เมื่อกำลังจะหมดหน้าฝน และเข้าสู่หน้าหนาว อากาศแห้ง แดดแรง บวกกับความประมาทเลินเล่อ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์บางอย่าง ก็จะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นได้ นั่นก็คือ ไฟไหม้ ที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนสิ่งที่ตามมาคือ ความสูญเสีย ยิ่งถ้าหากเกิดขึ้นกับบ้านเรือนที่มีคนอยู่อาศัยด้วยแล้ว มันช่างสอดคล้องกับคำเปรียบเปรยของไทยที่ว่า โจรขึ้นร้อยครั้ง ยังไม่เท่าไฟไหม้แค่หนึ่งครั้ง เพราะฉะนั้นหากเราได้ทำ ประกันอัคคีภัย ไว้ก็เหมือนกับเราซื้อความเสี่ยงให้ตัวเองอีกทางหนึ่ง
เรามาดูกันดีกว่าว่า ประกันอัคคีภัย คืออะไรกัน มีความคุ้มครองกันยังไง แล้วแบบไหนที่ไม่คุ้มครอง
เริ่มที่ประกันอัคคีภัย คือ การทำประกันภัยให้กับทรัพย์สิน เพื่อคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากไฟไหม้ และอาจจะครอบคลุมสาเหตุอื่นๆ อีกตามแต่ที่จะกำหนดในกรมธรรม์ ซึ่งผู้ที่จะซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยได้จะต้องเป็นเจ้าของหรือผู้มีกรรมสิทธิในทรัพย์สินที่ทำประกันภัย ที่เราจะเห็นกันอยู่บ่อยๆ ก็คือเวลาเราขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน ซื้อตึกแถว หรือซื้อคอนโดสัก 1 ห้อง สิ่งที่ธนาคารบังคับให้เราต้องทำด้วยคือ ประกันอัคคีภัย โดยชื่อผู้รับผลประโยชน์จะระบุเป็นชื่อธนาคาร ก็เพราะธนาคารต้องการลดความเสี่ยงที่อาจจะไม่ได้เงินคืนจากลูกค้า กรณีที่ทรัพย์สินนั้นเกิดเหตุไฟไหม้
ความคุ้มครองของการ ประกันอัคคีภัย
คือ จะคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของเรา อันเนื่องจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า หรือจากแก๊สที่ใช้ทำแสงสว่างหรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย แต่นอกจากนี้เราสามารถขอซื้อประกันภัยเพิ่มเติมเพื่อขยายความคุ้มครองได้ เช่น คุ้มครองภัยที่เกิดจากลมพายุ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภัยที่เกิดจากน้ำ (เช่น ท่อน้ำรั่ว ท่อน้ำอุดตัน แล้วทำให้ทรัพย์สินของเราเสียหาย เป็นต้น) ภัยจากควันไฟ ภัยจากกานัดหยุดงาน ภัยจากการจลาจล เป็นต้น ทั้งนี้ความคุ้มครองก็จะรวมถึง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากไฟ ซึ่งหมายถึง ความเสียหายที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงจากไฟไหม้ ได้แก่ การทุบกระจกบ้านหรืออาคารเพื่อไปฉีดน้ำดับไฟ หรือเพดาน พื้นบ้านได้รับความเสียหายจากน้ำที่ใช้ดับไฟ เป็นต้น
การกำหนดวงเงินประกันภัย
จะต้องกำหนดให้สอดคล้องกับมูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง เพื่อจะทำให้เราได้รับความคุ้มครองในทรัพย์สินอย่างคุ้มค่าที่สุด และเสียค่าเบี้ยประกันภัยไม่สูงเกินความเป็นจริง สำหรับการคำนวณค่าเบี้ยประกันภัยนั้น จะขึ้นอยู่กับสภาพ พื้นที่ตั้งของทรัพย์สิน เช่น บ้านปูนหรือบ้านไม้ เป็นบ้านที่อยู่ติดถนนที่รถใหญ่เข้าถึงได้อย่างสะดวก หรือบ้านอยู่ในซอยแคบการนำรถดับเพลิงเข้าไปฉีดน้ำทำได้อยาก ส่วนระยะเวลาการทำประกันภัย ส่วนใหญ่ที่บริษัทประกันภัยกำหนดต่อหนึ่งครั้งมักจะอยู่ที่ 1 – 3 ปี และจำนวนปีเองก็มีผลต่อการคำนวณค่าเบี้ยประกันด้วยเช่นกัน เพราะถ้าเราซื้อมากกว่า 1 ปี การคำนวณค่าเบี้ยในปีที่ 2 และ 3 บริษัทจะคำนวณส่วนลดค่าเบี้ยให้ ซึ่งจะทำให้การซื้อประกันอัคคีภัยแบบ 3 ปี มีค่าเบี้ยถูกว่าการซื้อประกันอัคคีภัยแบบรายปี 3 ครั้ง
อ่านเพิ่มเติม >>> รอบรู้ เรื่อง ประกันภัย <<<
แล้วเราสามารถทำประกันภัยพร้อมกันหลายบริษัทได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ แต่ไม่ควรเกินมูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริงของทรัพย์สินที่ทำประกันภัย ซึ่งบริษัทประกันภัยจะมีผู้ประเมินราคาทำหน้าที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สินก่อนทำประกันภัยอยู่แล้ว เพราะถ้าหากเราซื้อประกันภัยไว้สูงกว่ามูลค่าของทรัพย์สิน เวลาเกิดความเสียหายบริษัทประกันภัยก็จะจ่ายไม่เกิดมูลค่าทรัพย์สินที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว นั่นก็จะทำให้เราเสียค่าเบี้ยประกันภัยสูงเกินไป
มีเหตุการณ์อะไรบ้างที่ทำให้บริษัทประกันภัยไม่จ่ายค่าเสียหายให้กับเรา เช่น มีการทำการค้าหรือผลิตสินค้าที่ไม่เหมือนกับวันที่ทำประกันภัย มีการวางเพลิงโดยเจ้าของทรัพย์สินเพื่อต้องการเรียกเงินประกัน กรรมสิทธิในทรัพย์สินที่ทำประกันภัยนั้นถูกเปลี่ยนมือจากเราไปเป็นคนอื่น หรือว่าเราไม่ยอมจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเมื่อพ้นกำหนดการจ่าย 60 วันไปแล้ว
เพราะฉะนั้นประกันอัคคีภัยของบ้านเราทำไว้ก็ไม่เสียหายอะไร เหมือนซื้อความเสี่ยงให้กับเรา เหมือนที่เราทำประกันภัยให้กับรถยนต์ของเรา