หนังสือเรื่อง “ความลับของเศษเหรียญ ใช้เงินก้อนเล็กดึงดูดเงินก้อนโต” เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนชาวญี่ปุ่นทีชื่อว่า คะเมะดะ จุนอิชิโร่ บริษัทของบิดาผู้เขียนได้ล้มละลายทำให้ชีวิตของเขาต้องกลายเป็นคนยากจนไร้บ้านต้องดิ้นรน แต่ภายหลังเขาก็ได้พยายามจนสามารถเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้สำเร็จ ปัจจุบันก็ยังทำงานนี้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาและได้พบปะผู้บริหารของบริษัทใหญ่ในญี่ปุ่นมากมาย การที่ได้คลุกคลีอยู่กับผู้ที่เป็นผู้บริหารเหล่านี้ทำให้เขามีโอกาสได้รู้ความลับบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องเงินที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอิทธิพลต่อความมั่งคงของคนเราได้อย่างมากมาย เขาได้นำความลับเหล่านั้นมาใช้กับชีวิตของเขาเองและที่สำคัญ ก็คือเขาได้นำมาแบ่งปันให้กับพวกเราด้วย
เรามาดูกันค่ะว่าหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่มีน้ำหนักเบา จับถนัดมือและสามารถอ่านรวดเดียวจบได้เล่มนี้ มีเนื้อหาอะไรที่น่าสนใจข้างในบ้างค่ะ ผู้เขียนได้เขียนถึงเศษเหรียญเอาไว้อย่างน่าฟัง อ่านแล้วทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าเงินที่แม้เป็นเศษเหรียญที่บางคนไม่เห็นค่านั้น มันกลับดูมีชีวิต น่าทะนุถนอมและมีค่ามากในแทบทุกโอกาสหากเราเพียงแค่เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเศษเหรียญเหล่านั้น
ทำไมคนที่หาเงินเก่งถึงก้มลงเก็บเหรียญหนึ่งเยน
เริ่มต้นด้วยคำถามง่าย ๆ ที่ว่าหากเราพบเศษเหรียญตกอยู่ที่พื้นถนนเราจะก้มลงเก็บหรือไม่ หลายคนอาจไม่ลังเลที่จะตอบว่าไม่เก็บแน่นอน ยิ่งเป็นเหรียญบาท เหรียญสลึงด้วยแล้วยิ่งไม่อยากมอง หากเป็นแบงก์ห้าร้อยแบงก์พันก็ว่าไปอย่าง แต่เชื่อไหมคะว่าที่ผู้เขียนเคยลองไปถามผู้บริหารระดับสูงที่เขาร่วมงานด้วย ทุกคนต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เก็บสิ ทำไมจะไม่เก็บล่ะ เขาเหล่านั้นยังบอกอีกว่าเงินไม่ว่าจะเป็นหนึ่งเยนหรือหนึ่งหมื่นเยนก็มีค่าเหมือน ๆ กัน หากใครไม่เก็บสิแปลก ซึ่งผู้เขียนได้บอกว่าเท่าที่เขาสังเกตมาพบว่าคนที่เขาคลุกคลีอยู่ด้วยที่เห็นความสำคัญของเงินไม่ว่าจะมากน้อยไม่ต่างกันนั้น เขาก็จะปฏิบัติกับคนเหมือนกันกับที่ปฏิบัติกับเงินด้วยเช่นกัน เขาเหล่านั้นจะปฏิบัติกับคนที่ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับเขาเหมือนกับคนที่ให้ประโยชน์กับเขาแทบไม่ได้ต่างอะไรกันเลย ผู้เขียนจึงให้ข้อสรุปไว้อย่างน่าคิดว่าวิธีปฏิบัติต่อเศษเหรียญของคนจะเป็นตัวบอกถึงทัศนคติโดยรวมที่คนนั้นมีต่อเรื่องเงินและเรื่องอื่น ๆ ได้ดีทีเดียว
