ประเทศไทยในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำไปทั่วโลก ทั้งในยุโรปและจีนมีผลกับแทบทุกภาคส่วนของประเทศไทย ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และภาคบริการ แต่ถึงแม้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ค่าครองชีพของประชาชนกลับไม่ได้ลดลงเลย สินค้าจำเป็นโดยเฉพาะหมวดอาหารกลับมีราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นผลทำให้ประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอ ต้องก่อหนี้ทำให้ตัวเลขของหนี้ภาคครัวเรือนสูงตามไปอีกด้วย
ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของประชาชนที่ปัจจุบันอยู่ที่วันละ 300 บาท ดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอ ค่าแรงขั้นต่ำที่วันละ 300 บาท นี้ถูกใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ช่วงต้นปี 2559 ก็มีการคาดการณ์กันว่าอาจจะมีการประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในปี 2559 นี้ หรือไม่ แต่ก็ไม่มีทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้มีมติในการเรียกร้องเพื่อให้ปรับค่าแรงขึ้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 360 บาท ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 เนื่องจากได้มีการสำรวจค่าครองชีพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลพบว่าค่าครองชีพต่อวันอยู่ในระดับที่ 360 บาท นี้ และขอให้ใช้เป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ในขณะที่ทางฝั่งนายจ้าง นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ได้ออกมาบอกถึงผลสำรวจความเห็นของนายจ้างต่อการขึ้นค่าจ้างว่า จะขอคงอัตราปัจจุบันไปจนถึงกลางปี 2559 ก่อน
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยก็ได้มีการสำรวจค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานเช่นกัน โดยผลการสำรวจได้ระบุว่าควรเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีกอย่างน้อย 5-7% คิดเป็นเงินก็ประมาณ 15-21 บาท หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานก็ได้ออกมาบอกถึงผลการประชุมกรรมการค่าจ้างว่าหลังจากพิจารณาตามผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแล้วเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นค่าจ้างในทันที คงต้องรอพิจารณาอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2559 ในขณะที่ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่มีการเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 360 บาท ก่อนหน้านี้ ก็ออกมาขอความเห็นใจเรื่องการใช้ค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 บาท มานานถึง 4 ปีแล้ว อย่างน้อยขอให้ปรับขึ้น 15-21 บาท ก็ยังดีแม้ไม่ปรับเป็น 360 บาท ตามที่เรียกร้องไปตอนต้น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าผลจะได้ขึ้นหรือไม่
รัฐบาลก็ไม่ได้เพิกเฉยหรือนิ่งดูดาย ได้มีมาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเรื่องของค่าครองชีพที่สูงนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของประชาชน อย่างเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ขยายเวลาการลดค่าครองชีพของประชาชนออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2559 จนถึง 31 ตุลาคม 2559 เรื่องรถเมล์ฟรีและเรื่องการโดยสารรถไฟชั้น 3 ฟรี โดยมีงบประมาณชดเชยในวงเงิน 2,258 ล้านบาท ให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและการรถไฟแห่งประเทศไทย ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้กล่าวย้ำไปทางรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมให้เร่งช่วยเหลือเน้นเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยเพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายด้วย
ทางภาครัฐยังได้มีมาตรการในการช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในภาคต่าง ๆ เป็นโครงการปลีกย่อยออกไปอีก ทั้งข้าราชการ ทหาร ชาวสวนยางพารา ฯลฯ เช่น มีการจัดงานธงฟ้าขายสินค้าราคาถูกให้แก่ชาวสวนยางพาราในภาคใต้ สินค้าที่นำมาขายก็เป็นสินค้าที่จำเป็นพวก ข้าวสาร น้ำมันพืช ไข่ไก่และสินค้าอุปโภค บริโภคอื่น ๆ ราคาถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 20-40%
ทางกระทรวงพาณิชย์ยังได้มีการจัดโครงการเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนและเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายด้วย เช่น โครงการร้านอาหารหนูณิชย์ เป็นทางเลือกในการซื้ออาหารแบบปรุงสำเร็จสำหรับประชาชน ในราคา 25-30 บาท โครงการนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 แต่ปัจจุบันในเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการร้านอาหารเข้าร่วมโครงการมากถึง 10,681 ราย ประชาชนสามารถสังเกตจากป้ายสัญลักษณ์ หนูณิชย์พาชิม เพื่อทราบว่าเป็นร้านอาหารที่อยู่ในโครงการนี้ขายอาหารในราคาประหยัด
กระทรวงพาณิชย์ยังได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในจัดงานมหกรรมธงฟ้าขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี ในวันที่ 1-5 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมาประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมงานเพื่อเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปในราคาไม่เกิน 35 บาทได้ ทั้งยังมีร้านค้าที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันมาขายให้กับประชาชนให้ราคาที่ลดมากถึง 30-50% ด้วย ถือเป็นโครงการที่ดีที่ช่วยเหลือประชาชนให้ลดภาระค่าครองชีพลงได้
แต่อย่างไรก็ตามประชาชนยังมีความกังวลกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ดังนั้น รัฐบาลควรหาวิธีบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนอย่างต่อเนื่องต่อไป ดังจะเห็นได้จากที่ดุสิตโพลได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนถึง 5 อันดับข่าวที่ห่วงว่าจะมีผลกระทบกับประเทศ ปรากฎว่าอันดับหนึ่งเป็นในเรื่องของราคาของที่แพง ค่าครองชีพสูง ทำให้เป็นหนี้มากประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก ส่วนคำถามในเรื่องที่ต้องการอยากฝากอะไรถึงท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากที่สุด อันดับหนึ่ง ก็คือ อยากให้เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลได้สะท้อนถึงความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบันของประชาชนรวมถึงความต้องการอยากได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และอยากให้รัฐบาลรีบเร่งในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด ในส่วนของประชาชนเองก็คงต้องรัดเข็มขัด หาทางประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ไม่ต้องก่อหนี้เป็นภาระเพิ่มขึ้นไปอีก
อ้างอิง