แม้วันสงกรานต์จะเพิ่งผ่านไปหมาดๆ แต่หลายคนอาจเริ่มคิดแล้วว่าปีหน้าจะไปเที่ยวที่ไหนดี วันนี้เรามาวางแผนเก็บเงินเพื่อเที่ยวกันดีกว่า
-
ตั้งงบเที่ยว
เริ่มจากเราอยากไปเที่ยวที่ไหน และต้องใช้เงินทั้งหมดเท่าไหร่ ทั้งนี้สามารถค้นหาข้อมูลคร่าวๆ จากอินเทอร์เน็ตได้ว่าไปที่ไหนใช้เงินประมาณเท่าไหร่ หากต้องการไปต่างประเทศแต่มีงบไม่มากนัก อาจจะใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ นอนที่บ้านพักเยาวชน หรือทานอาหารรสชาติอร่อยที่ราคาประหยัด ยกตัวอย่างเช่น ตัวผู้เขียนเองอยากจะไปไต้หวันสักหนึ่งสัปดาห์ ตั๋วเครื่องบินไม่ต้องแพงมาก แต่ขอที่พักดีหน่อย ตั้งงบไว้ 30,000 บาท
-
วางแผนเก็บเงินให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้
เมื่อทราบแล้วว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ ก็ถึงเวลาวางแผนว่าจะนำเงินมาจากไหน สำหรับผู้เขียนคิดว่าตัวเองจะเก็บเงินเดือนละ 3,000 บาท เมื่อเงินเดือนออกก็หักเข้าบัญชีท่องเที่ยวไว้เลย เมื่อครบ 10 เดือน จะมี 30,000 บาทพอดี และยังคิดต่อไปว่าหลังจากนี้ประมาณ 3-4 เดือนน่าจะต้องซื้อตั๋วเครื่องบิน ซึ่งตอนนั้นจะมีเงินเก็บประมาณหมื่นบาทสำหรับซื้อตั๋วเครื่องบินพอดี แต่หากมีตั๋วราคาถูกออกมาก่อนหน้านั้น แผนสำรองของผู้เขียนคือสำรวจว่าบัญชีตัวเองมีเงินสำรองยืมมาใช้ก่อนได้หรือไม่ หากไม่มีหรือนำออกมาแล้วจะมีเหลือไม่เพียงพอสำหรับยามฉุกเฉิน ผู้เขียนจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีเก็บเงินโดยเก็บในเดือนแรกๆ ให้มากขึ้นและลดค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่ไม่จำเป็นลง หรือหารายได้เสริมพิเศษ หากไม่สามารถทำได้จริงๆ คงต้องปรับลดค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวลง เช่น เปลี่ยนไปนอนบ้านพักเยาวชนแทน เป็นต้น
-
วางแผนเที่ยว มองหาโปรโมชั่น
วางแผนการเที่ยวให้ละเอียดแต่ยังคงยืดหยุ่นได้ เราควรจะวางแผนว่าจะไปเมืองไหนเมื่อไหร่บ้าง และจะเดินทางอย่างไร เพื่อที่จะได้เริ่มมองหาโปรโมชั่น เช่น โปรโมชั่นตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ตั๋วรถไฟ หรือบัตรชมการแสดง เนื่องจากการจองล่วงหน้ามีโอกาสได้ราคาที่ถูกกว่า และด้วยเหตุผลที่ว่าโปรโมชั่นตั๋วเครื่องบินมักจะช่วยให้เราประหยัดเงินไปได้มาก ดังนั้น ผู้เขียนจึงมักจะเลือกซื้อตั๋วเครื่องบินก่อนจะจองอย่างอื่น แต่อาจเลือกจองอย่างอื่นไปก่อนในกรณีที่สามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงวันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การวางแผนเที่ยวจะช่วยให้เราสามารถมองหาโปรโมชั่นดีๆ ได้ง่ายขึ้น
-
จองก่อน จ่ายทีหลัง หากทำได้
การจองที่พักสามารถเลือกแบบจ่ายเงินทันที หรือจ่ายเงินใกล้ๆ วันจะเดินทาง หรือจ่ายในวันที่เข้าพักได้เลย โดยส่วนตัวผู้เขียนชอบที่จะจ่ายใกล้ๆ วันเดินทาง เนื่องจากเผื่อไว้หากมีการปรับแผน และยังได้รับดอกเบี้ยเป็นของแถม รวมทั้งยังรู้สึกอุ่นใจว่าในช่วงเดินทางเรามีที่พักแล้ว แต่หากเทียบราคาดูแล้วว่าการจองกับโรงแรมโดยตรงซึ่งปกติจะต้องจ่ายเงินทันทีนั้นถูกกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ ผู้เขียนก็จะเลือกจ่ายเงินทันที
-
เที่ยวเต็มที่
หลังจากวางแผนจัดการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว จะทำให้เราทราบว่ามีเงินเหลืออีกกี่บาท หากเราบริหารจัดการเงินก้อนใหญ่ๆ ได้ดีพอ เราอาจจะพบว่าตัวเองมีเงินเหลือพอที่จะทำอย่างอื่นได้อีก ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนเองอาจจะใช้เงินที่ประหยัดได้จากการซื้อตั๋วได้ถูกกว่างบที่ตั้งไว้ ไปใช้ในการซื้อของโปรด คือ ชานมไข่มุกมาชิมทุกร้าน และทำรีวิวชานมไข่มุกร้านเด็ดเพื่อสมทบทุนสำหรับการเดินทางครั้งหน้า เป็นต้น รู้อย่างนี้แล้ว ก็ไปเที่ยวกันเถอะ สนุกและพักผ่อน พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้เต็มที่
-
สรุปค่าใช้จ่าย
ระหว่างช่วงท่องเที่ยว ในแต่ละวันหากไม่เหนื่อยจนเกินไป เราควรสรุปค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปในวันนั้น เพื่อตรวจสอบดูว่าเราได้ใช้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ พรุ่งนี้ควรจะใช้น้อยลง หรือมีเงินเหลือซื้อของเพิ่มขึ้นได้
การท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปยังสถานที่ใหม่ๆ นั้นเป็นการเปิดประสบการณ์ชีวิตที่ดีทีเดียว เรื่องเงินไม่ควรจะเป็นอุปสรรค การวางแผนการเงินที่ดีและการกันเงินสำหรับท่องเที่ยวไว้จะช่วยให้เราเที่ยวได้อย่างสบายใจ มีความสุข และได้ประโยชน์อย่างเต็มที่