หลายคนนักที่จะมีคนรู้จักตลาดรองตราสารหนี้ ส่วนใหญ่จะรู้จักแต่เพียงตลาดแรกของตราสารหนี้ (Initial Public Offering) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “IPO หุ้นกู้” เนื่องจาก ส่วนใหญ่ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จะเป็นตัวแทนผู้จัดหน่ายหุ้นกู้ในตลาดแรก ให้กับบริษัทที่ต้องการจะออกหุ้นกู้ โดยจะได้รับค่าธรรมเนียมในการออกหุ้นกู้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการรับประกันการจัดจำหน่าย หากรับประกันการจัดจำหน่าย ตัวแทนจะได้ค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าแบบไม่รับประกันการจัดจำหน่าย โดยหากรับประกันการจัดจำหน่าย ตัวแทนจะพยายามจำหน่ายหุ้นกู้ให้ครบหมดตามจำนวนเงินที่บริษัทต้องการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ ตัวแทนจึงพยายามนำเสนอขายให้กับลูกค้าของตนเอง ทั้งโฆษณาขายผ่านสาขาต่าง ๆ ของธนาคาร และ บล.
ทำให้นักลงทุนรู้จักผลิตภัณฑ์ได้ง่าย เนื่องจากเป็นลูกค้าของธนาคารและบล. อยู่แล้ว มีความสนิท รู้จัก คุ้นเคยกับพนักงานเป็นอย่างดี นักลงทุนสามารถจองซื้อผ่านธนาคาร และ บล. ใน ราคาพาร์ ส่วนใหญ่หน่วยละ 1,000 บาท หรือถ้าให้เข้าใจง่ายก็คือ จองซื้อกี่หน่วย ก็จ่ายเงินเท่านั้น ไม่มีการจ่ายส่วนเพิ่ม เช่นเดียวกับที่ต้องจ่ายในตลาดรอง ตัวอย่างเช่น นักลงทุนจองซื้อหุ้นกู้บริษัท A จำนวน 1 ล้านบาท ก็ชำระค่าหุ้นกู้เพียง 1 ล้านบาท ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มใดอีก (ไม่มี premium) แต่ใครจะรู้ว่านอกจากตลาดแรกตราสารหนี้แล้ว ยังมีตลาดรองตราสารหนี้ (Secondary Market) หรือเรียกสั้นๆว่า “ตลาดรอง”
ตลาดรองตราสารหนี้คืออะไร????
ตลาดรองตราสารหนี้ คือ ตลาดที่ผู้ถือตราสารหนี้หรือผู้ต้องการซื้อตราสารหนี้ สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนตราสารหนี้ (เช่น หุ้นกู้ พันธบัตร) ระหว่างนักลงทุนด้วยกัน ไม่ได้ซื้อหรือขายโดยตรงกับบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ดังนั้น ราคาซื้อขายขึ้นอยู่กับความพึงพอใจระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย โดยส่วนมากการซื้อขายจะดำเนินการผ่านตัวกลาง เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ หรือในบางกรณีบริษัทที่ออกหุ้นกู้จะเป็นตัวกลางในการดำเนินการเอง (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้นกู้ของบริษัทและให้ผู้ถือหุ้นกู้สามารถซื้อ-ขายเปลี่ยนมือได้ง่ายขึ้น
ทำไมต้องลงทุนในตลาดรองตราสารหนี้ และมันมีประโยชน์อย่างไร????
