ผู้ที่เลือกทำธุรกิจส่งออกส่วนมากก็เนื่องจากเห็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ข้างหน้า ในการนำพาสินค้าที่เราผลิตไปยังที่ที่มีความต้องการ โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ภายในประเทศของเราเท่านั้น การทำธุรกิจภายในประเทศแม้จะดำเนินธุรกิจได้ง่าย เนื่องจากมีความคุ้นเคยกับระบบแบบไทย ๆ ตลาดก็คุ้นเคย เนื่องจากมีภาษา วัฒนธรรม รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เราเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อนอะไร แต่การทำธุรกิจในประเทศก็มีข้อจำกัดในเรื่องของตลาดที่แคบกว่าการแข่งขันกันผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทเดียวกัน เป็นต้น นักธุรกิจหลายท่านจึงต้องการทำธุรกิจส่งออกเพื่อขยายตลาดทำให้สินค้าที่ผลิตขึ้นมานอกจากจะจำหน่ายภายในประเทศได้แล้ว ยังสามารถโกอินเตอร์ไปยังต่างประเทศเพื่อเพิ่มยอดขายให้กับเราได้อีกด้วย
การทำธุรกิจส่งออกเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบหลายปัจจัยด้วยกัน แม้จะมีข้อดีและโอกาสที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แต่ก็มีข้อจำกัดและความเสี่ยงอยู่เช่นกันที่ผู้ทำธุรกิจต้องเตรียมพร้อมให้ดีแล้วการประสบความสำเร็จจากธุรกิจส่งออกก็จะไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด
เลือกประเทศที่จะส่งออก
สิ่งสำคัญอันดับแรก ๆ ของการทำธุรกิจส่งออกคือคุณจะส่งสินค้าไปขายลูกค้าที่ประเทศไหน ประเทศที่เลือกควรเป็นประเทศที่ค่อนข้างให้โอกาสในการค้า การลงทุนและการทำธุรกิจแบบเสรีมีความเป็นประชาธิปไตย ต้องทำการศึกษาบรรยากาศในการลงทุนของประเทศนั้น ๆ ว่าบรรยากาศการลงทุนดีหรือไม่ เริ่มตั้งแต่ภาพใหญ่อย่างระบบเศรษฐกิจ รูปแบบการเมืองการปกครอง ภาษาที่ใช้ ประเพณีวัฒนธรรมและรูปแบบในการดำเนินชีวิต รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจและเรื่องของภาษีด้วย
ต่อมาจึงศึกษาในภาพที่ย่อยลงมาในธุรกิจเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินค้าของเรา เช่น ในประเทศนั้นมีคู่แข่งเยอะหรือไม่ มีลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าเรามากน้อยแค่ไหน มีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจมากน้อยแค่ไหน เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาในเชิงลึกก่อนที่จะเลือกลงทุน โดยผู้ทำธุรกิจส่งออกควรให้ความสำคัญด้วยการตั้งงบประมาณสำหรับการทำวิจัยตลาดในเรื่องนี้โดยเฉพาะ
เริ่มวางแผนธุรกิจส่งออก
เมื่อได้ประเทศที่เราต้องการส่งสินค้าออกไปขายแล้ว ก็ต้องเริ่มการวางแผนธุรกิจแบบละเอียด แผนธุรกิจที่ดีมีความสำคัญที่จะช่วยนำพาให้ธุรกิจส่งออกประสบความสำเร็จได้ โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมาย ตั้งงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และขั้นตอนในการดำเนินงานอย่างละเอียด รวมทั้งระบุชื่อผู้ที่รับผิดชอบงานในแต่ละส่วนด้วย แผนธุรกิจส่งออกนั้นไม่ได้ทำขึ้นมาง่าย ๆ หากอยากให้สำเร็จควรต้องเป็นแผนที่มีความเป็นไปได้และมีความละเอียดรอบคอบมาก
หากเราไม่มีประสบการณ์หรือมีประสบการณ์น้อยในธุรกิจส่งออก การหาตัวช่วยจากผู้มีประสบการณ์มาเป็นที่ปรึกษาหรือช่วยวางแผนธุรกิจของเราก็เป็นไอเดียที่ดีช่วยให้แผนธุรกิจของเรามีความรอบคอบรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบัญชีและภาษีที่เป็นเรื่องของเงิน ๆ ทอง ๆ หากพลาดพลั้งไปก็จะถือว่าไม่ทำตามกฎระเบียบของประเทศนั้น ๆ เป็นความผิดแม้ไม่ได้ตั้งใจแต่ก็มีโทษจะเป็นการปรับหรือโทษอะไรก็ต้องแล้วแต่กฎหมายของแต่ละประเทศอีก
