เป็นหนี้ ไม่ดีจริงหรือ รู้ทันหนี้ดี หนี้เสีย รวมเรื่องต้องรู้ก่อนสร้างหนี้
หากพิจารณาให้ดีเราจะพบว่าหนี้สินเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก แต่หลายคนมองว่าเป็นปัจจัยตัวร้าย ทำให้เราขาดสภาพคล่องทางการเงิน แต่หากคิดไตร่ตรองให้ดี การเป็นหนี้ ไม่ดีจริงหรือ ในเมื่อเหล่ามหาเศรษฐีทั้งหลายก็ยังคงเป็นหนี้ แม้ว่าคำนวณออกมาแล้วพวกเขาจะมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินที่มีอยู่ก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะว่าหนี้สินไม่ใช่ตัวการร้ายทางการเงินเสมอไป แถมมันยังเป็นกุญแจที่ช่วยให้เราสามารถลงทุนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย ซึ่งจะเป็นยังไงนั้น เราสรุปประเด็นที่ต้องรู้มาให้แล้ว
เป็นหนี้ ไม่ดีจริงหรือ ทำความรู้จักกับหนี้ดี และหนี้เสีย สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจกู้
เป็นหนี้ ไม่ดีจริงหรือ เป็นคำถามที่หลายคนคงถกเถียงกับตัวเองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เพราะเรารู้ดีว่าการเป็นหนี้ ไม่ใช่การก่อให้เกิดปัญหาทุกครั้งไป แต่บางครั้งมันก็ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ให้เราสามารถต่อยอดเงินที่มีอยู่ หรือสร้างธุรกิจขึ้นมาเพื่อหาเงินให้ได้มากขึ้นกว่าเดิมได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น หนี้สินจะดี หรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นหนี้ดี หรือหนี้เสียต่างหาก หนี้แต่ละแบบเป็นอย่างไร ไปดูกันเลย
หนี้ดี
หนี้ดีคือหนี้สินที่เรากู้ยืมเงินมาทำประโยชน์ สามารถก่อให้เกิดคุณค่า หรือสร้างผลตอบแทนให้กับเราได้ในระยะยาว และยังมีโอกาสที่มันจะเพิ่มมูลค่าให้กับผู้กู้อย่างเราในอนาคตอีกด้วย เป็นหนี้สินที่ถึงแม้ว่าเราจะกู้มา แต่ในอนาคตเงินก้อนนี้จะสร้างเงินอีกก้อนที่มีปริมาณเยอะกว่าตัวมันเอง ยกตัวอย่างเช่น
- สินเชื่อเพื่อการศึกษา การศึกษาก็นับว่าเป็นการลงทุนในรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน หากเราเพิ่มพูนทักษะให้กับตัวเอง มีความรู้ ความชำนาญมากขึ้นกว่าเดิม เราก็มีโอกาสหางานที่ดี และได้เงินเดือนมากขึ้นกว่าเดิมในอนาคต หรือสำหรับผู้ประกอบการ มันก็จะช่วยให้เราสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมืออาชีพมากขึ้นนั่นเอง
- สินเชื่อเพื่อการลงทุนธุรกิจ สำหรับใครที่มีช่องทางทำธุรกิจ แต่ยังไม่มีเงินก้อน เราสามารถขอสินเชื่อเพื่อมาลงทุนทำธุรกิจได้เหมือนกัน จะเป็นการค้าขาย การให้บริการ หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่าก็ได้
- สินเชื่อเพื่อการลงทุนอื่น ๆ อย่างเช่นหุ้น หุ้นกู้ กองทุน หรือพันธบัตร ทรัพย์สินเหล่านี้จะมีโอกาสเติบโตขึ้นในอนาคต หากเราลงทุนเป็น แต่เราจะได้กำไรก็ต่อเมื่อสินเชื่อที่เราไปขอกู้มามีดอกเบี้ยที่ต้องเสียต่ำกว่าดอกเบี้ยที่เราจะได้จากการลงทุน
หนี้เสีย
หนี้สินเหล่านี้เป็นการขอสินเชื่อมาแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ไม่มีผลตอบแทนในระยะยาว ไม่ได้สร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้นมา ส่วนใหญ่มักเป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย การอุปโภค บริโภค หนี้สินเหล่านี้จึงเป็นเงินที่เรามีแต่เสียกับเสีย ไม่มีโอกาสได้อะไรคืนมาเลย อย่างเช่น
