ย่างเข้าสู่กลางค่อนไปทางปลายเดือนเมษายน เหมือนอากาศร้อนจะพาฉุดให้ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดพุ่งสูงขึ้นมาด้วย โดยในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบต่างพร้อมใจกันปรับขึ้นราคากันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.73 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับเพิ่มขึ้นอีก 4.06 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ไม่ต่างกันกับราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.97 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.23 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ในส่วนของราคาน้ำมันสำเร็จรูปนั้น น้ำมันเบนซินออกเทน 95 ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.21เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหมือนกันกับราคาน้ำมันดีเซล ที่เพิ่มขึ้นอีก 4.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
เหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นนี้ เกิดจากอุปสงค์ที่ปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา ซึ่งปรับลดลงอย่างต่อเนื่องมาตลอด 4 สัปดาห์ นับแต่กลางเดือนมีนาคม ครั้นการส่งออกน้ำมันดิบจากอิรักเองก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยลดลงจากเดือนก่อนถึง 200,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ในส่วนของอุปทาน ทั่วโลกยังมีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอินเดีย ที่สำนักวางแผนและวิเคราะห์ปิโตรเลียม สังกัดกระทรวงน้ำมันของอินเดียรายงานว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อินเดียมีการบริโภคน้ำมันมากถึง 4.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ปี 2558) ถึงร้อยละ 16.4 ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุปสงค์การใช้น้ำมันโดยรวมของโลกเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันของจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป จะทรงตัวอยู่กับที่ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่า ราคาน้ำมันดิบ รวมถึงราคาน้ำมันสำเร็จรูป ทั้งเบนซินและดีเซล ณ เวลานี้ จะทรงตัวไม่เกินไปจากนี้ และอาจมีการปรับตัวลดลงบ้างในช่วงปลายเดือน โดยตัวการหลักที่น่าจับตาอยู่ที่ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ นั่นคือ อินเดียกับจีน เป็น 2 ประเทศ ที่ดำเนินการเกี่ยวกับน้ำมันใน 2 บทบาท คือ ผู้สร้างอุปทานและผู้ทำอุปสงค์ตามลำดับ
กล่าวคือ อินเดียในช่วงเวลานี้กำลังเดินหน้าสูบน้ำมันใช้อย่างเต็มพิกัด ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน โดยในส่วนของน้ำมันเบนซินนั้น ตลาดรถยนต์ในอินเดียกำลังบูมสูงสุดในรอบ 5 ปี ไม่ต่างจากประเทศไทยสมัยนโยบายรถคันแรก ประชาชนต่างซื้อหาจับจองและใช้รถกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันพุ่งสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 15 ปี ที่ระดับ 515,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ด้านน้ำมันดีเซลนั้นก็เพิ่มขึ้นไม่ต่างกัน จากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและการผลิตถ่านหินในอินเดีย ร่วมกับภาวะภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรอินเดียต้องหันมาใช้เครื่องสูบน้ำกันอย่างจ้าละหวั่น ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลของประเทศอินเดียพุ่งสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี ถึงระดับ 1.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งหมดนี้ไม่รวมกับประเด็นที่สหรัฐอเมริกาและประเทศฝั่งยุโรปเองก็ยังมีการบริโภคน้ำมันอย่างทรงตัวต่อเนื่อง ไม่ลดลงเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม จีนดูเหมือนจะกลายเป็นพระเอกในเวลานี้ จากการที่รัฐบาลจีนให้โควตาส่งออกน้ำมันเบนซินแก่โรงกลั่นของจีนในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 149% ที่ระดับ 329,000 บาร์เรลต่อวัน โดยมีบริษัท JX Holding ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงกลั่นรายใหญ่ของญี่ปุ่น ก็ได้มาช่วยสมทบ ด้วยการหันมาทำการกลั่นน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นเพื่อส่งออกต่างประเทศ จากเดิมกลั่นแต่น้ำมันดีเซลเป็นหลัก เช่นเดียวกับโรงกลั่น Mailiao ของไต้หวัน ซึ่งมีกำลังการกลั่นน้ำมันถึง 540,000 บาร์เรลต่อวัน ก็จะเริ่มเดินเครื่องกลั่นน้ำมันต่อแล้วหลังจากปิดซ่อมบำรุงมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมขณะที่ในส่วนของน้ำมันดีเซล โรงกลั่น Huizhou ของบริษัท CNOOC ของจีน ก็มีแผนที่จะส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือนเมษายนนี้เพิ่มขึ้น 10,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ระดับ 25,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว อุปสงค์จากจีน รวมถึงประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออก น่าจะเพียงพอต่ออุปทานจากฝั่งอินเดีย
โดยทั้งหมดนี้ ไม่ต้องนับรวมประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC รวม 18 ประเทศ ที่ยังตกลงกันถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบยังไม่ได้ เพราะซาอุดิอาระเบียยืนกรานกระต่ายขาเดียวว่า จะไม่คงปริมาณการผลิตน้ำมัน ถ้าอิหร่านไม่เข้ามาร่วมมือด้วย แต่อิหร่านที่กำลังถูกคว่ำบาตรอยู่ก็หาได้ยี่หระไม่ เดินหน้าผลิตของตัวเองไปอย่างไม่สนใจใคร ทำให้กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC น่าจะยังไม่มีอิทธิพลสำคัญต่อราคาน้ำมันในช่วงเวลานี้
จากปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลข้างต้น คาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทยในช่วงเดือนเมษายนนี้ อยู่ในสภาวะทรงตัว อาจมีการปรับขึ้นราคาสลับกับลดลงบ้างในช่วงสั้น ๆ แต่จะไม่มีการดีดตัวรุนแรงอย่างแน่นอน
ในส่วนของราคาก๊าซ NGV ในประเทศไทย จากที่ช่วงต้นเดือนเมษายน มีความกังวลจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อประเด็นที่ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ ณ แหล่งเยตากุน ในสหภาพเมียนมา ได้มีแผนการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ประจำปีบนแท่นผลิตร่วม 10 วัน ว่าอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้า รวมถึงราคาของก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุด ณ เวลานี้ระบุแล้วว่า การซ่อมบำรุงแหล่งเยตากุนได้แล้วเสร็จลงเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด เช่นเดียวกับที่ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เอง ก็ได้ออกมาตรฐานของขวัญปีใหม่ไทยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ด้วยการปรับลดราคาก๊าซ NGV ลง 0.11 บาทต่อกิโลกรัม ตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง ทำให้ราคาก๊าซ NGV ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 13.36 บาทต่อกิโลกรัม เฉพาะสถานีบริการก๊าซ NGV ที่อยู่ห่างจากจากสถานีจุดจ่ายก๊าซธรรมชาติหลักไม่เกิน 50 กิโลเมตร มีผลมาตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมานี่เอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ภาวะราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มทรงตัวตลอดเดือน แต่ผู้ใช้รถใช้ถนนก็ไม่ควรชะล่าใจ ควรใช้น้ำมันกันอย่างประหยัด เพื่อช่วยประเทศชาติลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมัน รวมถึงก๊าซธรรมชาติ และเหนืออื่นใดก็เพื่อเซฟเงินในกระเป๋าของตัวท่านเอง เตรียมตัวไว้รับวันหยุดยาวในช่วงต้นเดือนหน้ากันด้วย