ทำไมกระเป๋าใส่เหรียญช่วยให้ฟุ่มเฟือยน้อยลง
ผู้เขียนยังได้บอกถึงเทคนิคในการแยกเหรียญใส่กระเป๋าใส่เหรียญอีกใบที่แยกต่างหากจากกระเป๋าสตางค์ของเรา โดยบอกว่าเป็นวิธีที่จะช่วยให้ฟุ่มเฟือยน้อยลง เพราะการต้องหยิบทั้งกระเป๋าสตางค์และกระเป๋าใส่เหรียญเพื่อจ่ายอะไรบางอย่าง หากมีความไม่สะดวกเกิดขึ้นบ้าง เราก็จะอาจจะเปลี่ยนใจไม่ซื้อของชิ้นนั้นไปก็ได้หรือบางทีเมื่อต้องออกไปซื้อของอะไรแค่เพียงเล็กน้อย ผู้เขียนก็จะเลือกที่จะหยิบแค่เพียงกระเป๋าใส่เศษเหรียญออกไปเท่านั้น เมื่อไปถึงร้านของที่มีมูลค่ามากที่เราไม่ได้วางแผนที่จะซื้อก็จะไม่ได้เงินเราไปอย่างแน่นอน
วิธีจ่ายเหรียญแบบมีความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ
ผู้เขียนยังได้บอกไว้ถึงทัศนคติในการหยิบใช้เหรียญเพื่อจับจ่ายออกไปไว้อย่างน่ารักมาก อ่านแล้วอยากจะทำตามขึ้นมาทันใด นั่นก็คือทุกคนเมื่อหยิบใช้เหรียญแน่นอนส่วนมากคิดว่าเพราะเหรียญเกะกะ หนักกระเป๋า อยากจะใช้มันให้หมดไป ผู้เขียนได้เสนอวิธีคิดที่จะทำให้การใช้เหรียญเป็นไปอย่างมีความสุข นั่นก็คือให้ใช้เหรียญโดยใช้คำนึงถึงความสุขของผู้รับด้วย เช่น แทนที่เราจะใช้แต่แบงก์ใหญ่จ่ายเงินเพื่อให้เจ้าของร้านทอนเงิน ซึ่งเขาก็ต้องนับเงินทอนให้กับลูกค้าเกือบจะทุกคนอยู่แล้ว ลองให้เงินแบบพอดีไม่ต้องทอนดูบ้าง เจ้าของร้านไม่ต้องหยิบเงินทอนหรือเตรียมเงินทอนไว้ไม่พอ ก็น่าจะมีความสุขขึ้นได้จากความใส่ใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเรา
อะไรมีค่ามากกว่ากันระหว่างเงินหนึ่งเยนกับเงินหนึ่งหมื่นเยน
ผู้เขียนได้ตั้งคำถามว่า อะไรมีค่ามากกว่ากันระหว่างเงินหนึ่งเยนและเงินหนึ่งหมื่นเยน คำตอบที่ดีที่สุดของคำถามนี้น่าจะมาจากตัวอย่างการใช้ชีวิตของเศรษฐีระดับโลกอย่าง บิล เกตต์ เจ้าของบริษัทไมโครซอฟท์ที่มีทรัพย์สินคิดเป็นเงินเยนก็อยู่ที่ราว 8 ล้านล้านเยน การใช้ชีวิตของเขาไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบิน เขาจะนั่งชั้นประหยัด เมื่อจะซื้อแมคโดนัลด์หรือกาแฟสตาร์บัคส์ก็จะใช้คูปองส่วนลดเหมือนกับคนทั่วไป ถึงแม้เขาจะร่ำรวยแค่ไหน แต่การปฏิบัติตนเสมือนหนึ่งเป็นคนธรรมดาแบบนี้ได้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของบิล เกตต์ ที่มีต่อเงินว่าไม่ว่าเงินจะมากขนาดไหนก็ตามมันก็เกิดมาจากเงินที่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดมารวมกันนั่นเอง แม้เขาจะมีทรัพย์สินมากถึง 8 ล้านล้านเยน แต่เขาก็คำนึงอยู่เสมอว่าเงิน 8 ล้านล้านเยนนั้น ก็มาจากการรวมกันของเงินหนึ่งเยนนั่นเองและนั่นก็หมายความว่าเขาเห็นคุณค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์ไม่ว่าเงินนั้นจะมากหรือน้อยแค่ไหนก็ตาม