- หนี้บัตรเครดิต กรณีที่เป็นหนี้สินที่เกิดมาจากการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น หรือสินค้าฟุ่มเฟือยราคาแพง
- หนี้บัตรกดเงินสด กรณีที่เป็นหนี้สินจากการซื้อสินค้าราคาสูงกว่าความสามารถของตนเอง
- สินเชื่อส่วนบุคคล กรณีที่เรากู้เงินออกมาเพื่อใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจ หรือซื้อของที่อยากได้ แต่เราไม่มีเงิน
- หนี้นอกระบบ ในกรณีที่เราถูกทางธนาคารพิจารณาแล้วว่าไม่มีความสามารถในการขอสินเชื่อ แต่อยากได้เงินมาใช้ จึงตัดสินใจกู้หนี้นอกระบบ เพราะมันมีเงื่อนไขการผ่อนชำระที่โหด แถมยังดอกเบี้ยสูงอีกต่างหาก ถึงจะกู้มาลงทุน แต่สุดท้ายก็ไม่คุ้มอยู่ดี
ไม่อยากมีหนี้เสีย พิจารณาก่อนขอสินเชื่อ ไม่ตกเป็นเหยื่อกับดักทางการเงิน
สำหรับใครที่ไม่อยากตกเป็นเหยื่อกับดักทางการเงินด้วยการมีหนี้เสียในบัญชี สิ่งที่เราต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมันจะช่วยให้เรารู้ว่ามันคุ้มค่ากับการเป็นหนี้มากแค่ไหน เราจึงจะพาทุกคนไปดูกันว่าสิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อ มีดังนี้
- ความจำเป็น
กิเลสเป็นสิ่งที่มีในตัวมนุษย์ทุกคน แต่สิ่งที่จะสามารถดับกิเลสได้ก็คือเหตุผล หากเราใช้เงินอย่างมีเหตุผล ไม่นำเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง มันก็จะช่วยให้เราสามารถพิจารณาได้ดีขึ้นว่าหนี้สินที่เรากำลังจะก่อมันขึ้นมาจำเป็นกับชีวิตจริงหรือเปล่า ของที่จะซื้อจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
รวมถึงราคาของมันสูงเกินกว่าที่เราจะจ่ายได้ และทำให้เราลำบากในภายหลังหรือไม่ หากคุณพบว่ามันไม่ได้จำเป็น ราคาก็สูง แถมยังอาจทำให้เราขาดสภาพคล่องทางการเงินในอนาคต มันก็ชัดแล้วว่าเราไม่ควรซื้อของชิ้นนี้ หรือยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีสำหรับการลงทุนสักเท่าไหร่
- ประเภทสินเชื่อ
ในยุคนี้มีสินเชื่อมากมายให้เราได้เลือกหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ หรือสินเชื่อเพื่อการลงทุนธุรกิจ เราจึงต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราขอสินเชื่อไปเพื่ออะไร อยากได้วงเงินเท่าไหร่
แล้วเรามีทรัพย์สินอะไรที่สามารถใช้เป็นหลักประกันได้บ้าง อย่าลืมคำนวณไปถึงอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการผ่อนชำระ ดูว่าค่างวดในแต่ละเดือนสูงเกินกว่าความสามารถของเราหรือไม่ มันก็จะช่วยให้เรามีสติก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อได้มากขึ้นกว่าเดิม
- เปรียบเทียบดอกเบี้ย และเงื่อนไขการขอสินเชื่อ
หากคุณพิจารณาแล้วว่าหนี้สินที่กำลังจะก่อเป็นสิ่งที่จำเป็น หรือช่วยเพิ่มโอกาสในการทำเงินมากขึ้นกว่าเดิม รู้แล้วว่าจะต้องขอสินเชื่ออะไร ต่อไปก็ต้องเปรียบเทียบว่าแต่ละธนาคารมีอัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขการให้สินเชื่อที่ตอบโจทย์ความต้องการของเราหรือไม่ เพราะแต่ละธนาคารก็จะมีวิธีการพิจารณาให้วงเงิน การคำนวณดอกเบี้ย หรือรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไปด้วย หากเราพิจารณาอย่างถี่ถ้วน มันก็จะช่วยให้เราสามารถเลือกขอสินเชื่อได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
- ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้
เป็นสิ่งที่หลายคนติดกับดับแบบเหนียวหนึบ เพราะเข้าใจว่าตัวเองสามารถลดค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคลง และนำเอาเงินที่เหลือไปผ่อนชำระหนี้ได้ ซึ่งมันคงไม่ดีแน่ๆ หากคุณได้ในสิ่งที่ต้องการ แต่กลับกลายเป็นว่าคุณภาพชีวิตแย่ลงกว่าเดิม วิธีการคำนวณความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ที่ง่ายที่สุดก็คือการคำนวณว่าเรามีเงินเหลือเกิน 60% หลังหักหนี้สินทั้งหมดแล้วหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น เรามีเงินเดือน เดือนละ 30,000 บาท มีหนี้ของเก่าอยู่ 5,000 บาท หนี้สินก้อนใหม่มีค่างวดเดือนละ 7,000 บาท รวมเป็นหนี้สินทั้งหมด 12,000 บาทต่อเดือน 12,000 X 30,000 /100 = 40% หมายความว่าเรามีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้สูงสุดอยู่ที่เดือนละ 12,000 บาทเท่านั้น
มันก็จะช่วยให้เรารู้ว่า หลังจากนี้เราไม่สามารถขอสินเชื่ออะไรได้อีก ไม่อย่างนั้น มันก็จะเกินความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของเรา หากเราต้องการของอะไรก็ตามที่ทำให้เราต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เราก็อาจต้องรอให้หนี้ก้อนแรก 5,000 บาทหมดไปก่อน เราถึงจะสามารถซื้อของใหม่ได้ คราวนี้ก็ต้องมาพิจารณากันว่าหนี้สินก้อนเดิมเหลือเวลาผ่อนอีกเท่าไหร่ การที่ต้องติดอยู่กับมันจะทำให้เราพลาดโอกาสอะไรไปหรือไม่
- ความสามารถในการหารายได้
นอกจากเราจะต้องคำนวณความสามารถในการผ่อนชำระหนี้แล้ว ความสามารถในการหารายได้ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมันคือตัวชี้วัดว่าเรามีความสามารถในการหาเงินได้มากแค่ไหน รายได้มีความมั่นคงหรือเปล่า เพราะมันคือตัวแปรสำคัญที่จะทำให้คุณสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลาที่ธนาคารขีดเส้นเอาไว้
หากเราไม่ได้คำนวณความมั่นคง และความสามารถในการหารายได้ วันหนึ่งเกิดปัญหารายได้ขึ้นมา เราก็ต้องชำระเงินไม่ตรงเวลา หรือผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายตามมา ไม่ว่าจะเป็นค่าปรับ ค่าธรรมเนียมติดตามทวงถาม และที่สำคัญที่สุดคือดอกเบี้ยมหาโหด เราจึงต้องมั่นใจก่อนขอสินเชื่อทุกครั้งว่าเราจะสามารถหารายได้มาจ่ายชำระหนี้ได้ตรงเวลา เต็มจำนวน ตั้งแต่เดือนแรกไปจนถึงเดือนสุดท้ายอย่างแน่นอน
สรุปแล้ว เป็นหนี้ ไม่ดีจริงหรือ คำตอบก็คือไม่จริงทั้งหมด หนี้สินในบางสถานการณ์ช่วยเพิ่มโอกาสในการลงทุน แม้ว่าตอนนั้นเราจะไม่มีเงินอยู่ก็ตาม แต่เงื่อนไขที่จะทำให้มันกลายเป็นหนี้ดีได้ก็คือเราต้องมั่นใจว่าเงินที่เราจะได้รับจากการลงทุนด้วยหนี้สินในครั้งนี้ เป็นจำนวนเงินที่มากกว่าดอกเบี้ยที่เราต้องเสียให้กับเจ้าหนี้ เพราะถึงคุณจะกู้มาลงทุน แต่ถ้ามันไปไม่รอด มันก็จะกลายเป็นหนี้เสียเหมือนกัน