเมื่อไหร่ จำนวนเท่าไร มีเพียงพอในการใช้จ่ายซื้อของที่อยากได้และเหลือเพียงพอในการใช้จ่ายในการดำรงชีพหรือไม่ จึงเป็นเหตุให้ต้องกู้ยืมเงินจากหลายแหล่ง รวมทั้งจำนำ ขายทรัพย์สินบางส่วน เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ที่ต้องการ
-
ขาดการวางแผนทางการเงิน
ไม่แบ่งแยกรายรับเพื่อจัดสรรใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น แบ่งเก็บออมเพื่อใช้จ่ายยามเกษียณ แบ่งเก็บออมเพื่อใช้ยามจำเป็น แบ่งเพื่อใช้ในการดำรงชีพในแต่ละวัน หรือแบ่งเพื่อใช้หนี้ที่มีอยู่ เป็นต้น ซึ่งการจัดสรรรายรับออกเป็นส่วนต่าง ๆ จะช่วยให้สามารถบริหารเงินได้ดียิ่งขึ้น โดยควรให้ความสำคัญกับการออมในสัดส่วนที่มากที่สุด และส่วนอื่นก็ลดหลั่นตามความจำเป็น แต่ส่วนใหญ่คนมีรายได้น้อย (คนจน) จะมีการออมเงินในสัดส่วนที่ต่ำ ย่อมเป็นสาเหตุให้ ไม่มีทุนสำรองที่เพียงพอในการใช้จ่ายยามจำเป็น หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเจ็บป่วย หรือ เกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิด หรือแม้แต่ในยามเกษียณ แม้ว่าประเทศไทยจะมีสวัสดิการสาธารณสุขให้ประชาชนอย่างทั่วถึง แต่อย่างไรก็ตาม การที่มีเงินสะสมสักก้อน ก็จะทำให้มีโอกาสทางเลือกที่ดีมากขึ้น ปัจจุบันจึงมีการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งการออมเงินอีกทางหนึ่ง เพื่อให้กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย (คนจน) หรือ คนที่ไม่มีประกันสังคม ได้มีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ
-
การเข้าถึงแหล่งการออมเงินเพื่อเพิ่มมูลค่าของเงินออมค่อนข้างต่ำ
เนื่องจาก ผู้มีรายได้น้อย (คนจน) ไม่นิยมฝากเงินไว้กับสถาบันการเงิน แต่มักเก็บเงินไว้กับตนเอง ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่อาจจะใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นได้ เนื่องจาก หากไม่มีวินัยทางการเงินแล้ว การเก็บออมเงินไว้กับตัวเองก็อาจจะใช้จ่ายเพลินจนลืมตัว
-
ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่หลากหลายค่อนข้างจำกัด
เป็นสาเหตุให้คนมีรายได้น้อย (คนจน) ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับการกู้ยืมแหล่งเงินกู้นอกระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ยที่สูง ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดจะมีสัดส่วนที่สูงกว่าเงินต้นจำนวนมาก โดยมีผู้รายได้น้อย (คนจน) ก็มักจะไม่คำนึงถึงข้อนี้ เนื่องจากการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ ย่อมต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือ บุคคลค้ำประกัน) เพื่อเป็นหลักประกันสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าหนี้ ในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และเมื่อมีความต้องการเงินกู้อย่างเร่งด่วน อัตราดอกเบี้ยก็ไม่ใช่ประเด็นแรกนำมาพิจารณา ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินในสังคมทุกวันนี้
-
สภาพแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดู
ย่อมมีผลต่อนิสัยการออมและการใช้จ่ายเงิน ซึ่งส่วนใหญ่ คนมีรายได้น้อย (คนจน) จะต้องทำงานที่หลากหลายเพื่อหารายได้ใช้จ่ายในครอบครัว จึงจะไม่มีเวลาเพียงพอในการอบรม ชี้แนะ บุตรหลาน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ยังไม่ดีพอ ดังนั้น หากบุตรหลานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วย แหล่งมั่วสุมยาเสพติด กลุ่มนักพนัน ติดเกม กลุ่มเสเพล ก็ย่อมทำให้ผู้ปกครองต้องมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากบุตรหลานมากขึ้น เช่น ใช้จ่ายเพื่อเล่นเกม การพนัน เที่ยว ซื้อยาเสพติด และหากติดยาเสพติดแล้วก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาอีก และนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้ต้องกู้ยืมเงินและมีหนี้สินเกิดขึ้น
อ่านเพิ่มเติม >> 9 เส้นทางเดินเข้าหา ความจน แบบรู้เนื้อรู้ตัว <<
อย่างไรก็ตามกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย (คนจน) หากปรับเปลี่ยนลักษณะนิสัย และพฤติกรรมการใช้จ่ายโดยการวางแผนก่อนการใช้จ่ายทุกครั้ง ใช้จ่ายเฉพาะสิ่งจำเป็น และให้ความสำคัญกับการประหยัด อดออม เป็นหลักแล้ว แม้จะมีระดับรายได้ที่น้อย แต่การสะสมเงินทุกวันย่อมทำให้มีระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ โดยไม่มีหนี้สินเป็นปัญหากวนใจอีกต่อไป