ทิปหนึ่งเหรียญแทนคำขอบคุณ
ผู้เขียนได้เขียนเรื่องการให้ทิปเป็นเศษเหรียญไว้อย่างน่าประทับใจเช่นกัน โดยบอกว่าคนส่วนใหญ่มักให้ทิปเศษเหรียญทั้งหมดจากเงินที่ทอนมา เพียงเพราะความคิดที่ว่าขี้เกียจหยิบเหรียญเหล่านั้นขึ้นมา แต่สำหรับเขาเขาเลือกที่จะหยิบเงินทอนทั้งหมดขึ้นมา แล้ววางเหรียญหนึ่งเหรียญโดยมาจะเป็นเหรียญร้อยเยนลงไปใหม่เพื่อเป็นทิปพร้อมกับพูดว่า ช่วยรับไปด้วยนะครับ นี่เป็นสินน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งแน่นอนว่าการทำแบบนี้ความรู้สึกของผู้รับย่อมต้องต่างไปและต้องรู้สึกประทับใจมากกว่า นี่จึงเป็นการใช้เศษเหรียญเพื่อสร้างความสุขและความสัมพันธ์อันดีของผู้คนได้
ถ้าออมเงินหนึ่งเยนไม่ได้ ก็ออมเงินสิบล้านเยนไม่ได้
ผู้เขียนยังได้บอกไว้อีกว่า หากเราออมเงินหนึ่งเยนไม่ได้กว่าหวังที่จะออมเงินสิบล้านเยนไม่ได้เช่นกัน ตัวเขาเองเลือกที่จะหยอดเหรียญห้าร้อยเยนทุกครั้งที่มีลงในกระปุก และไม่น่าเชื่อว่าพอเวลาผ่านไปเรากลับพบว่ามันเป็นจำนวนเงินที่มากพอที่แทบจะซื้อของชิ้นใหญ่ราคาแพงหรือเป็นเงินท่องเที่ยวของเราได้เลย ต่อให้เราอยู่ในภาวะที่แทบจะไม่สามารถออมเงินได้เลย อย่างน้อยก็ขอให้เราหยอดกระปุกวันละหนึ่งเยน ขอเพียงหนึ่งเยนเท่านั้น แต่ทำให้ได้ทุกวันข้อดีของการออมเหรียญหนึ่งเยนที่ดูแทบจะไม่มีค่าอะไร มันได้อะไรมากกว่ามูลค่าที่เป็นเงิน สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะติดตัวเราไป ก็คือ นิสัยการออมนั่นเอง
เนื้อหาที่ยกมานี้เป็นแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น หากได้อ่านเนื้อหาทั้งเล่มรับรองว่าคุณจะวางหนังสือเล่มนี้ไม่ลง ต้องอ่านรวดเดียวจบ อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วทำให้เราเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่มีต่อจำนวนเงินที่เล็กน้อยที่เราแทบไม่เคยเห็นค่าอย่างเศษเหรียญไปได้จริง ๆ ที่สำคัญก็คือความใส่ใจในเงินเล็กน้อย ใส่ใจที่จะดูแลมัน เก็บมันไว้ในที่เหมาะสม ใส่ใจที่จะนำมันเข้ามาในชีวิต ใส่ใจเวลาที่เราจะใช้มันออกไป หากเราฝึกฝนทำจนเป็นนิสัยมันจะไม่เป็นเพียงแค่เรื่องของเศษเหรียญเท่านั้น แต่มันอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่เรามีต่อเงิน ต่อผู้คนรอบข้างต่อการดำเนินชีวิตของเราได้เลยทีเดียว