รายละเอียดในแผนธุรกิจ
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าแผนธุรกิจที่ดีและมีความละเอียดจะช่วยให้ธุรกิจส่งออกมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นแผนที่ได้ผ่านการระดมความคิดรอบด้านครบถ้วนสมบูรณ์จะขาดเหลือก็คงเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงที่คงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป เรื่องสำคัญที่ควรอยู่ในแผนธุรกิจส่งออกของเราเพื่อที่เราจะมีขั้นตอนในการดำเนินงานและมีการกำหนดงบประมาณไว้ล่วงหน้าได้ก็มีดังนี้
- ตัวสินค้าและราคา หลังจากทำการวิจัยตลาดแล้วต้องมองกลับมาที่ตัวสินค้าที่เราผลิตอยู่ว่าจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมอะไรอีกหรือไม่ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าในตลาดใหม่ หากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบ้างก็ควรทำไม่ควรยึดติดกับสินค้าเดิมที่จำหน่ายอยู่ในประเทศเท่านั้น
- ช่องทางในการจัดจำหน่าย การวางแผนเรื่องช่องทางในการจัดจำหน่ายก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องระบุอยู่ในแผนงานด้วย ว่าเราจะวางขายสินค้าของเราที่ใด เช่น ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เกต ร้านค้าปลีกอย่างร้านสะดวกซื้อหรือเราจะมีหน้าร้านเป็นของตัวเองและจะอยู่ที่แหล่งใด จะมีช่องทางการซื้อขายออนไลน์ให้ลูกค้าเลือกด้วยหรือไม่ ช่องทางในการจำหน่ายที่เหมาะสมจะทำให้สินค้าของเราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็ว
- วิธีในการขนส่งสินค้า การขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศหากปริมาณมาก ก็เป็นโดยทางเรือ ซึ่งราคาจะไม่แพง แต่ต้องบริหารจัดการให้ดีเนื่องจากใช้ระยะเวลามาก หากเป็นสินค้าที่ต้องส่งเร่งด่วนก็มีทางเครื่องบินให้เลือก แม้จะเร็วแต่ค่าใช้จ่ายก็จะสูงมากเหมาะกับสินค้าที่มีน้ำหนักเบาและปริมาณไม่มากนัก หากส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้ ๆ กันก็ยังมีวิธีขนส่งทางรถยนต์หรือรถไฟให้เลือก ซึ่งก็ต้องวางแผนให้ดีว่าสินค้าและตลาดของเราเหมาะที่จะเลือกใช้วิธีการขนส่งแบบให้เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
- เงื่อนไขในเรื่องการซื้อขาย ที่เป็นตัวกำหนดว่าราคาสินค้าครอบคลุมเรื่องอะไรบ้างก็มีความสำคัญที่ต้องกำหนดลงไปในสัญญาซื้อขายด้วย เช่น ราคา O.B. หรือ C.I.F. ที่มีความแตกต่างกันในเรื่องความรับผิดชอบต่อสินค้า หากเป็นราคา F.O.B. ก็จะถือว่าหลังสินค้าขึ้นเรือไปจะถือว่าได้ส่งมอบเป็นความรับผิดชอบของผู้ซื้อแล้วจากนั้น หากเป็นราคา C.I.F. ผู้ขายจะรับผิดชอบสินค้าและส่งมอบให้จนถึงท่าเรือปลายทางเลย หากกำหนดราคาเป็นแบบ C.I.F. ผู้ทำธุรกิจส่งออกก็ควรจะต้องมีการทำประกันภัยสินค้าไว้ด้วย หากเกิดความเสียหายขึ้นในระหว่างขนส่ง บริษัทประกันเป็นผู้ชดเชยค่าเสียหายให้กับลูกค้า เป็นต้น
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า หากอยากทำธุรกิจส่งออกให้ประสบความสำเร็จต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ ในละเอียดรอบคอบมากที่สุด เนื่องจากการทำธุรกิจส่งออกมีความแตกต่างกับการทำธุรกิจภายในประเทศอย่างมากมีเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องหาความรู้และศึกษาในเชิงลึกเพื่อทำการวางแผนและเตรียมพร้อมให้มากที่สุด เพื่อที่เราจะสามารถเป็นผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจส่งออกได้