วิธีป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รับมือกลโกงออนไลน์ยังไง?
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติในแถบเอเชียเลยก็ว่าได้ กับกลโกงหลอกโอนเงินของเหล่ามิจฉาชีพที่มีหลายรูปแบบจนทำให้มีคนหลงกลสูญเงินไปถึงหลักล้านต่อปี ไปจนถึงข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด และเพื่อป้องกันตัวจากการตกเป็นเหยื่อ มาดู วิธีป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รับมือกลโกงออนไลน์ยังไง?
รูปแบบกลโกงยอดฮิต
ก่อนที่จะไปถึงวิธีป้องกันตัวเอง มาดูกันก่อนว่าวิธีกลโกงยอดฮิตของเหล่ามิจฉาชีพล่าสุด เป็นแบบไหนกันบ้าง ซึ่งเราทำการสรุปมาจากข่าวการร้องเรียน และคดีความในช่วงปีที่ผ่านมา โดยจะมีวิธีหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
หนึ่งในกลโกงรูปแบบหลักกับการแอบอ้างเป็นตำรวจ ศาล หรือกรมสรรพากร เพื่อข่มขู่ให้เหยื่อตื่นตระหนก และรีบโอนเงิน โดยมักอ้างว่าเราไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน มีช่องทางการเงินที่น่าสงสัย และอาจถูกออกหมายจับ
วิธีป้องกัน
โดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่มีการโทรหาเราโดยตรงในทุกกรณี หากว่ามีสายเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ และยกเรื่องการฟอกเงินมาเกี่ยวข้องให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพไว้ก่อน ควรตั้งสติ และวางสายไปเลย รวมถึงบล็อกหมายเลขดังกล่าวไป พร้อมรายงานเบอร์ต้องสงสัยผ่านแอปพลิเคชันช่วยบล็อกด้วย อย่างเช่น Whoscall
- หลอกว่าได้รับรางวัล
หลาย ๆ ครั้งมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นพนักงานแบรนด์สินค้าเจ้าดัง แล้วแจ้งว่าได้รับรางวัลใหญ่ แต่ต้องโอนเงินค่าธรรมเนียม หรือค่าภาษีก่อนที่จะได้รับรางวัล อีกกรณีคือแจ้งว่าสินค้าที่เคยซื้อไปมีปัญหา จะมีการชดเชยให้ แต่เราต้องโอนเงินไปก่อน
วิธีป้องกัน
หากว่าทางแบรนด์ต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรมแจกรางวัลพิเศษ เมื่อประกาศผลแล้วจะมีการติดต่อมาส่วนตัวจริง เพื่อขอข้อมูลการจัดส่งสินค้า หรือการส่งโค้ดพิเศษต่าง ๆ เท่านั้น จะไม่มีการให้เราโอนค่าธรรมเนียม หรือภาษีใด ๆ ไปก่อนในทุกกรณี หากได้รางวัลเป็นเงิน อาจมีการหัก ณ ที่จ่าย แต่ก็จะไม่มีการให้เราโอนไปก่อนอย่างแน่นอน
- หลอกว่าบัญชีมีปัญหา
อ้างว่าบัญชีธนาคาร หรือบัตรเครดิตมีปัญหา เช่น ถูกล็อก ทำให้ใช้การไม่ได้ หรือมีการใช้จ่ายที่ผิดปกติ และจะขอข้อมูลส่วนตัวเพื่อแก้ไข หรืออาจส่งสิงก์ปลอมมาให้เรา log-in เพื่อขโมยข้อมูลไป
วิธีป้องกัน
โดยปกติแล้วบัญชี และบัตรเครดิตของเราไม่ได้มีปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น สามารถปล่อยผ่านได้เลย แต่หากว่าไม่สบายใจ แนะนำให้ไปติดต่อสอบถามธนาคารใกล้บ้านเพื่อความแน่ใจ
- ชักชวนลงทุน
หากหมั่นติดตามโซเชียลอยู่ตลอด เรามักจะพบผู้มาเล่าประสบการณ์การถูกแอดไลน์จากคนแปลกหน้า (แอดจากเบอร์โทรศัพท์) แล้วทำทีถามว่าขายสินค้านั้น ๆ หรือไม่ เมื่อเราตอบว่าไม่ ก็ยังหาทางสานต่อบทสนธนาไปเรื่อย ๆ จนอาจไปสู่จุดที่ชวนลงทุนแบบต่าง ๆ
หรือที่พบมากที่สุดจะมาจากแอปหาคู่/กลุ่มหาคู่ ที่แทบจะมีมิจฉาชีพเกินครึ่ง โดยนำเอาภาพ และข้อมูลส่วนตัวผู้อื่นที่มีโปรไฟล์ดีมาใช้ พร้อมหลอกล่อเหยื่อให้ตายใจว่ามี่ความรู้สึกดี ๆ ให้ แล้วอาจช่วนไปลงทุน หรือสร้างสถานการณ์เดือดร้อน ต้องการใช้เงินด่วน
วิธีป้องกัน
การลงทุนที่ดีควรทำผ่านสถาบันทางการเงินที่กฎหมายรับรอง และสามารถตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ของบริษัทได้ ดังนั้นเมื่อได้รับการเชิญชวนไปลงทุนที่ดูได้ผลตอบแทนสูงกว่าที่ควรจะเป็นให้สงสัยไว้ก่อนว่ามิจฉาชีพ และควรระวังเหล่าหน้าม้าที่ทำทีช่วยยืนยันว่าลงเงินไปแล้วได้กลับมาจริง อีกทางหนึ่งก็คือควรปรึกษาคนในครอบครัวถึงความผิดปกติต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจโอนเงิน
สรุป วิธีป้องกันตัวจาก มิจฉาชีพ ออนไลน์
- อย่ารีบโอนเงินหรือให้ข้อมูลส่วนตัว
หากได้รับสายจากบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการ ธนาคาร หรือบริษัทต่างๆ ควรตรวจสอบข้อมูลก่อนทุกครั้ง อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวหรือโอนเงินโดยไม่ตรวจสอบ
- ใช้แอปแจ้งเตือนเบอร์โทรศัพท์แปลก
ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่ช่วยระบุเบอร์โทรศัพท์ที่มักใช้หลอกลวง เช่น Truecaller หรือ Whoscall ซึ่งสามารถช่วยคัดกรองเบอร์ที่น่าสงสัยได้ในระดับหนึ่ง
- ไม่กดลิงก์แปลก หรือให้รหัส OTP ผู้อื่น
ห้ามกดลิงก์ หรือส่งโค้ด OTP ให้กับผู้อื่นโดยเด็ดขาด แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้เทคนิคหลอกลวงให้เรากดลิงก์เพื่อขโมยข้อมูลหรือเงินในบัญชี
- ตรวจสอบกับหน่วยงานโดยตรง
หากได้รับการติดต่อที่อ้างว่าเป็นจากธนาคารหรือหน่วยงานราชการ ให้ติดต่อกลับไปที่หมายเลขศูนย์บริการของหน่วยงานนั้นโดยตรง เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล
- รายงานเบอร์ที่สงสัย
หากพบเบอร์โทรที่สงสัยว่าเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ควรบันทึกไว้และแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ หรือแจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- แชร์ประสบการณ์ผ่านโซเชียล
การแชร์ประสบการณ์ หรือเบอร์โทรที่สงสัยลงในโซเชียลมีเดีย จะช่วยเตือนให้ผู้อื่นระวังตัวและหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อได้ แต่ก็ต้องระวังเรื่องการสร้างความตื่นตูมเกินกว่าเหตุด้วย
- ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ
แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ การติดตามข่าวสาร และเรียนรู้วิธีการป้องกันตัวที่ทันสมัยจะช่วยลดความเสี่ยงได้
เรียกได้ว่ากลโกงของเหล่ามิจฉาชีพมีการอัปเกรดอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นตัวเราเองก็ต้องคอยพัฒนาให้เท่าทันด้วยเช่นกัน เพื่อลดโอกาสในการสูญเสียทรัพย์สิน และข้อมูลส่วนตัว ที่สำคัญหากพบเห็นพฤติกรรมที่น่าสงสัยควรรีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที