ด้วยอัตราการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนในปัจจุบันส่งผลให้ยอดมูลค่าทางตลาดขึ้นสูงถึงหลายหมื่นล้านบาท ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ ของผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ต่างก็มุ่งหวังจะขยายฐานลูกค้าและเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดให้มากขึ้น ไม่ต่างไปจากตลาดแชทแอปพลิเคชั่นที่ก็ทวีความเข้มข้นในการช่วงชิงเป็นเจ้าตลาดกันไปมา ล่าสุดกับการเปิดตัวของสื่อแชทแดนกิมจิ ที่อาจจะเป็นหน้าใหม่ในประเทศไทยเรา แต่สุดฮิตติดอันดับยอดนิยมในดินแดนของเหล่าโอปป้า ประเทศเกาหลีใต้กันอย่างมาก
จากสถิติการใช้งานแชทแอป KakaoTalk ผ่านโทรศัพท์มือถือ สามารถเทียบเป็นสัดส่วนเท่ากับ 3 ใน 4 ของประชากรในประเทศเกาหลีใต้ หรือ เกือบ ๆ 50 ล้านคนในประเทศเกาหลีใต้ และยังมีอีกประมาณ 10.8 ล้านคนที่เป็นผู้ใช้งานแอพตัวนี้นอกประเทศเกาหลีใต้ด้วยค่ะ
KaKaoTalk เกิดขึ้นจากความทุ่มเทแรงกายแรงใจของ Kim Bum-Soo หรือ Brian ซึ่งก็คือผู้ก่อตั้ง KakaoTalk โดยเรื่องราวของ Kim ชายวัย 48 ปีคนนี้ นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคนสู้ชีวิตที่ใช้ความมานะและความตั้งใจเอาชนะความยากจนและสามารถยกระดับฐานะการเงินของตัวเองและครอบครัวขึ้นมาได้ ในวัยเด็กนั้นเขาเติบโตขึ้นมาจากย่านที่ยากจนที่สุดของกรุงโซล แต่ก็ใฝ่หาความรู้จนสามารถเข้าศึกษาใน Seoul National University หรือก็ระดับเดียวกับมหาวิทยาลัย Harvard ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งก็น่าจะประมาณมหาวิทยาลัยรัฐบ้านเราก็คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นเองค่ะ และได้นำความรู้ที่เรียนมาเปิดกิจการของตนเองด้านอินเตอร์เนตที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ความสำเร็จของเขาในประเทศนี้น่าจะจัดได้ว่าเป็นงานหินมาก ๆ งานหนึ่ง เพราะในประเทศที่อำนาจและเงินส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ตระกูลดังอย่าง แชโบล ที่ควบคุมดูแลกิจการขนาดใหญ่ภายในประเทศไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ซัมซุง หรือว่า ฮุนได ค่ะ
ความพิเศษแรกของ Kakao Corp ก็คือการทำให้ผู้คนรู้จักการใช้แอพส่งข้อความให้เป็นได้มากกว่าสื่อสังคมออนไลน์ที่ไว้พูดคุยสัพเพเหระไปมาอย่างเดียว แต่ผู้ที่ทำธุรกิจก็สามารถขับเคลื่อนการตลาดและกระตุ้นยอดขายผ่าน platform นี้ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ตลอดจนเกมสนุก ๆ และสินค้าออนไลน์ ทั้งที่เป็นคูปองและสติ๊กเกอร์ ไม่เพียงเท่านั้น ศักยภาพของ Kakao Talk ก้าวขึ้นอีกขั้นเมื่อบริษัทKakao แห่งนี้ตัดสินใจควบรวมกิจการกับบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเกาหลีใต้และเป็นบริษัทที่ให้บริการ online search ที่ชื่อว่า บริษัท Daum จากการ Merge กันนั้นจึงได้เกิดเป็นชื่อบริษัทใหม่ว่า Daum Kakao ด้วยมูลค่าทางการตลาดที่ดีดตัวสูงขึ้นจากเดิมเป็น 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐค่ะ ในโลกที่เทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ทุกวัน จึงไม่แปลกที่ไอเดียดี ๆ โดน ๆ จะถูกลอกเลียนไปได้เช่นกัน
