เราคงเคยได้ยินมาบ้างว่าคนญี่ปุ่นออมเงินเก่ง แต่คงมีน้อยคนที่รู้ว่าคนญี่ปุ่นมีเคล็ด (ไม่) ลับในการออมเงินอย่างไร ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1904 คุณ Hani Motoko ได้ลงบทความเกี่ยวกับ Kakeibo (家計簿) หรือบันทึกรายรับรายจ่ายครัวเรือนในนิตยสารผู้หญิงของญี่ปุ่น เนื่องจากเชื่อว่าความมั่นคงทางการเงินส่งผลอย่างมากต่อความสุข หลังจากนั้น การจดบันทึกนี้ก็แพร่หลายและได้รับการพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยผู้ใช้
จดรายรับรายจ่ายไปทำไม
ถึงแม้งานจะยุ่งเพียงใด คนญี่ปุ่นก็ถูกสอนให้ทำความเข้าใจรายรับรายจ่ายของครอบครัว/ตนเอง การจดบันทึกตัวเลขลงในสมุดทำให้สามารถเห็นภาพการใช้จ่ายได้ดียิ่งขึ้น เช่น เห็นว่าใช้จ่ายไปกับหมวดหมู่ไหนเป็นพิเศษ และค่าใช้จ่ายไหนบ้างที่ไม่จำเป็น เมื่อมีเป้าหมายทางการเงิน เช่น ต้องการจะซื้อบ้าน เราก็จะสามารถดูได้ว่าจะจัดการกับการใช้จ่ายของเราอย่างไรเพื่อให้เราบรรลุเป้าหมาย
ตัวอย่าง Kakeibo #1 จากเว็บไซต์ของไปรษณีย์ญี่ปุ่น
ตัวอย่าง Kakeibo #2 จาก “The new Kakeibo journal” ของ Gemma Lin
ขั้นตอนการจดบันทึกจากหนังสือ “Kakeibo: the Japanese art of budgeting & saving money” ของ Fumiko Chiba
ก่อนจะเริ่มเดือนใหม่ให้ตั้งเป้าหมายการออมเงินและวิธีที่จะออมเงินให้ได้ตามเป้าหมาย โดยตอบคำถามเหล่านี้
- มีเงินเข้ามาเท่าไหร่ บันทึกรายได้จากทุกแหล่ง
- ต้องใช้เงินเท่าไหร่ บันทึกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายทุกเดือน เช่น ค่าเช่า
- มีเงินเหลือเท่าไหร่
- อยากออมเงินเท่าไหร่ในเดือนนี้ ให้ตั้งตัวเลขที่เป็นจริงได้ แต่ไม่ง่ายเกินไป
- ควรใช้เงินเท่าไหร่
ในระหว่างเดือน ให้บันทึกค่าใช้จ่ายลงหมวดหมู่ต่างๆ เพื่อให้เห็นรูปแบบการใช้จ่ายของตนเองชัดเจนขึ้น รวมทั้งให้ทบทวนแผน และหาวิธีปรับปรุงการใช้เงิน เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะถึงเป้าหมาย
คำแนะนำเพิ่มเติม
- การใช้เงินให้อยู่ในงบ บางคนนำเทคนิคการใช้งบประมาณแบบซองจดหมายมาใช้ด้วย คือ ถอนเงินที่จะใช้ในสัปดาห์หรือเดือนนั้นออกมาเป็นเงินสด และแยกเงินตามหมวดหมู่ๆ ละซอง บางคนให้เวลาตนเองคิดดีๆ อีก 24 ชั่วโมงก่อนตัดสินใจซื้อของ หรือบางคนมีแผนผังหลักเกณฑ์ชัดเจนว่าจะซื้อของในกรณีใดบ้าง
- อาจนำบันทึกของเราไปเทียบกับสถิติกลาง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เราอาจจะอยากเก็บเงินได้มากขึ้น เช่น คนที่มีรายได้ประมาณเรา เก็บเงินได้กี่เปอร์เซ็นต์ เราไม่จำเป็นต้องทำให้ได้มากเท่าเขา แต่อย่างน้อย เราเก็บมากขึ้นกว่าเดือนก่อนได้ไหม
- บันทึกสิ่งที่เราทำได้ดีขึ้นในเดือนนั้นๆ เช่น “เดือนนี้เก็บเงินได้มากกว่าเดือนที่แล้ว…” เพื่อให้รู้สึกภูมิใจ
- พิจารณาทางเลือกอื่นๆ นอกจากการฝากเงินในธนาคาร เช่น ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม หรือหุ้น เพื่อให้ผลตอบแทนที่ได้จากเงินเก็บของเราสูงขึ้นในระยะยาว แต่ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนที่เสี่ยงขึ้นนี้ไม่รับประกันว่าเงินต้นจะอยู่ครบ เพราะฉะนั้นควรจัดพอร์ตการลงทุนและกระจายความเสี่ยงให้ดี
เขียนโดย มานี ปิติ
อ้างอิง
-
https://www.cnbc.com/2020/01/08/how-this-japanese-method-of-saving-money-changed-my-lifeand-made-me-richer.html
-
https://www.japantimes.co.jp/news/2020/01/25/national/media-national/kakeibo-turning-dull-aspect-japanese-life-social-media-gold/
-
https://www.jp-bank.japanpost.jp/moneyguide/oyakudachi/category4/column3.html