เป็นข่าวดังไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องที่ แจ๊ค หม่า มหาเศรษฐีของจีน ผู้ก่อตั้งธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กลายเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างอาลีบาบากรุ๊ปนั้น ได้ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นของกิจการ KFC ในประเทศจีน โดยข่าวที่ออกมาโดยมากจะจั่วหัวในเรื่องของการแก้แค้นของ แจ๊ค หม่า หลังจากที่เคยไม่ได้รับพิจารณาเข้าทำงานที่ KFC ในสมัยที่เขาเข้าสมัครงาน จากผู้สมัครทั้งหมด 24 คน มีเขาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้รับการคัดเลือก พอกลายเป็นมหาเศรษฐีของจีนแล้วจึงซื้อกิจการ KFC เสียเลย
แถมยังมีคนเอาไปแต่งเป็นเรื่องโจ๊กขำ ๆ ว่า วันหนึ่ง แจ๊ค หม่า เกิดหิวขึ้นมาในระหว่างการทำงานจึงให้เลขาไปช่วยซื้อ KFC มาให้ผ่านไปประมาณ 5 นาที เลขากลับมาพร้อมกับรายงานว่าได้ซื้อ KFC เรียบร้อยแล้วในราคา 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตามเรื่องของหัวข้อข่าวคงจะตั้งเพื่อให้ข่าวดูน่าสนใจเท่านั้น ระดับมหาเศรษฐีของจีนอย่าง แจ๊ค หม่า คงไม่ได้ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการใดเพียงเพราะต้องการที่จะแก้แค้นเรื่องในอดีตอย่างแน่นอน แต่ที่ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ KFC น่าจะเป็นเพราะเห็นโอกาสอะไรบางอย่างในเรื่องของธุรกิจมากกว่าเรื่องอื่น ๆ
สำหรับรายละเอียดของเนื้อข่าวนั้นได้บอกเอาไว้ว่า Yum Brands ที่เป็นบริษัทแม่ของ KFC และ Pizza Hut ได้ตัดสินขายกิจการที่เป็นสาขาในประเทศจีนให้กับบริษัท Primavela Capital และ Ant Financial ในมูลค่า 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็อยู่ที่ราว 15,000 ล้านบาท การเข้าซื้อกิจการ KFC ในครั้งนี้ทำให้ทั้งสองบริษัทได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน Yum China และทำให้ Yum China ไม่ได้มีฐานะเป็นบริษัทในเครือของ Yum Brands อีกต่อไป จึงจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เป็นจำนวน 3% ของรายได้ของทุกปีให้กับ Yum Brands ด้วย สำหรับบริษัท Ant Financial นั้นเป็นบริษัทในเครือของอาลีบาบากรุ๊ปที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเงินและการลงทุน โดยปัจจุบันธุรกิจที่ Ant Financial ดูแลอยู่ก็จะเป็นเรื่องของระบบ Alipay แพลทฟอร์มการชำระเงินของธุรกิจอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา
ก่อนหน้านี้อาลีบาบากรุ๊ปก็ได้ทำการซื้อกิจการของ Lazada ซึ่งถือเป็นอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อย่างไรก็ยังถือว่าเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันกับที่อาลีบาบาทำอยู่ การซื้อกิจการ KFC ในครั้งนี้ถือเป็นการฉีกแนวในการลงทุนของอาลีบาบากรุ๊ปออกมาจากธุรกิจทางด้านอีคอมเมิร์ซและไอทีที่ตนเองมีประสบการณ์และถนัด
อ่านเพิ่มเติม : เพราะอะไรทำไม Alibaba ต้องซื้อกิจการ Lazada
ย้อนกลับมาดูกิจการ KFC ในประเทศจีนกันสักนิด
ในระดับโลกแล้วธุรกิจที่ถือเป็นอันดับหนึ่งในเรื่องของร้านฟาสต์ฟูดก็คือแมคโดนัลด์ โดย KFC นั้นเป็นรอง แต่สำหรับประเทศจีนแล้ว KFC ถือเป็นธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดอันดับหนึ่งโดยเมื่อปีที่ผ่านมามีสาขามากถึง 5,000 สาขา ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งร้านสาขาแรกที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 1987 เคยมีคนถึงกับพูดไว้ว่าการเปิดสาขาแรกของ KFC ในกรุงปักกิ่งครั้งนั้นเสมือนกับเป็นเครื่องหมายของการเริ่มต้นศักราชของเทรนด์ร้านอาหารฟาสต์ฟูดในประเทศจีนเลยทีเดียว เพราะเป็นร้านสาขาแรกของร้านอาหารฟาสต์ฟูดในแบบตะวันตกที่เปิดในประเทศจีนด้วย