ในขณะที่ KakaoTalk ของเขาถูกจำกัดให้โตแค่ในตลาดเกาหลีใต้เท่านั้น เป็นเวลาที่คู่แข่งชั้นแนวหน้ารายใหญ่ต่างก็ดึงแนวคิดลักษณะเดียวกันนี้ไปใช้ทำเงินในตลาดอื่น ๆ นอกประเทศเกาหลีใต้แล้ว จุดเด่นจุดขายของ Kakao Talk ที่หมายจะเจาะตลาดใหม่นอกประเทศอย่างเช่นตลาดประเทศไทย ที่ติดอันดับ 2 ของการใช้สื่อแชทออนไลน์มากที่สุด กลยุทธ์การตลาดแรกที่ Kakao Talk เลือกใช้เพื่อเปิดตลาดก็คือการเลือกปล่อย viral ผ่าน influencer คนดังในแวดวงบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น วู้ดดี้, ดีเจเอกกี้, นานา ไรบีนา, วุ้นเส้น, ออมสุชาร์, ลิเดีย ที่พาเหรดกันมาจุดกระแสให้คนอยากรู้ก่อน จากนั้นก็ให้หนุ่มหล่อขั้นแทพอย่าง โดม ปกรณ์ ลัม ออกมาเฉลยและชักชวนให้ผู้ชมหันมาลองดาวน์โหลด Kakao Talk แอพพลิเคชั่นเล่นแชทกัน ซึ่งลักษณะการเปิดตลาดแนวนี้ของแชทแอพแดนกิมจิไม่ได้แตกต่างไปจากแชทเจ้าตลาดอย่าง Line และ น้องใหม่อย่าง WeChat เลย
ส่วนจุดขายที่ Kakao Talk หวังจะเอามามัดใจสาวกโอปป้าทั้งหลายก็คือ แชตแอพสไตล์เคป็อป ที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามข่าวสารและอับเดตเรื่องราวของศิลปินเกาหลีชื่อดังได้แบบทันใจอินไซด์กันไปเลย และยังจัดฟีดเจอร์เก๋ ๆ อย่างสติ๊กเกอร์ดุ๊กดิกพูดได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หรือการให้ดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์โดยไม่ต้อง add official account ให้รำคาญอีกด้วย ยังไม่รู้ว่าหมัดเด็ดต่าง ๆ ที่ Kakao Talk ขนมาเสนอให้ผู้ใช้งานในประเทศไทยนั้น จะตอบโจทย์จนทำให้ผู้ใช้งานยอมดาวน์โหลดเพิ่มอีกหนึ่งแชทหรือเปล่า เพราะเอาเข้าจริง ๆ ที่มีแชทกรุ๊ปกันอยู่ตอนนี้ บางทีก็เหมือนจะมากเกินพอกันอยู่แล้วด้วยสิคะ
ศึกตลาด แชทออนไลน์ แอพที่มากไปด้วยห้องแชทต่างสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็น WeChat ของบริษัท Tencent แห่งแดนมังกร ประเทศจีน ที่เปิดตัวแอพพร้อมกับฐานผู้ใช้งานชาวจีนมากกว่า 468 ล้านคนต่อเดือน หรือจะเป็นแอพดังอย่าง Line ที่บริหารงานโดย Naver แห่งแดนอาทิตย์อุทัย ประเทศญี่ปุ่น บริษัทเก่าของ Kim ที่ก็มีผู้ใช้งานในประเทศญี่ปุ่นมากถึง 170 ล้านคน และที่ขาดไม่ได้อีกรายที่ก็น่าจับตาดูความเคลื่อนไหวทางตลาดในอนาคตอย่าง Whatsapp แชมป์เก่าจากฝั่งอเมริกา ที่ต่อนี้อยู่ภายใต้การนำทัพของ Facebook ด้วยการเข้าซื้อกิจการในมูลค่าที่สูงมากถึง 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าไม่เห็นโอกาสทองทำเงิน Facebook ก็คงไม่น่าจะลงมาเสี่ยงในตลาดแชทแอพที่ร้อนระอุอย่างตอนนี้หรอกจริงมั๊ยคะ