เมื่อตอนที่แล้วเราได้รู้จักประกันชีวิตประเภทสัญญาหลักหรือประกันหลัก ไปเรียบร้อยแล้ว (สามารถกลับไปอ่านได้ตาม link นี้เลยค่ะ :: ตอนที่ 1 , ตอนที่ 2 ) วันนี้เรามาดูต่อในประเภทที่ 2 ซึ่งก็คือ สัญญาเพิ่มเติม กันนะคะ
สัญญาเพิ่มเติม (Rider)
ตามชื่อเลยค่ะ สัญญาเพิ่มเติม คือสัญญาที่จะเพิ่มเติมเข้าไปในสัญญาหลัก นั่นหมายความว่าการที่เราจะซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้เราต้องมีสัญญาหลักก่อน และสิ่งที่น่าสนใจคือ สัญญาเพิ่มเติมนี้จะคุ้มครองได้ก็ต่อเมื่อสัญญาหลักยังมีผลบังคับอยู่เท่านั้น ดังนั้นหากเราต้องการให้สัญญาเพิ่มเติมมีความคุ้มครองต่อเนื่องไปนานๆ เราก็ต้องเลือกสัญญาหลักที่ยาวพอ และจากประเภทของสัญญาหลักที่กล่าวมาทั้งหมดเบื้องต้นนั้น จะเห็นว่า ประกันสะสมทรัพย์ที่ให้ความคุ้มครองในระยะสั้นๆ เป็นสัญญาหลักที่เราไม่ควรซื้อสัญญาเพิ่มเติมพ่วงด้วยเป็นอย่างยิ่ง
สัญญาเพิ่มเติมนั้น มีอยู่มากมาย หลายประเภท และมักจะมีแบบใหม่ หรือแบบเดิมแต่เพิ่มเติมเงื่อนไขใหม่มาเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม สัญญาเพิ่มเติมที่เป็นที่นิยมมีดังนี้
1. ค่าห้อง ค่ารักษา
สัญญาเพิ่มเติมประเภทนี้ เป็นตัวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะ เป็นตัวที่จะช่วยเรา จ่ายค่าห้อง ค่ารักษา ค่าผ่าตัด ฯลฯ
สัญญาเพิ่มเติมตัวนี้มีทั้งแบบที่มีการจำกัดวงเงินแยกแต่ละรายการ เช่น ค่าห้องไม่เกิน 3,000 บาท/วัน ค่าผ่าตัดไม่เกิน 70,000 บาท/ครั้ง ค่าแพทย์ตรวจรักษา ไม่เกิน 1,000 บาท/วัน เป็นต้น และอีกแบบคือ เป็นแบบเหมาจ่าย คือ ไม่ว่าจะจ่ายรายการอะไรก็จะรวมอยู่ในวงเงินที่กำหนด เช่น เหมาจ่าย 500,000 บาท/ปี ก็คือ สามารถเบิกเคลมกี่ครั้งก็ได้ และทุกรายการค่าใช้จ่าย โดยรวมกัน ไม่เกิน 500,000 บาท ต่อ 1 ปี
และนอกจากแบบจำกัดวงเงินแยกแต่ละรายการ และแบบ เหมาจ่ายแล้ว ข้างต้นแล้ว ยังมีแบบผสม กล่าวคือ มีบางรายการที่จำกัดวงเงินแยก และมีบางกลุ่มรายการที่รวมอยู่ในวงเงินแบบเหมาจ่าย นั่นเอง
การจ่ายเงินเบิกเคลม ในกลุ่มประเภทค่าห้อง ค่ารักษานี้ มักจะจ่ายแบบ ตามจริง แต่ไม่เกินวงเงิน นั่นก็คือ หากผู้ทำประกันมีประกันประเภทนี้อยู่แล้ว แล้วซื้อเพิ่ม ทั้งสองกรมธรรม์ จะถูกนำมาช่วยกันจ่าย เช่น มีค่าห้องจากกรมธรรม์เดิมอยู่ 2,000 บาท ต่อมาซื้อเพิ่มอีกกรมธรรม์ด้วยค่าห้อง 2,000 บาท สมมติเมื่อเข้าโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงๆ ของค่าห้องคือ 3,800 บาท จะสามารถเบิกเคลมจากกรมธรรม์แรกได้ 2,000 บาท และกรมธรรม์ที่ 2 ได้อีก 1,800 บาท นั่นเอง
2. โรคร้ายแรง