KFC ในประเทศจีนได้เติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งมาเป็นเวลาถึง 25 ปี มีการเติบโตของยอดขายและรายได้ต่อเนื่อง ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด จนถึงปี 2012-2014 ที่ต้องเจอกับปัญหาของวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ในเรื่องของการใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของไก่ซึ่งทำให้ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านอาหารและยังมีเรื่องของซัพพลายเนื้อสัตว์หมดอายุจากกลุ่ม OSI กรุ๊ปซึ่งภายหลังก็ถูกสั่งปิดกิจการไปโดยรัฐบาลจีน อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาในเรื่องของไข้หวัดนกที่ทำให้ความนิยมในการรับประทานสัตว์ปีกนั้นลดลงอย่างมากอีกด้วย ปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นทำให้ยอดขายของ KFC ในจีนตกฮวบลงไปอย่างมากและจนถึงทุกวันนี้แม้จะดีขึ้นแต่ก็ยากที่จะกลับมาดีเหมือนช่วงที่เติบโตใหม่ ๆ
ประกอบกับเทรนด์ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ของประเทศจีนซึ่งก็เหมือนกันกับประชากรในส่วนอื่น ๆ ของโลกได้หันมาเลือกรับประทานอาหารที่เป็นแนวสุขภาพมากขึ้น ทำให้ยอดขายของร้านอาหารฟาสต์ฟูดต่างก็ตกฮวบกันไปเป็นทิวแถม ไม่เว้นแม้แต่ KFC ที่เป็นเป็นร้านอาหารฟาสต์ฟูดอันดับหนึ่งในประเทศจีนด้วย
การขายกิจการในประเทศจีนของ Yum Brands ทั้งที่ธุรกิจในประเทศจีนสร้างรายได้ให้เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากธุรกิจทั่วโลก ก็มีผู้วิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะผู้ถือหุ้นของ Yum Brands ต้องการที่จะล็อคมูลค่าของกิจการ KFC ในจีนขณะที่ยังคงเป็นอันดับหนึ่งอยู่ในขณะนี้ การเลือกขายกิจการในจีนออกไปยังช่วยให้ Yum Brands มีเม็ดเงินมากพอที่จะมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น รวมถึงการวางแผนที่ใช้เม็ดเงินนี้ในการซื้อหุ้นคืนด้วยและเนื่องจากความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นในธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟูดในจีน จึงเชื่อว่าการเลือกขายกิจการออกไปให้อิสระกับเจ้าของธุรกิจที่เป็นชาวจีนในการดำเนินงานน่าเป็นผลดีกับตัวธุรกิจมากกว่าด้วย ส่วน Yum Brands ก็เลือกโมเดลที่จะรับค่าลิขสิทธิ์ 3% จากยอดรายได้ในกิจการแทน
การเข้าซื้อกิจการของ Primavela Captial ด้วยเงินลงทุน 410 ล้านเหรียญสหรัฐและ Ant Financial ด้วยเงินลงทุน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่คงจะต้องดูกันต่อไปว่าหลังจากซื้อกิจการ KFC ในประเทศจีน รวมทั้ง Pizza Hut และ Taco Bell จะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจอะไรบ้างหรือไม่ หากสามารถบริหารจัดการให้ธุรกิจกลับมา turnaround สร้างยอดขายได้ดีขึ้นก็ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะแบรนด์ KFC และ Pizza Hut เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วประเทศอยู่แล้ว สำหรับดีลการซื้อขายครั้งนี้คาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2559 และ Yum China ก็จะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ของนิวยอร์กภายหลังจากที่ดีลเสร็จสิ้นด้วย
อ้างอิง