ถ้าหากจะจัดอันดับสื่อสังคมโซเชียลมีเดียที่ได้รับคะแนความนิยมสูง เราก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่างInstagram นั้นติดอยู่ในอันดับต้น ๆ จากความโดดเด่นเข้าตาของฟีคเจอร์ต่าง ๆ ในการถ่ายภาพและแต่งภาพผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนที่ช่วยให้การสร้างสรรภาพถ่ายด้วย filter ต่าง ๆ เป็นเรื่องสนุกและเพิ่มอารมณ์หลากหลายให้กับรูปถ่ายแต่ละรูปได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นคนที่ชอบภาพแนวอาร์ตตัวพ่อ หรือ แนวคลาสสิคตัวแม่ หรือจะออกแนวชิค ๆ คูลล์ ๆ ก็สามารถปรับแต่งและเนรมิตได้ตามความต้องการเพียงปลายนิ้ว
ทำให้ผู้ใช้งานผ่าน IG ต่างก็ติดอกติดใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ทดลองใช้ อีกทั้งแอพพลิเคชั่น IG ยังมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อเข้ากับระบบออนไลน์อื่น ๆ ได้สะดวก ทำให้ผู้ใช้งานสามารถแบ่งปันช่วงเวลาและรูปถ่ายสวย ๆ ให้กับกลุ่มเพื่อนในสื่อโซเชียลที่มีบัญชีชื่ออยู่ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter และ Foursquare ความสำเร็จ ของ Instagram สามารถวัดได้จากฐานจำนวนผู้ใช้งานในปัจจุบันที่มีมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก โดยที่ยอดผู้ใช้งานในแต่ละวันนั้นมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 11 ล้านคนเลยหล่ะค่ะ
จุดเริ่มต้นเรื่องราวของแอพพลิเคชั่น Instagram นั้นเกิดขึ้นที่เมืองซานฟรานซิสโก จากการคิดค้นของสองหนุ่ม เดวิน ซิสตรอม และ ไมเคิล ไมค์ ครีเกอร์ ซึ่งในขณะนั้นเขาทั้งคู่ได้พัฒนา IG ให้ทำงานในระบบปฏิบัติการบน HTMLS เท่านั้น จนกระทั่งในปี 2010 ซีสตรอมได้ระดมเงินทุนมาลงเพิ่มอีก 500,000 เหรียญสหรัฐเพื่อเปิดประตูสู่การทำงานแบบแอพพลิเคชั่น และเป็นการเปิดตัว Instagram บนเครือข่ายออนไลน์ Appstore ของแบรนด์ดัง Apple ในปีเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นบริษัทยังมีพนักงานน้อยกว่า 10 คนด้วยซ้ำ พอบริษัทเดินเกมธุรกิจเข้าสู่ปี 2011 Instagram ก็จัดฟีคเจอร์เก๋ ๆ ด้วยการติดแฮชแท็กป้ายชื่อลงไปในสิ่งที่ผู้ใช้งานพิมพ์ ซึ่งระบบได้รับการออกแบบให้ช่วยค้นหารูปหรือข้อความที่มีการติดป้ายแฮทแท็ก “#” เหมือนกันได้ง่ายขึ้น ลูกเล่นในการแต่งภาพและระบบแฮทแท็กของ Instagram ได้คะแนนนิยมจากผู้ใช้งานสูงมาก ๆ ทำให้ผลกำไรของบริษัทในปี 2011 มีมูลค่ามากถึง 7 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในขณะที่มูลค่าธุรกิจดีดตัวสูงขึ้นถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐ กระแสตอบรับของผู้ใช้งานเหมือนการเคาะประตูบอกถึงโอกาสทางธุรกิจเบื้องหน้า Instagram จึงไม่รอช้าและรุดหน้าพัฒนาแอพพลิเคชั่นของตนให้สามารถใช้งานได้บนทั้งในระบบปฏิบัติการของ Android และเปิดตลาดเต็มรูปแบบในปี 2012 ซึ่งส่งผลให้ผลกำไรของบริษัทในสัปดาห์ที่เปิดตัวแอพพลิเคชั่นAndroid นั้นเพิ่มขึ้นมาจากเดิม 7 เท่าหรือคิดเป็น 50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่มูลค่าของธุรกิจทะยานสูงมากถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ผลการสำรวจระบุว่าจำนวนผู้ใช้งาน