ประกันมีหลายประเภท แต่ประกันหลัก ๆ มี 2 ประเภทคือ ประกันเพื่อการประกันชีวิตและประกันเพื่อการออม (Pension) ส่วนประกันแบบอื่นมักเป็นส่วนประกันซื้อเพิ่มเพื่อเสริม โดยมากแล้วประกันเพื่อการประกันชีวิต สามารถมองได้ว่าเป็นวิธีการออมหรือการลงทุนอีกประเภทหนึ่ง เมื่อมีเงินออมมากขึ้น จึงหันมาหาวิธีออมที่แบบต่าง ๆ หลายคนอาจซื้อ LTF RMF บางคนลงทุนหุ้น VI ทองคำ และหลายคนก็เลือกการประกันแบบ Pension เพื่อการออม เพราะนอกจากจะประกันรายได้เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณแล้วก็ยังช่วยเรื่องการลดหย่อนภาษีอีกด้วย
การประกันเงินออม มักเลือกจ่ายเป็นเงินก้อนในช่วงสั้น ๆ อาจจะ 5 ปี 8 ปี แต่ประกันทำการคุ้มครองถึง 20 ปีขึ้นไป การจะเลือกว่าประกัน Pension แบบไหนดีหรือเหมาะสมกับผู้ทำประกัน ส่วนใหญ่ดูที่ผลตอบแทนเป็นหลักรวมถึงความน่าเชื่อถือของบริษัทประกันภัย
อ่านเพิ่มเติม >> ออมเงินด้วยประกัน แบบไหน? ถึงจะใช่ เหมาะกับเรา <<
เมื่อทำประกันแล้วทางตัวแทนประกันก็จะส่งแผนการชำระเบี้ย ซึ่งจะมีรายละเอียดการเงินตั้งแต่ปีที่ 1 จนถึงปีสุดท้ายที่ประกันครอบคลุมถึง รวมถึงเงินจ่ายคืนรายปีและมูลค่าการเวนคืนไว้ด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วการประกันแบบ Pension นั้น นับว่าเป็นเงินออมชนิดที่มี Liquidity ต่ำ หมายความว่า หากออมเข้าไปในประกันแล้ว จะไม่สามารถนำเงินสดออกมาได้ภายในระยะเวลาออม หรือถ้าเอาออกมาได้ ก็ตีเป็นมูลค่าเวนคืนที่น้อยมาก ๆ
ขอยกตัวอย่างคร่าว ๆ เพื่อให้เห็นภาพ เช่น
- หากเป็นการออมเข้าเบี้ยประกันปีละ 50,000 บาท ระยะเวลาออม 8 ปี ครอบคลุม 20 ปี
- แต่ถ้าส่งถึงปีที่ 5 แล้วอยากจะปิดประกัน อาจเพราะไม่พร้อมทางการเงินส่งเบี้ยต่อ
- หากต้องการเวนคืนเบี้ยที่ส่งไปแล้ว สำหรับกรมธรรม์ที่สามารถเวนคืนได้ อาจได้เงินคืนเหลือเพียง 160,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ส่งเบี้ยไปแล้ว 250,000 บาท
ดังนั้นก่อนทำประกันเงินออม ควรวางแผนให้ดีเพราะเป็นเงินที่ต้องเก็บระยะยาว ต้องเป็นเงินที่นิ่งพอสมควรจึงจะเหมาะสม หากเงินยังไม่นิ่งพออาจเลือกแผนออมเงินแบบอื่น เช่น กองทุน RMF LTF แทน
กรณีที่ จ่ายเบี้ยไม่ไหว อยากปิดประกัน แบ่งได้เป็นหลายกรณีแล้วแต่แผนการประกันนั้น รวมถึงจำนวนเงินเบี้ยประกันด้วย ดังตัวอย่างเช่น
กรณีที่ 1 เบี้ยไม่สูงและส่งเพียงปีเดียว
ซึ่งจำนวนเงินเยอะหรือน้อยนั้นขึ้นกับกำลังและความสามารถของแต่ละบุคคล เช่น ถ้าเบี้ยไม่ถึง 100,000 บาทต่อปี และส่งแล้วปีแรกปีเดียว อาจพิจารณาปิดประกันโดยการไม่ส่งเบี้ยปีที่ 2 เลย ทางจบอาจเป็นไปได้ 2 กรณี คือหนึ่ง ปิดประกันและไม่ได้เงินเวนคืนคือยอมเสียเบี้ยปีแรกไปเลย หรือสอง ทางตัวแทนอาจเสนอทางออกให้ผ่อนจ่ายเบี้ยเป็นงวด ๆ อาจเป็นงวด 3 เดือน 6 เดือน หรือรายเดือนก็เป็นได้ เพราะหากเบี้ยไม่สูงมาก ทางเลือกการผ่อนจ่ายอาจเป็นทางเลือกที่ดี ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความสามารถในการหาเงินในอนาคต ถ้าพิจารณาแล้วว่าสามารถส่งไหว อาจเลือกส่งต่อ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นภาระแน่ ๆ ให้ตัดปิดกรมธรรม์ไปเลย
กรณีที่ 2 เบี้ยไม่สูง ส่งมาแล้วเกินระยะเวลาครึ่งหนึ่งของกรมธรรม์
ให้เจรจากับทางตัวแทนให้ปรับแผนกรมธรรม์ใหม่ เพื่อให้ปิดประกันให้เร็วที่สุด ซึ่งปกติแล้วทำได้ตามกฎหมาย แต่บริษัทอาจมีข้ออ้างไม่ทำให้เพราะเสียรายได้ หากตัวแทนมีความจริงใจจะช่วยเหลือ ให้ปรับแผนโดยอาจต้องส่งต่ออีกงวดหรือสองงวด เพื่อให้เสียเงินก้อนน้อยที่สุดและยังได้กรมธรรม์อยู่ในมือ
กรณีที่ 3 เบี้ยสูง ในกรณีเบี้ยสูงและความสามารถในการหาเงินได้น้อยกว่าครึ่งของเบี้ยประกัน
ต้องเจรจาขอเวนคืนให้มากกว่าที่ตารางเบี้ยกำหนดเมื่อเริ่มทำสัญญา กรณีนี้ส่วนใหญ่แล้วทางบริษัทประกันจะเสนอเป็นเงินกู้ส่วนบุคคลเท่ากับยอดเวนคืนตามตารางกรมธรรม์ เช่น เบี้ยปีละ 300,000 บาท ฝากแล้ว 5 ปี แบบ 8/20 เงินออมเข้าไปแล้ว 1,500,000 บาท ถ้าเวนคืนตามอัตรา อาจได้ประมาณ 900,000 บาท หากลงทุนเป็นการเลือกเวนคืนเอาเงินสด 900,000 บาท มาต่อยอดอาจทำได้ดีกว่า ถึงแม้เราจะต้องเสียเงินก้อนไปมากก็ตาม อาจสงสัยเหลืออีกเพียง 3 ปีก็จะครบกำหนดหยุดส่ง ไม่ควรเวนคืนให้เสียมูลค่า แต่ต้องไม่ลืมว่าภาระเบี้ยประกันเหลืออีก 3 ปี และภาระไถ่ถอนเหลืออีก 15 ปี ถ้าธุรกิจที่กำลังต้องการเงิน เงินก้อนที่ไถ่คืนขณะนี้ต่อลมหายใจให้ธุรกิจได้แบบไม่มีภาระดอกเบี้ย หากคิดสะระตะแล้วก็จงยอมรับความผิดพลาด ที่ลงทุนจมกับประกันที่มี Liquidity ต่ำ
ต่อในกรณีที่ 3 ข้อเสนอที่มักได้จากตัวแทนประกันในกรณีนี้ คือ จะให้เงินกู้แบบดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคล โดยจะเสนอให้เท่ากับมูลค่าเวนคืน ในกรณีนี้คือ 900,000 บาท โดย rate อาจไม่สูงเหมือนบัตรกดเงินสดแต่ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่มากอยู่ดี วิธีนี้เหมาะกับผู้ทำประกันที่มั่นใจว่าจะสามารถรับภาระจ่ายเบี้ยประกันปีที่เหลือและสามารถเคลียร์ดอกเบี้ยส่วนเงินกู้ในระยะเวลาอันสั้น อาจเหมาะกับภาคธุรกิจส่งออกที่มี L/C ( หากเทียบดอกเบี้ยเงินกู้แบบมี L/C ค้ำประกัน กับดอกเบี้ยที่เสนอโดยบริษัทประกันแล้วใกล้เคียงกันกัน) เพราะในบางภาวะเศรษฐกิจโลก L/C ของบางประเทศมีความเสี่ยงสูง การกู้แบบมี L/C ค้ำส่วนใหญ่ดอกเบี้ยจะสูงด้วย
ไม่ว่าการจ่ายเบี้ยประกันจะเข้าเกณฑ์กรณีใด การเวนคืนเร็วช้าอาจต่างกันที่ตัวเลขที่ซึ่งเมื่อคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อแล้วเกือบจะเป็นเงินจำนวนเท่ากัน เช่น กรมธรรม์ 7/15 หากเวนคืนภายในช่วง 7 ปีแรก จะขาดทุนครึ่ง ๆ แต่ถ้าเวนคืนช่วงก่อนหมดสัญญาระหว่างปีที่ 8 ถึงปีที่ 14 จะเวนคืนปีใดระหว่างนั้น จะขาดทุนในอัตราที่ต่างกันตามอัตราเงินเฟ้อ
การหยุดส่งเบี้ยประกันในทุกกรณีและไม่ต้องการเงินเวนคืนนั้น ผู้ทำประกันสามารถขอให้ตัวแทนปรับฐานของเงินประกัน คือให้คิดฐานใหม่จากการเบี้ยที่ส่งไปแล้ว แล้วปรับฐานเอาประกันให้ลดลงหรือจะเลือกปรับเงื่อนไขระยะเวลาเอาประกันได้ เช่น จากเดิมจะได้เงินประกันคืนปีที่ 15 แต่เมื่อขยายเวลาเอาประกัน อาจได้เงินคืนปีที่ 25 เป็นต้น
การเลือกวิธีการออมเงินเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะคำนึงถึง เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอนเสมอ การวางแผนที่ชัดเจนแล้วดำเนินตามแนวทางย่อมดีกว่าและปวดหัวน้อยกว่า
การวางแผนการเงินที่เป็นข้อผูกมัดระยะยาว หากไม่ศึกษาให้ถี่ถ้วน เช่น การออมด้วยประกัน Pension อาจทำให้จุดประสงค์การจัดสรรเงินผิดไป การจัดสรรเงินได้ที่ลงตัวย่อมไม่เพียงพอ หากขาดความรู้ถึงจุดประสงค์แท้ ๆ ของเงินที่จัดสรรนั้น เช่น ถ้าต้องการจัดสรรเงินหนึ่งก้อนเพื่อการออม โดยเลือกออมโดยประกัน Pension ที่อัตราผลตอบแทนไม่ได้ดีเท่าไหร่เมื่อเทียบกับออมแบบอื่น ย่อมไม่ถูกจุดประสงค์ของการออมที่ตั้งไว้ แต่ถ้าออมแบบประกัน Pension เพราะต้องการสิทธิพิเศษอื่น ๆ ของการประกันที่ระบบการออมแบบอื่น ๆ ไม่สามารถเสนอให้ได้ ถ้าเป็นอย่างที่ตั้งใจ ย่อมบรรลุจุดประสงค์ สิ่งที่ควรระวังอันดับสุดท้าย คือ การแบ่งก้อนเงินประกัน ไม่ควรทำที่เดียวก้อนใหญ่ แต่ควรทำหลายใบแยกก้อนเงิน หากมีปัญหาอาจเลือกปิดประกันเป็นตัว ๆ เอา ซึ่งอาจจะทำใจได้ง่ายกว่าปิดก้อนใหญ่ก้อนเดียว
ถ้าคิดจะทำประกัน เลือกที่ค่าเบี้ยประหันไม่แพง แต่คุ้มครองยาวนาน แถมมีเงินคืนให้ทุกปี ดูรายละเอียด >> คลิก