หลายคนคงมีคำถามอยู่ในใจมากมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต แล้วถ้าเป็นประกันชีวิตแบบเก่าที่มักจะให้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบระยะยาวเป็น 10 ปี 20 ปี โดยตอนตัดสินใจทำครั้งแรกอาจจะเป็นเพราะความเกรงใจเพื่อน เกรงใจญาติพี่น้อง แต่เมื่อจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยไปสัก 5 ปีไปแล้ว เริ่มมีภาระของครอบครัวเพิ่มมากขึ้น การจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยที่เคยจ่ายไหวก็เริ่มจะติดขัด แล้วทีนี้จะทำยังไงดีล่ะ
เมื่อ จ่ายค่าเบี้ยประกันไม่ไหว แล้วมีทางเลือกให้เรา 6 วิธี ก็คือ
1. ขอลดทุนประกันหรือขอตัดสัญญาบางตัวออก
เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายได้ การคุ้มครองโรคร้ายแรง ฯลฯ ก็จะเป็นวิธีที่ทำให้ค่าเบี้ยประกันลดลงได้ ซึ่งจะทำให้ความคุ้มครองที่มีอยู่ลดลงตามส่วนที่เรายกเลิก แต่ว่าสัญญาหลักที่เป็นประกันชีวิตก็ยังจะมีอยู่
2. ขอเปลี่ยนงวดการชำระค่าเบี้ยประกัน
ซึ่งเราอาจจะขอเปลี่ยนจากรายปีเป็นรายเดือน ราย 6 เดือน หรือ 3 เดือนก็ได้ แต่ว่าค่าเบี้ยประกันที่จ่ายเป็นรายเดือนอาจจะเพิ่มขึ้นจากที่เราเคยจ่ายเป็นรายปี เพราะว่าตอนที่เราจ่ายเป็นรายปีนั้นเป็นการจ่ายค่าเบี้ยประกันล่วงหน้าไปให้บริษัทประกันไปแล้ว เพราะการขอเปลี่ยนจากรายปีเป็นรายเดือนก็เหมือนกับว่าเราขอผ่อนจ่ายค่าเบี้ยประกันนั่นเอง แต่บางกรมธรรม์ก็อาจจะมีโปรแกรมที่ให้จ่ายเป็นรายเดือนอยู่แล้ว ก็จะทำให้ค่าเบี้ยประกันรายปีกับรายเดือนเท่ากัน
3. การกู้กรมธรรม์
คือ การขอกู้เงินจากกรมธรรม์ของตัวเองมาก่อน โดยเราไม่ต้องยื่นหลักฐานทางการเงินใดๆ ซึ่งการกู้เงินจากกรมธรรม์ของเรานั้นได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับจำนวนในการส่ง แบบของประกันที่เรามี เช่น ถ้าเป็นแบบสะสมทรัพย์จะได้เงินมากกว่าแบบตลอดชีพ โดยส่วนใหญ่จะกู้ได้ประมาณ 70-80% ของมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์
4. ขอขยายระยะเวลากรมธรรม์
นั่นหมายถึงว่า เมื่อเราหยุดจ่ายค่าเบี้ยประกัน แต่ก็ยังได้รับความคุ้มครองด้วยทุนประกันชีวิตที่เท่าเดิม ซึ่งจำนวนปีที่ขยายออกไปเราสามารถดูได้จากตารางมูลค่าประกันภัย
5. การใช้เงินสำเร็จ
ก็คือ หากเราหยุดจ่ายเบี้ยประกันไปแล้ว ความคุ้มครองก็ยังมีระยะเวลาเท่าเดิม เพียงแต่ทุนประกันชีวิตจะลดลง และสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์บางแบบ ก็อาจจะมีเงินคืนให้ตามสัดส่วนและระยะเวลาตามเงื่อนไขที่กรมธรรม์กำหนด
6. การขอปิดกรมธรรม์หรือเวนคืนกรมธรรม์
แบบนี้คือ เราหยุดจ่ายเบี้ยประกันแล้วขอคืนเงินเลย แบบนี้จะทำให้เราได้เงินคืนน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่แนะนำให้เลือกวิธีการนี้ เพราะจำนวนเงินที่ได้คืนจะน้อยกว่าค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายไป
ทั้งนี้ในข้อ 4-6 เราสามารถดูจำนวนเงินและระยะเวลาการคุ้มครองได้จากตารางมูลค่าประกันภัยที่แนบอยู่กับกรมธรรม์ของเรา ซึ่งเราจะมาลองดูวิธีการอ่านหรือหาผลประโยชน์คืนกันดีกว่า สมมติตัวอย่างให้ว่าเป็นกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์ 20 ปี ทุนประกัน 150,000 บาท จ่ายค่าเบี้ยประกันปีละ 14,300 บาท โดยเริ่มทำตั้งแต่ปี 2552 เราจ่ายค่าเบี้ยประกันมาได้ 7 ปีแล้ว หรือปี 2558 เจอว่ามีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมามากเลยทำให้จ่ายค่าเบี้ยประกันไม่ไหวแล้ว เราก็ลองมาดูกรมธรรม์ที่มีอยู่อย่างคร่าวๆ ก่อนที่จะไปคุยกับตัวแทนหรือบริษัทประกัน
ลองคำนวณกันดูว่าเราจ่ายค่าเบี้ยประกันมา 7 ปี ปีละ 14,300 บาท เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 100,100 บาท แล้วถ้าเรา จ่ายค่าเบี้ยประกันไม่ไหว ล่ะ เราจะเลือกทางไหนดีมาดูกัน
- เลือกแบบการขยายระยะเวลา นั่นก็คือ สิ้นปีที่ 7 เราไม่จ่ายค่าเบี้ยประกันแล้ว แต่กรมธรรม์ยังคุ้มครองให้อีก 13 ปี หรือถึงปี 2571 เราจะได้รับเงินคืนเท่ากับ 97,500 บาท (650×150,000/1,000)
- แบบใช้เงินสำเร็จ คือ หยุดจ่ายค่าเบี้ยประกันแล้ว แต่ระยะเวลาประกันยังเท่าเดิม คือ กรมธรรม์จะคุ้มครองจนถึงปี 2572 และจะได้รับเงินเมื่อครบกำหนดเท่ากับ 51,540 บาท (343×150,000/1,000)
- แบบปิดกรมธรรม์และขอเงินคืน หมายความว่า เราไม่จ่ายค่าเบี้ยประกันแล้ว และประกันก็สิ้นสุดความคุ้มครองทันที เราจะได้เงินคืนมาเท่ากับ 60,750 บาท (405×150,000/1,000)
เมื่อเราเปรียบเทียบทั้งสามเงื่อนไขแล้วก็ลองตัดสินใจกันดูว่าจะเลือกแนวทางไหนในการหยุดจ่ายค่าเบี้ยประกัน เพราะแต่ละแนวทางก็มีข้อดีและข้อเสียต่างๆ กัน ลองพิจารณาและปรึกษาตัวแทนของเราดูล่ะกัน
ประกัน “สูงวัย ได้เกินร้อย” เบี้ยประกันคงที่ตลอดอายุสัญญา หมดกังวลเรื่องจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว คลิก