ประกันโรคร้ายแรง เป็นประกันที่คุ้มครองเฉพาะโรคร้ายแรง ซึ่งจะคุ้มครองกี่โรคขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทประกันและแบบประกัน และบางที่ก็รับประกันเฉพาะในระยะรุนแรง บางที่ก็รับตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงระยะรุนแรง ต้องสอบถามให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อนะคะ
ในเรื่องของการจ่ายเงินเบิกเคลม จะมีสองแบบให้เลือก คือ แบบที่พบแล้วจ่ายตามวงเงินที่ได้ทำประกันไว้ หรือจ่ายให้ต่อวัน เมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยายาลด้วยโรคร้ายแรง แบบแรกก็จะเหมาะกับการที่ต้องการเงินก้อน เพื่อไปรักษาในต่างประเทศ หรือ รักษาแบบแพทย์ทางเลือก ส่วนแบบที่สองก็จะเหมาะกับคนที่คิดว่าหากพบโรคร้ายแรง ต้องการที่จะรักษาที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ผู้ทำประกันอาจจะเลือกทั้งสองแบบไว้เลยได้
สำหรับประกันประเภทนี้ ส่วนใหญ่ทางบริษัทประกันจะจ่ายให้ในรูปแบบค่าชดเชย กล่าวคือ จ่ายตามวงเงินที่ระบุไว้ตั้งแต่แรกโดยไม่ขึ้นกับค่ารักษาตามจริง เช่น ซื้อความคุ้มครอง 1 ล้านบาท โดยสัญญาระบุโรคร้ายแรงไว้ 30 โรค เมื่อเวลาผ่านไป พบว่าเป็นโรคหนึ่งใน 30 โรค ทางบริษัทประกันก็จะจ่าย 1 ล้านบาท และสัญญาก็เป็นอันสิ้นสุด ส่วนอีกกรณี สมมติซื้อความคุ้มครองแบบจ่ายรายวันกรณีเข้ารักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคร้ายแรง แบบ 4,000 บาท ต่อวัน และสัญญาระบุโรคร้ายแรง 5 โรค เมื่อต่อมาต้องเข้ารับการรักษาด้วยโรคหนึ่ง ใน 5 โรคนั้น ทางบริษัทประกันจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ 4,000 บาทต่อวัน โดยไม่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง
3. อุบัติเหตุ
ประกันอุบัติเหตุ จะมีทั้งสองแบบคือจ่ายตามจริง และจ่ายแบบค่าชดเชย บริษัทประกันจะจ่ายเงินเบิกเคลมให้ เมื่อเข้าทำการรักษากรณีเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น ประกันอุบัติเหตุที่เราเห็นตามท้องตลาด มักจะพบอยู่ใน 2 ลักษณะ คือเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ต้องซื้อพ่วงกับสัญญาหลัก และอีกแบบคือซื้อได้โดยไม่ต้องมีสัญญาหลัก หากเป็นกรณีหลัง จะเป็นประกันอุบัติเหตุในรูปแบบประกันวินาศภัย ไม่ใช่ประกันชีวิต
หลังจากที่จบไปแล้วสามตอน ตอนนี้ก็พอจะเห็นภาพกันแล้วใช่มั้ยคะว่า ประกันชีวิตที่มาของมันคืออะไร จำเป็นต้องมีหรือไม่ รวมถึงรู้จักประกันชีวิตทั้งประเภทสัญญาหลัก และสัญญาเพิ่มเติมแล้ว เดี๋ยวตอนหน้าเราจะมาทำความเข้าใจมากขึ้นอีกในเรื่องของการเลือกซื้อประกันชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเองค่ะ