ออมเงิน เริ่มยังไงดี เปิดสูตรออมเงินสำหรับมือใหม่ให้เก็บเงินได้จริง
สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่ยังนึกไม่ออกว่า ออมเงิน เริ่มยังไงดี เราขอแนะนำหลักสูตรการบริหารเงินแบบง่าย ๆ ด้วยการแบ่งเงินออกเป็นสัดส่วน ใช้สูตร 50-30-20 เป็นสูตรที่จะช่วยให้เรามีเงินใช้จ่ายไปตลอดทั้งเดือน โดยที่ไม่ต้องมานั่งปวดใจในช่วงสิ้นเดือน เงินก้อนแรก 50% จะเอาไว้สำหรับการใช้จ่ายในแต่ละเดือน เงินก้อนที่สอง 30% ใช้จ่ายสำหรับการสร้างความสุข และเงินก้อนสุดท้าย 20% กันไว้สำหรับการออมโดยเฉพาะ
ออมเงิน เริ่มยังไงดี เปิดหลักสูตรการบริหารเงินแบบแบ่งเป็นสัดส่วน
สูตร 50-30-20 เงินเดือน 15,000 บาท
- เงินก้อนแรก 50% จำนวน 7,500 บาท
ในจำนวน 7,500 บาทนี้เราจะต้องเอาไว้ใช้จ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเช่า หรือเงินผ่อนบ้าน ค่างวดรถ ค่าบัตรเครดิต ค่าอุปโภคบริโภค ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค และเงินที่เราจะให้พ่อกับแม่ เป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไปด้วยความจำเป็นเท่านั้น เราจึงต้องพิจารณาก่อนที่จะหยิบเงินก้อนนี้ออกมาใช้จ่ายว่ามีความจำเป็นหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ความต้องการของเราเท่านั้น
- เงินก้อนที่สอง 30% จำนวน 4,500 บาท
เป็นเงินสำหรับใช้เพื่อสร้างความสุขให้กับชีวิต อย่างเช่นค่าอินเตอร์เน็ต ค่า Netflix ไปกินอาหารนอกบ้าน ออกไปท่องเที่ยว ไปจับจ่ายใช้สอยซื้อของที่อยากได้ อย่างเช่น เสื้อผ้า กระเป๋า หรือเครื่องสำอาง เพื่อเป็นการให้รางวัลตัวเองสำหรับการทำงานหนัก และพยายามใช้จ่ายอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด แต่ให้พิจารณาก่อนหยิบเงินออกไปใช้ทุกครั้งว่าสมควรหรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นเงินที่สร้างความสุขให้กับชีวิต แต่ถ้าเดือนที่แล้วเราซื้อกระเป๋ามาแล้ว 1 ใบ ในอีก 3 เดือนต่อไปก็ควรจะงดซื้อกระเป๋าไปก่อน
- เงินก้อนสุดท้าย 20% จำนวน 3,000 บาท
ในจำนวนเงิน 3,000 บาทจะสามารถแบ่งออกได้เป็นอีก 2 ก้อนย่อยๆ ประกอบไปด้วยเงินที่เก็บเอาไว้สำหรับใช้ฉุกเฉิน 1,500 บาท และเงินที่เก็บเอาไว้ใช้ยามเกษียณอีก 1,500 บาท เราสามารถแบ่งเงินเก็บออกตามวัตถุประสงค์ที่ตรงตามความต้องการของเราได้เลย หรือใครที่มองว่าเงินเก็บจำนวน 3,000 บาทต่อเดือนน้อยไป จะแบ่งเงินจากก้อนที่ 2 มาเก็บเพิ่มก็ได้เหมือนกัน
เปิดเทคนิคออมเงินยังไงให้กลายเป็นเรื่องง่าย
ใครที่มองว่าการออมเป็นเรื่องยาก เพราะในทุกวันนี้ค่าครองชีพพุ่งขึ้นไม่หยุด จะจับจ่ายใช้สอยอะไรก็เจอแต่ของราคาแพง แถมค่าแรงของบางคนก็ยังอาจจะไม่มากพอที่จะสามารถกันเงิน 20% มาเก็บไว้ได้ หากเพื่อนๆ รู้สึกว่าสูตรการแบ่งเงินเพื่อออมไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เราก็มีเทคนิคอื่นๆ มาแนะนำให้ทุกคนได้ลองทำตามกัน ดังนี้
-
จ่ายเท่าไหร่ เก็บเท่านั้น
เป็นวิธีการที่เหมาะสำหรับเหล่าขาช้อปสุดๆ ใครที่ซื้อของเก่งจนไม่มีเงินเก็บต้องลองวิธีนี้เลย เพราะจะกลายเป็นเบรกเวลาเงินเดือนออกที่ช่วยหยุดการใช้เงินของเราได้อย่างอยู่หมัด เพราะไม่ว่าเราจะใช้เงินไปสำหรับการซื้อของที่ต้องการมากแค่ไหน เราก็ต้องแบ่งเงินจำนวนที่เท่ากันมาเก็บไว้เท่านั้น วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้เรามีสติในการซื้อของที่ต้องการมากขึ้นกว่าเดิม อย่างเช่น ถ้าเราอยากได้กระเป๋าใบละ 5,000 บาท เราก็ต้องมีเงินเอาไปเก็บ 5,000 บาทเหมือนกัน ใครที่ช้อปเยอะก็ต้องเก็บเงินเยอะตามไปด้วย
-
หยอดกระปุกตามความฝัน
ถ้าเรามีเป้าหมายในการออมเงิน ก็จะช่วยให้เราสามารถออมเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย แต่ละคนก็มีความฝันที่แตกต่างกันออกไป ให้เราพิจารณาตัวเองว่าเราต้องการอะไรบ้าง อย่างเช่น อยากดาวน์บ้านสักหลังก่อนเกษียณ อยากเก็บเงินไปดูคอนเสิร์ต อยากมีเงินไปเที่ยวต่างประเทศ เพื่อนๆ จะใช้กระปุกออมสิน หรือบัญชีเงินฝากเป็นตัวเก็บเงินก็ได้
หลังจากที่ได้เงินเดือนมาเรียบร้อยแล้ว ให้เราแบ่งสรรปันส่วนหยอดกระปุกเก็บเงินที่เราต้องการ อย่างเช่น เก็บเงินดาวน์บ้าน 10% ของเงินเดือน เก็บเงินดูคอนเสิร์ต 5% ของเงินเดือน เก็บเงินไปเที่ยวอีก 10% ของเงินเดือน แต่สิ่งสำคัญสำหรับการใช้วิธีการดังกล่าวก็คือต้องมีวินัยในการออมด้วย จึงจะประสบความสำเร็จ
-
ลงทุนต่อยอดเงินเก็บ
สำหรับใครที่รู้สึกว่าการแบ่งสรรปันส่วนเพื่อเก็บเงินทำให้เงินเก็บค่อนข้างน้อย เพราะเราเก็บเพียงแค่ 20% จากเงินเดือนเท่านั้น ตัวเลขที่เพิ่มมาไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้เราอยากออมเงินต่อ เราขอแนะนำว่าให้เอาเงินเก็บที่มีไปลงทุนเลย
ถึงแม้ว่าวิธีการอาจจะยากขึ้นมากว่าการฝากเงินสักหน่อย แต่ผลตอบแทนที่เราจะได้รับถือว่ามากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากเป็นไหนๆ เหมือนกัน เราขอแนะนำให้เริ่มต้นลงทุนง่ายๆ อย่างลงทุนในกองทุนรวม สลากออมสิน หากใครที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการลงทุนอยู่แล้ว จะเอาไปลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้ก็น่าสนใจเหมือนกัน
สรุปแล้ว ออมเงิน เริ่มยังไงดี คำตอบก็คือเริ่มต้นจากการแบ่งสรรปันส่วนเงินตั้งแต่ได้เงินเดือนมาในทันที ที่อาจเป็นไปได้ยาก ถ้าเราจะเก็บเงินหลังจากที่ใช้จ่ายไปตลอดทั้งเดือนเรียบร้อยแล้ว เหลือเท่าไหร่เก็บเท่านั้น เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วเงินก็มักจะเหลือไม่ถึงสิ้นเดือน เพราะฉะนั้น เมื่อได้เงินมาแล้วเราจึงควรแบ่งสรรปันส่วนเอาไปเก็บไว้ก่อนเลย 1 ก้อน จากนั้นก็ใช้เท่าที่เหลืออยู่ด้วยการแบ่งสรรปันส่วนว่าอะไรจะใช้ด้วยวัตถุประสงค์ไหน เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้การออมเงินของเรากลายเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว