หลังจากที่ลูกน้อยเกิดมาค่าใช้จ่ายตามตัวที่นอกจากค่ากินค่าอยู่นั่นก็คือ ค่าฉีดวัคซีน นั่นเอง วัคซีนนั้นมีความจำเป็นเนื่องจากป้องกันโรคร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่เมื่อเด็กเกิดมาในแพ็คเกจการคลอดจะมีรวมวัคซีนบีซีจี (BCG) ที่ต้นแขนด้านซ้าย หลังจากนั้นไม่นาน ตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนจะกลายเป็นตุ่มนูน เป็นหนอง แตกออก และเป็นแผลเป็น โดยทั่วไปกว่าแผลวัคซีนจะแห้ง ใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ไม่ต้องทายา ใช้เพียงแค่สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดก็เพียงพอ และ วัคซีนตับอักเสบบี (HBV Vaccine) ที่ต้นขาด้านหน้า 1 เข็ม ในกรณีที่คุณแม่เป็นไวรัสตับอักเสบบี แนะนำให้ฉีดเข็มที่ 2 ตอนอายุ 1 เดือน (ปกติฉีดตอนอายุ 2 เดือน)
การซื้อแพ็คเกจเป็นสิ่งที่แนะนำเพราะกันเราลืม และสามารถเชฟเงินในกระเป๋าของคุณพ่อคุณแม่ดีกว่าซื้อแยก ส่วนใหญ่การซื้อแพ็คเกจสำหรับช่วงอายุ 1-18 เดือน (หรือ 1 เดือน ถึง 1 ขวบ 6 เดือน) โดยลิสต์รายการวัคซีน มีดังนี้
- วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เข็มที่ 2
- วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ เชื้อฮิป เข็มที่ 1
- วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ เชื้อฮิป เข็มที่ 2
- วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ เชื้อฮิป เข็มที่ 3
- วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี เข็มที่ 3
- วัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม
- วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ
- วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
- วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ เชื้อฮิป เข็มที่ 3
โดยแพ็คเกจปี 2016 อยู่ที่ 12,990 บาท (ปีที่แล้วที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ราคาอยู่ที่ 9,900 บาท) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาขึ้น 30% ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสำรองเงินไว้ด้วยสำหรับค่าใช้จ่ายจุดนี้ นอกจากนี้ ยังควรฉีดวัคซีนป้องกันโรค IPD อีก 4 เข็ม ราคาแพ็คเกจ 13,200 บาท เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อเกี่ยวกับปอด (แต่ตัวนี้ราคาขึ้นไม่มากจากปีที่แล้วที่ราคาอยู่ที่ 12,700 บาท โดยขึ้นราคามา 3%) และเมื่อลูกอายุครบ 2 ขวบ ก็จะมีวัคซีนมาให้ฉีดอีกชุด
ข้อควรระวังหลังจากฉีดวัคซีน
- ทุกครั้งเวลาจะฉีดวัคซีนควรสอบถามแพทย์ทุกครั้งว่าผลกระทบจากวัคซีนที่กำลังจะฉีดมีอะไร (side effect) เพราะเราจะได้เตรียมรับมือได้ ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ เชื้อฮิป เมื่อฉีดแล้วจะมีไข้ในเด็ก ภายใน 48 ชั่วโมง อาจจะต้องเตรียมยาลดไข้ไว้ (Tempra) ส่วนปริมาณที่กินควรปรึกษาแพทย์ อาจจะมีการเช็ดตัวเพื่อช่วยให้ไข้ลดลง
ปกติอุณหภูมิของร่างกายคนเราจะอยู่ที่ 36.0 – 37.5 องศาเซลเซียส ถ้าวัดไข้แล้วการที่จะบอกว่ามีไข้ต่ำๆ หรือมีไข้สูงเราดูจากปรอทวัดไข้ ถ้าอุณหภูมิที่วัดได้อยู่ระหว่าง 37.6 – 38.4 องศาเซลเซียส จัดว่ามีไข้ต่ำ ถ้าอุณหภูมิที่วัดได้ตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป จัดว่ามีไข้สูง ซึ่งการเช็ดตัวจะช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายลง โดยใช้น้ำเป็นตัวนำความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้เด็กเกิดความสุขสบาย และยังเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการชักจากไข้สูง
แต่จะปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้การเช็ดตัวลดไข้นั้นมีประสิทธิภาพนั้นมีดังนี้
อุปกรณ์
- กะละมังเช็ดตัว
2. ผ้าขนหนูผืนเล็ก 2-4 ผืน
3. ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ 1 ผืน
ขั้นตอนการปฏิบัติ มีดังนี้
- เตรียมของใช้และน้ำให้พร้อม
- ใช้น้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ไม่ควรใช้น้ำแข็งเช็ดตัว เพราะจะทำให้หลอดเลือดหดตัว และระบายความร้อนออกได้ยาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการหนาวสั่นและเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อจากการหนาวสั่น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไข้กลับได้
- ปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อไม่ให้เด็กหนาวสั่นขณะเช็ดตัว
- ถอดเสื้อผ้าเด็กออกให้หมด
- ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กชุบน้ำให้ชุ่ม เช็ดบริเวณหน้า ลำตัว แขน ขา พักผ้าไว้บริเวณศรีษะ ซอกคอ ซอกรักแร้ ขาหนีบ เพื่อระบายความร้อน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่รวมของเส้นเลือดจะระบายความร้อนได้ดี
- เช็ดจากปลายมือ ปลายเท้าสู่ลำตัวโดยเช็ดย้อนรูขุมขนเพื่อระบายความร้อน
- ขณะเช็ดตัวให้ออกแรงเหมือนถูตัว เพื่อจะช่วยให้เลือดลมเดินดีขึ้น ทำให้เส้นเลือด และ รูขุมขนขยายตัว
- ถ้ามีอาการหนาวสั่นให้หยุดเช็ดตัวทันที เพราะถ้าเช็ดแล้วหนาวสั่นจะยิ่งทำให้ไข้สูงขึ้นได้
- เปลี่ยนผ้าชุบน้ำบ่อยๆ ทุก 2 – 3 นาที
- ใช้เวลาเช็ดตัวประมาณ 10 – 15 นาที
- หลังเช็ดตัว ควรซับตัวเด็กให้แห้ง แล้วสวมเสื้อผ้าเบาสบาย ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หนา หรือห่อตัวเพราะจะทำให้ความร้อนเพิ่มขึ้น
- วัดไข้ซ้ำในอีก 15 – 30 นาทีต่อมา
- ถ้าไข้ลดลง แสดงว่าการเช็ดตัวลดไข้ได้ผล
- ถ้าไข้ไม่ลด ให้เช็ดตัวลดไข้ใหม่อีกครั้ง
- ถ้าไข้ยังไม่ลดลงอีก ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์
- ก่อนไปฉีดวัคซีน เด็กจะต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วย ถ้าไม่สบายควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน เพราะการฉีดยาเป็นการใส่เชื้อโรคเข้าไป ร่างการของเด็กจะต้องพร้อมที่จะรับมือ
- หากมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดยา ให้ประคบเย็น อาการปวดจะค่อย ๆ บรรเทา
- หลังจากฉีดวัคซีน ควรดูอาการเด็กที่โรงพยาบาลก่อน 30 นาทีเพื่อดูว่ามีอาการแพ้ยาหรือไม่ จะได้พบแพทย์ได้ทันท่วงที
ข้อมูลอ้างอิงจาก http://www.ns.mahidol.ac.th/