ประกันสังคม ทำฟัน ใช้ยังไง ต้องสำรองจ่ายหรือไม่
เมื่อก้าวสู่การทำงาน แต่ละเดือนก็จะมีการหักค่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะให้สิทธิพื้นฐานคุ้มครองเราหลากหลายกรณี ทั้งเจ็บป่วย คลอดบุตร ตกงาน ไปจนถึงทำฟัน วันนี้เราจะพาไปดูกันว่า ประกันสังคม ทำฟัน ใช้ยังไง ใช้เอกสารอะไร และต้องสำรองจ่ายก่อนไหม เพื่อเป็นแนวทางสำหรับทุกท่าน หากพร้อมแล้วไปชมกันได้เลย
ประกันสังคม คืออะไร
ประกันสังคม (Social Security) คือ รูปแบบการออมเงินภาคบังคับจากภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนให้ทุกคนมีหลกประกันในการใช้ชีวิตผ่านการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในแต่ละเดือนเพื่อรับผิดชอบความเสี่ยงเฉลี่ยที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ชราภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร หรือว่างงานและเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว รวมถึงการมีเงินเก็บส่วนหนึ่งไว้ใช้ยามเกษียณ
เช็กสิทธิพื้นฐานที่ได้จากประกันสังคมแต่ละมาตรา
ถัดมาจะเป็นการพูดถึงการประกันสังคมในแต่ละมาตราว่าครอบคลุมสิทธิประโยชน์ด้านใดบ้าง
- ผู้ประกันตน มาตรา 33
เงื่อนไข
กลุ่มลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงานและทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
สิทธิประโยชน์
ครอบคลุม 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย, คลอดบุตร, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต, ชราภาพ, สงเคราะห์บุตรและว่างงาน
อัตราการส่งเงินสมทบ
นายจ้างและลูกจ้าง หรือผู้ประกันตน จะต้องส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้างลูกจ้าง ต่ำสุด 83 บาทสูงสุดไม่เกิน 750 บาท
- ผู้ประกันตน มาตรา 39 (สมัครใจ)
เงื่อนไข
กลุ่มบุคคลที่เคยทำงานและเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาก่อน แล้วออกจากงานแต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม
สิทธิประโยชน์
ครอบคลุม 6 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย, คลอดบุตร, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต, ชราภาพและสงเคราะห์บุตร (ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับ ม.33)
อัตราการส่งเงินสมทบ
ลูกจ้าง หรือผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท/เดือนครบทุกเดือนต่อเนื่องกันซึ่งหากไม่ส่ง 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายใน 12 เดือนให้สิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตน
- ผู้ประกันตน มาตรา 40 (อาชีพอิสระ)
เงื่อนไข
กลุ่มบุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ โดยไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39
สิทธิประโยชน์
กรณีที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน: เจ็บป่วย, ทุพพลภาพและเสียชีวิต กรณีที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน: เจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, เสียชีวิตและชราภาพ กรณีที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน: เจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต, ชราภาพและสงเคราะห์บุตร
อัตราการส่งเงินสมทบ
ลูกจ้าง หรือผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบโดยแบ่งออกเป็น 3 ทางเลือกคือ จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน, จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน และจ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน
ประกันสังคม ทำฟัน ใช้ยังไง
สำหรับผู้ประกัน มาตรา 33 – 39 (ไม่รวม มาตรา40) สามารถไปทำฟันฟรีได้ โดยจะได้สิทธิรักษา ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด ฟรี 900 บาท ไม่ต้องสำรองจ่าย กรณีที่ค่ารักษามากกว่า 900 บาท ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินส่วนเกินเอง ใช้แค่บัตรประชนใบเดียว ยื่นให้กับคลินิกหรือ รพ. ที่เข้าร่วม โดยจะมีการบันทึกข้อมูลผ่านเครื่องอ่านบัตรเท่านั้น กรณีไม่มีบัตรประชาชนมา ต้องสำรองจ่ายแล้วนำไปเบิกเองที่ประกันสังคม หรือยื่นเรื่องออนไลน์เท่านั้น
ใช้สิทธิประกันสังคม ทำฟันได้ที่ไหนบ้าง
คลินิกทันตกรรม และสถานพยาบาลทุกที่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็น รพ. ต้นสังกัดเท่านั้น ปัจจุบันมีคลินิกทันตกรรมถึง 3,000 กว่าคลินิกทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด เข้าร่วมโครงการเบิกทำฟันประกันสังคม แบบไม่ต้องสำรองจ่าย หากคุณไม่แน่ใจคุณสามารถสอบถามโดยตรงกับคลินิกทันตกรรมที่คุณอยากเข้าไปใช้สิทธิเพื่อความมั่นใจอีกครั้ง
ใครที่มีสิทธิประกันสังคมไม่ว่าจะมาตราไหน ๆ ถ้ามีเวลาก็แนะนำให้ไปใช้สิทธิที่มีก่อนสิ้นปีทุกปี โดยเฉพาะสิทธิที่หลายคนมักจะหลงลืมอย่างสิทธิทางทันตกรรม สำหรับวันนี้ก็คงพอเข้าใจสิทธิพื้นฐานของแต่ละมาตรา รวมถึงสิทธิประกันสังคม ทำฟัน ใช้ยังไงและใช้สิทธิประกันสังคม ทำฟันได้ที่ไหนบ้าง ที่สำคัญอย่าลืมนำบัตรประชาชนไปด้วย ไม่อย่างนั้นอาจต้องสำรองจ่ายกันไปก่อนนะคะ