Instagram ผ่านระบบ Android มีจำนวนกว่า 1 ล้านคนต่อวัน ความแรงและการเติบโตทางธุรกิจของ Instagram ทำให้แบรนด์สื่อโซเชียลชื่อดัง Facebook ต้องหันมาให้ความสำคัญและเข้าซื้อกิจการนี้เอาไว้ด้วยยอดเงินจำนวน 1 พันล้านเหรีญญสหรัฐ ซึ่งได้รับการพูดถึงว่าเป็นยอดเงินดีลกิจการที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ความน่าสนใจในกิจการนี้มาจากไหน อะไรคือประเด็นหลักให้ต้องทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเข้าซื้อกิจการ Instagram ที่มีพนักงานแค่ 13 คน หรือนั่นเท่ากับว่า Facebook ยอมจ่ายค่าตัวพนักงานด้วยเงินจำนวนมากถึง 76 ล้านเหรียญสหรัฐต่อคน ทั้ง ๆ ที่ดูอย่างไร Instagram ก็คือแอพพลิเคชั่นแชร์ภาพถ่ายธรรมดา นักวิเคราะห์ชื่อดัง Paul Kedrosky ได้แสดงมุมมองของเขาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า นี่อาจจะเป็นกลยุทธ์ของ Facebook ที่หมายจะสกัดดาวรุ่งคู่แข่งตัวฉกาจในอนาคตที่ชื่อ Instagram ก็ได้ จริงอยู่ที่บางคนอาจมองว่า Instagram เป็นเพียงแอพพลิเคชั่นสำหรับแชร์ภาพถ่าย
แต่ในมุมกลับกันและถ้าพิจารณากันให้ลึกจริง ๆ Instagram คือสื่อโซเชียลที่มีสาวกในเครือข่ายอยู่ทั่วโลกและยังมีฟังก์ชั่นที่สามารถแทรกกลางผ่านการแชร์ภาพถ่ายไปสู่ระบบเครือข่ายอื่น ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ทั้ง Facebook, Twitter, Google+ หรือ Pinterest ซึ่งธรรมชาติของคนยุคใหม่มักจะชอบแบ่งปันและโชว์ภาพโมเมนต์ต่าง ๆ กันอยู่แล้วด้วย Instagram จึงเป็นแอพพลิเคชั่นหนึ่งที่สามารถเข้าไปเจาะตลาดอื่นและดึงคนกลุ่มนี้ออกมาแบบเนียน ๆ ได้ไม่ยาก จึงไม่แปลกที่ Facebook จะมองทะลุว่า Instagram คือคู่แข่งที่วิ่งไล่กวดขึ้นมาติด ๆ อย่างรวดเร็ว การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพในการตลาดเอาไว้
อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังจากที่ Facebook ได้เข้ามาบริหารกิจการของ Instagram นั้น ภาพลักษณ์ของแอพพลิเคชั่น Instagram ในเชิงการทำธุรกิจออนไลน์ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ผู้ประกอบการหลาย ๆ รายหันมาสร้าง Brand Awareness ให้กับร้านค้าของตนเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือ ด้วยการสร้างแคมเปญการตลาดพร้อมกับติดแฮชแท็ก # ลงไป และเชิญให้ผู้อื่นเข้ามาร่วมสนุกในการติดแฮชแท็กควบคู่ไปกับการแชร์ประสบการณ์จากการใช้สินค้า หรือ บริการในร้านค้านั้น
อย่างเช่นในกรณีของ #InstaRunway ก็ได้กระแสการตอบรับที่ดีกับภาพถ่ายที่แชร์กันใน IG มากกว่า 8,400 รูป ว่ากันว่า บริษัท เอเจนซี่ต่างก็สามารถเพิ่มรายได้สูงขึ้นกว่า 60% ผ่านการตลาดใน IG ค่ะ นอกจากนี้ ผลสำรวจจาก Instagram ยังระบุว่า 41% ของ Follower ส่วนใหญ่นั้นจะติดตามความเคลื่อนไหวของแบรนด์สินค้าใน IG ที่เสนอสิทธิพิเศษให้ เช่น โปรโมชั่น หรือ ของสมนาคุณต่าง ๆ ค่ะ ต่อจากนี้ไปก็คงต้องมาดูกันว่าภายใต้การกำกับงานของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานบริษัทเฟซบุ๊ค โฉมหน้าและลูกเล่นใหม่ ๆ ของ Instagram จะเปลี่ยนไปอย่างไรกันบ้างค่ะ