เหตุผลและประโยชน์ในการลงทุนผ่านตลาดรองตราสารหนี้
ฝ่ายผู้ขาย
- เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคา เช่น นาย ก. จองซื้อหุ้นกู้ บริษัท A เมื่อตอนบริษัท A ออกหุ้นกู้เสนอขายครั้งแรก มูลค่า 1 ล้านบาท ต่อมาผ่านไป 1 ปี บริษัทดังกล่าว มีฐานะการเงินดีขึ้น บริษัทมีความมั่นคงมากขึ้น หุ้นกู้ดังกล่าวจึงเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้มีผู้เสนอซื้อหุ้นกู้ในราคา 1.1 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าจองซื้อครั้งแรก ทำให้ผู้ที่ขายได้กำไรจากส่วนต่างราคา
- เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นกู้ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น นาย ก. จองซื้อหุ้นบริษัท B มูลค่า 1 ล้านบาท ได้รับดอกเบี้ย 4% ต่อปี แต่หากนาย ก นำเงินไปลงทุนซื้อบ้าน มูลค่า 1 ล้านบาท และปล่อยเช่า จะได้รับค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท หรือปีละ 60,000 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 6% ต่อปี นาย ก. จึงตัดสินใจขายหุ้นกู้ เพื่อนำไปลงทุนในบ้าน เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
- เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่ต้องใช้เงินอย่างฉุกเฉิน เช่น นาย.ก ป่วยเป็นมะเร็ง จึงต้องการใช้เงินเพื่อรักษาตัว จำนวน 1 ล้านบาท แต่มีเงินในบัญชีไม่เพียงพอ โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่อยู่ในหุ้นกู้ มูลค่าจำนวน 10 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องขายหุ้นกู้บางส่วน เพื่อนำเงินมารักษาตัว
- เพื่อไม่ให้ผิดกฎระเบียบนโยบายการลงทุน เช่น บริษัท ก. ลงทุนหุ้นกู้บริษัท ข. ซึ่งมีการจัดอันดับเครดิต (Rating) “A” แต่ต่อมาบริษัทดังกล่าวถูกปรับลดอันดับเครดิตลงเป็น Rating “A-” ซึ่งนโยบายการลงทุนของบริษัท ก. ลงทุนได้เฉพาะหุ้นกู้ Rating “A ขึ้นไป” จึงจำเป็นต้องขายหุ้นกู้ดังกล่าว เพื่อไปลงทุนในหุ้นกู้ตามนโยบายการลงทุนบริษัท
ฝ่ายผู้ซื้อ
- เพื่อเพิ่มผลตอบแทน เช่น นาย ก. ซื้อหุ้นกู้ บริษัท A อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี มูลค่า 2 ล้านบาท อายุหุ้นกู้ 3 ปี แต่ต่อมาอีก 1 ปี นาย ก. มีความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงไปแจ้งกับบริษัทหลักทรัพย์ว่า อยากจะขายหุ้นกู้ดังกล่าว ช่วยหาผู้ซื้อให้หน่อย ซึ่งต่อมา นาย ข. ได้ทราบข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ว่ามีคนมาขาย หุ้นกู้ บริษัท A ซี่งดูแล้วว่า บริษัท A ค่อนข้างมั่นคง ดอกเบี้ยที่จะได้รับ สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก หรือดอกเบี้ยในท้องตลาด จึงทำการตกลงซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์
- เพื่อเก็งกำไรส่วนต่างของราคา เช่น นาย ก. ทราบว่าบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ประกาศขายหุ้นกู้บริษัท C ผ่านตลาดรอง มูลค่า 1.1 ล้านบาท แต่นาย ก. วิเคราะห์ฐานะบริษัทแล้ว พบว่า ปัจจุบันบริษัทมี Order เป็นจำนวนมาก แนวโน้มบริษัทอาจได้รับการปรับอันดับเครดิต และจะทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด จึงตกลงซื้อหุ้นกู้ดังกล่าว และผ่านมา 1 ปี ราคาเสนอซื้อหุ้นกู้ดังกล่าวปรับขึ้นเป็น 1.2 ล้านบาท ทำให้ได้กำไรจากการลงทุนในหุ้นกู้
ฝ่ายตัวกลาง
-เพื่อให้ได้รับส่วนต่างราคาจากการรับซื้อและขายต่อให้นักลงทุน หรือกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นกู้ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ รับซื้อหุ้นกู้บริษัท A จาก นาย ก. มูลค่า 1.1 ล้านบาท และนำไปขายต่อให้นาย ข. มูลค่า 1.2 ล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์ก็จะได้กำไร จำนวน 1 แสนบาท หรือ กรณีที่ตัวกลางเป็นผู้ขายหุ้นกู้เอง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ จองซื้อหุ้นกู้บริษัท A มูลค่า 1 ล้านบาท ในการออกหุ้นกู้ครั้งแรก ต่อมานำมาขายให้ นาย ข. มูลค่า 1.2 ล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์ก็ได้กำไรจำนวน 2 แสนบาท
หลังจากที่รู้จักตลาดรองตราสารหนี้คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรแล้ว ครั้งหน้าจะมาเรียนรู้รูปแบบและขั้นตอนการลงทุนเพื่อให้ทุกท่านเข้าใจและนำไปใช้ให้เหมาะสมในการลงทุนของท่านต่อไป