ค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งที่สำคัญสำหรับลูก ๆ ก็คือ ค่าขนม ค่าอาหาร เวลาไปโรงเรียนหรือไปมหาวิทยาลัย (ในกรณีที่ลูกยังไม่ได้หาเงินเอง) แน่นอนว่า การปล่อยให้ลูกอด ๆ อยาก ๆ ให้เงินค่าขนมลูกไปแบบไม่เท่าไร จนไม่สามารถซื้ออาหาร ซื้อขนมรับประทานได้ คงจะไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าไร แต่การให้เงินค่าขนมลูกมากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดีเช่นกัน เนื่องจากจะทำให้ลูกรู้จักการใช้เงินไวเกินไป จนกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจอยากได้อะไรก็ต้องได้ เพราะฉะนั้น การให้ค่าขนมจึงต้องเป็นไปแบบทางสายกลาง ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป
หลายคนคงจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าอย่างนั้นควรให้ค่าขนมลูกสักเท่าไรดีละ จึงจะเหมาะสม ไม่มากไป ไม่น้อยไป
อันที่จริง จำนวนค่าขนมลูกนี้ไม่ได้มีค่าที่ค่อนข้างตายตัวอะไรนัก มันจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เมื่อลูกโตขึ้น มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น อย่างถ้าลูกยังเป็นวัยเด็ก อยู่สักประมาณชั้นอนุบาล ชั้นประถม ที่โรงเรียนมีอาหาร ขนม นมจัดเตรียมไว้ให้ คุณพ่อคุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องให้เงินลูกมากนักก็ได้ สามารถให้สัก 20 บาท หรือ 30 บาทก็ได้ แต่ไม่ควรเกิน 40 บาท เพราะลูกอาจเผลอนำไปใช้ฟุ่มเฟือยและช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกเพื่อนเกเรไถเงินด้วย อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ เพราะเด็กบางคนที่พ่อแม่ให้เงินมากเกินไป มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกเพื่อนไถเงินหรือไม่ก็เลี้ยงเพื่อนโดยไม่จำเป็น พฤติกรรมเหล่านี้ อาจส่งผลต่อตัวเด็ก ทั้งในเรื่องของอุปนิสัยหรือภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ ยามโตเป็นผู้ใหญ่ได้
การให้เงินค่าขนมสำหรับเด็กวัยต่อมา คือ วัยมัธยม วัยนี้เด็กจะมีการรังแกกันแบบเด็ก ๆ น้อยลง แต่ในขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็มีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าขนม อุปกรณ์เครื่องเขียนต่าง ๆ ดังนั้น ค่าขนมสำหรับเด็กในวัยนี้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นมาจากเดิม คือ ควรอยู่ที่ราว ๆ 50 บาท ถึง 100 บาท ไม่ควรมากหรือน้อยกว่าจำนวนนี้ เนื่องจากค่าอาหารในโรงเรียนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราว ๆ 25-35 บาท บวกกับค่าน้ำ (บางโรงเรียนไม่มีตู้กดน้ำให้นักเรียนหรือถึงมีก็สกปรก เด็กนักเรียนในโรงเรียนเหล่านั้นจึงต้องซื้อน้ำขวดกิน) และค่ารถกลับบ้าน รวมกันแล้วน่าจะอยู่ที่ราว ๆ 40-50 บาท เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ค่าขนมตามจำนวนที่กล่าวมา แต่อย่างที่บอก ว่าไม่ควรให้มากกว่า 100 บาท เนื่องจากเด็กอาจจะนำไปใช้ฟุ่มเฟือย เช่น นำไปเข้าร้านเกม นำไปใช้จ่ายในสิ่งของฟุ่มเฟือย สิ่งของมอมเมาได้
การให้ค่าขนมลูก ๆ ในวัยสุดท้าย ได้แก่ วัยเรียนมหาวิทยาลัย (หรือถ้าลูกใครเรียนจบแล้วยังไม่หางานทำ ก็ต้องให้ค่าขนมต่อไป) ในวัยนี้อาจถือว่าเป็นวัยที่ใช้เงินมากที่สุดเลยก็ว่าได้ ไหนจะค่าเทอมที่อยู่ที่หลักหมื่น ต่างจากสมัยเรียนประถมกับมัธยมที่ค่าเทอมอยู่แค่หลักพันเท่านั้น อีกทั้งในวัยนี้ ลูกเริ่มจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อันเป็นวัยที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สูงกว่าตอนเป็นวัยรุ่น ทั้งค่าที่พักในกรณีที่บ้านอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัย ค่ากินที่สูงกว่าเดิมมาก ไหนจะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นอกเหนือจากค่าเทอมที่ทางมหาวิทยาลัยให้จ่าย เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็จำเป็นต้องเพิ่มเงินค่าขนมให้อีก จำนวนค่าขนมที่ดูจะเหมาะสมที่สุด คือ 100-200 บาท (ในกรณีที่อยู่บ้านตัวเอง) หรือไม่ก็ 200-500 บาท (ในกรณีที่ต้องเช่าห้องอยู่)
หรืออีกวิธีหนึ่งคือการโอนค่าขนมแบบเป็นก้อนให้ใช้แบบเดือนต่อเดือน หากจะให้ค่าขนมด้วยวิธีนี้ อาจจะต้องมีการนำค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าหอ ค่ากิน ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่อาจมี มาบวกลบกันด้วย ให้ได้เป็นจำนวนที่แน่นอน แล้วค่อยทำการโอนต่อไป บางรายอาจโอนแค่เดือนละ 1,000-4,000 บาท แต่ในบางราย อาจจะต้องโอนเงินค่าขนมสูงถึงเดือนละ 10,000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งจำนวนเหล่านี้ ย่อมขึ้นอยู่กับฐานะทางบ้านของเด็กคนนั้น ๆ ว่าพ่อแม่มีฐานะเป็นอย่างไร แต่โดยปกติจำนวนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการโอนเงินเป็นค่าขนมไปให้ลูกในแต่ละเดือน ควรจะอยู่ที่ 3,000-7,000 บาท เพราะจำนวนเท่านี้จะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายแทบทุกอย่างในแต่ละเดือน ยิ่งหากลูกประหยัดการใช้เงิน ไม่ใช้เที่ยวหรือใช้ซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือย ย่อมมีเงินเหลือเก็บเป็นทุนอีกด้วย
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ก็คือ จำนวนเงินที่เหมาะสมสำหรับการให้เงินค่าขนมให้ลูกในแต่ละวัย ทั้งนี้ ก่อนที่พ่อแม่จะตัดสินใจให้ค่าขนมลูกด้วยเงินจำนวนเท่าใด ควรจะมีการคำนวณค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในบ้าน อย่าคิดแต่ว่าจะให้เงินค่าขนมลูกทีละมาก ๆ เพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากจะทำให้เงินที่ควรนำมาใช้สำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ลดลงไปแล้ว ยังเป็นการบ่มเพาะพฤติกรรมที่ไม่ดีให้กับลูกอีกด้วย มีหลายกรณีที่พ่อแม่เอาแต่ประเคนค่าขนมให้ลูกทีละมาก ๆ แล้วปิดไม่ให้ลูกรู้ ว่าค่าใช้จ่ายภายในบ้านมีมากเพียงใด สุดท้ายลูกกลายมาเป็นคนเห็นแก่ตัว ใช้เงินมือเติบ ยอมรับความจริงไม่ได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น พ่อแม่ควรระวังในเรื่องของการให้ค่าขนมลูกเอาไว้ให้มาก ๆ ด้วย