รู้ทันดอกเบี้ยบัตรเครดิต คำนวณอย่างไร ไม่ให้เป็นหนี้
ในยุคที่ผู้คนเน้นความสะดวกสบาย เงินสดกลายเป็นเรื่องไกลตัวเพราะเพียงแค่มีมือถือก็ทำได้ครบทั้งฝาก ถอน โอน จ่ายจบในเครื่องเดียว และที่สำคัญในปัจจุบันยังสามารถผูกบัตรเครดิตกับแอปต่าง ๆ บนมือถือได้อีกด้วย ยิ่งหากเดือนไหนมีของที่ถูกใจเยอะก็รูด-ถอนผ่านบัตรเครดิตกันสบายซึ่งมารู้ตัวอีกทีก็เมื่อแจ้งบิลบัตรช่วงสิ้นเดือนบางทีจะจ่ายคราวเดียวก็ไม่ไหว ต้องกดผ่อนจ่ายขั้นต่ำกันทุกเดือนซึ่งรู้หรือไม่ว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต คำนวณกันอย่างไร และทำไมเราถึงไม่ควรจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ
การคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้ใช้บัตรเครดิต เนื่องจากมีผลต่อค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในแต่ละเดือน การคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่รู้วิธีการคำนวณ และมีข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งในบทความนี้จะพูดถึงวิธีการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตให้เข้าใจง่าย ๆ
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คืออะไร
ดอกเบี้ยบัตรเครดิตคือ ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้บัตรเครดิตใช้เงินจากวงเงินที่ธนาคาร หรือบริษัทบัตรเครดิตให้กับผู้ใช้ โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันไปตามประเภทของบัตรเครดิต และบริการของผู้ให้บริการบัตรเครดิต
โดยอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะถูกคิดเป็นร้อยละตามยอดเงินที่ใช้จากวงเงิน โดยการคิดดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้เงิน และอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต
การคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะเริ่มต้นจากวันที่ผู้ใช้บัตรเครดิตใช้เงิน จนถึงวันที่ผู้ใช้บัตรเครดิตชำระหนี้ครบตามกำหนด หากผู้ใช้บัตรเครดิตไม่ชำระหนี้ค้างชำระในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ จะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และส่งผลต่อคะแนนเครดิตของผู้ใช้บัตรเครดิตด้วย
ดังนั้น การใช้บัตรเครดิตต้องระมัดระวังในการใช้จ่ายเพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และควรชำระหนี้ค้างชำระให้เร็วที่สุดเพื่อลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สูงขึ้นในแต่ละเดือน
ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คำนวณ อย่างไร
โดยทั่วไปดอกเบี้ยจากการชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำธนาคารกำหนดไว้ไม่เกิน 10 – 20% โดยทั่วไปจะจ่ายขั้นต่ำ 10% จากยอดที่ต้องชำระ
ยกตัวอย่าง นายบี รูดบัตรซื้อของราคา 40,000 บาท จะต้องจ่ายขั้นต่ำ 10% คิดเป็น 4,000 บาท โดยที่ธนาคารคิดดอกเบี้ย 2 ส่วน ดังต่อไปนี้
ส่วนที่ 1 ดอกเบี้ยที่ใช้จ่าย
ดอกเบี้ย = (ยอดค้างของจำนวนเงินยอดเต็มที่ต้องชำระ x อัตราดอกเบี้ย (%) x จำนวนวันในงวด)/365 (วัน)
= (40,000 x 20% x 15)/365
ดอกเบี้ยรายวันที่ต้องชำระ = 328.76 บาท
ส่วนที่ 2 ดอกเบี้ยที่ค้างชำระ
ดอกเบี้ย = (ยอดคงเหลือหลังจ่ายขั้นต่ำ x อัตราดอกเบี้ย (%) x จำนวนวันที่ชำระถึงวันปิดยอด)/365 (วัน)
= (27,000 x 20% x 17)/365
ดอกเบี้ยรายวันที่ต้องชำระ = 335.34 บาท
ข้อเสียของการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ
หลายๆ คนที่ใช้บัตรเครดิตเลือกที่จะจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ อาจเป็นเพราะด้วยเหตุผล เช่น ไม่มีเงินจะจ่ายเต็มจำนวน หรือค่อยๆ ผ่อนคืนไปก็ได้ เป็นต้น แต่จริงๆแล้ว การจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำนั้นมีข้อเสียมากกว่าข้อดีและมักทำให้เกิดปัญหาหรือมีผลตามมามากมาย ดังต่อไปนี้
1.ถูกคิดดอกเบี้ยมหาศาล
หลายคนอาจจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเสียดอกเบี้ยจากการค้างชำระบัตรเครดิต ซึ่งสิ่งที่มักเข้าใจผิดก็คือหากเรารูดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตแล้วจ่ายคืนแบบขั้นต่ำเราจะถูกคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่เราค้างจ่ายบัตรเครดิต แต่ความจริงนั้นเราจะถูก คิดดอกเบี้ยทันทีคือสูงสุด 20% ตั้งแต่วันที่เราซื้อสินค้าหรือบริการโดยรูดจ่ายด้วยบัตรเครดิตนั้นๆ โดยคิดเป็นรายวันจนกว่าเราจะชำระหนี้ที่ค้างอยู่จนหมด
2.ดอกเบี้ยจะคิดจากยอดที่ค้างชำระ และยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในรอบบัญชีนั้น ๆ
ความเป็นจริงนั้นดอกเบี้ยจากบัตรเครดิคต จะไม่ได้ถูกคิดเฉพาะส่วนที่เราค้างชำระจากการที่จ่ายไม่เต็มจำนวนเท่านั้นแต่เราจะถูกคิดดอกเบี้ยจากทั้งยอดเงินที่ค้างชำระในรอบบัญชีนั้นๆเราจึงจำเป็นต้องรีบนำเงินไปปิดหนี้บัตรเครดิตเพราะไม่ฉะนั้นจะทำให้ยอดค้างชำระหนี้ถูกคิดดอกเบี้ยทบต้นไปเรื่อย ๆ
3.หากเรายังมียอดค้างชำระ ยอดใช้จ่ายใหม่ก็จะถูกคิดดอกเบี้ยไปด้วย
หากว่าเรายังมียอดค้างชำระในบัตรเครดิตอยู่ แล้วเรานำบัตรเครดิตนั้นไปใช้จ่าย ยอดการใช้จ่ายใหม่จะถูกคิดรวมกับยอดค้างชำระเดิมด้วยดังนั้นเรา จึงควรหยุดใช้จ่ายบัตรเครดิตที่มียอดค้างชำระไปก่อนและทำการปิดหนี้ให้เรียบร้อย มิฉะนั้นดอกเบี้ยของเรา จะต้องถูกทบต่อไปเรื่อยๆซึ่งจะทำให้ มีโอกาสที่เราจะชำระหนี้บัตรเครดิตไม่ไหว
4.ถ้าจ่ายแค่ขั้นต่ำแล้วพลาดจ่ายช้า อาจต้องเจอค่าทวงหนี้
เมื่อเราเป็นหนี้บัตรเครดิตในแต่ละเดือนจะมีใบแจ้งหนี้ส่งมาแล้วแจ้งจำนวนยอดจ่ายทั้งหมดพร้อมแจ้งขั้นต่ำที่ต้องชำระ ซึ่งในการแจ้งหนี้นี้เราจะต้องเจอกับค่าทวงหนี้ ประมาณ 100 บาทต่องวดหรือต่อเดือน ดังนั้น สำหรับใครที่เป็นคนขี้ลืม การเลือกใช้วิธีหักบัญชีเงินฝากไปเป็นการชำระหนี้อัตโนมัติจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะโดนเรียกเก็บค่าทวงหนี้หรือติดตามหนี้
5.ไม่เสียประวัติ แต่อาจเสียโอกาสอื่น ๆ
บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัดจะเป็นผู้ตรวจสอบพฤติกรรมบัตรเครดิตของแต่ละคนว่ามีวินัยในการชำระหนี้ดีหรือไม่ ถ้าหากเราชำระหนี้ขั้นต่ำไปเรื่อยๆ พูดตามตรง ก็ยังไม่ถือว่าเสียประวัติแต่ถ้าหากว่าเราไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ยอดรวมทั้งหมดหรือชำระไม่ตรงเวลาเป็นประจำ ชำระหนี้จากบัตรเครดิตไม่ครบค้างเกิน 90 วัน หรือชำระจำนวนน้อยกว่าขั้นต่ำที่กำหนดไว้สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เราเสี่ยงต่อการติดเครดิตบูโรและไม่สามารถทำธุรกรรมอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงเข้าใจถึง ดอกเบี้ยบัตรเครดิต คำนวณยังไง ดังนั้นการใช้บัตรเครดิตอย่างมีวินัยการจ่ายชำระเต็มจำนวนทุกครั้ง หรือเลือกที่จะไม่จ่ายขั้นต่ำแต่ส่งผลดีต่อผู้ใช้งานมากกว่า แถมยังสะดวกสบายในด้านของการได้ใช้สิทธิพิเศษต่างๆตามเงื่อนไข และข้อตกลงของบัตรเครดิต โดยไม่ต้องรับภาระหนี้มากจนเกินไป
สำหรับท่านใดที่กำลังประสบปัญหาเรื่องของบัตรเครดิต และยังหาทางออกไม่ได้ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ท่าน เข้าใจ วิธีคำนวณหนี้ บัตรเครดิตมากขึ้น และสามารถหาแนวทางในการใช้บัตรเครดิตได้อย่างคุ้มค่า และไม่ก่อให้เกิดหนี้เกินตัวในอนาคต