สำหรับใครที่กำลังต้องการขอสินเชื่อเพื่อนำไปซื้อบ้าน หรือขอสินเชื่อเพื่อนำไปใช้ประกอบธุรกิจ คงกำลังคิดหนักกันอยู่แน่ๆ ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร เดินสเตทเม้นแบบไหนถึงจะน่าเชื่อถือ ทำทุกอย่างสารพัดวิธีเพื่อที่ตนเองจะขอสินเชื่อผ่าน จนหลงลืมที่จะดูเงื่อนไขต่างๆ ที่แต่ละธนาคารได้ระบุไว้ เผื่อใครที่กำลังจะขอสินเชื่ออาจจะยังไม่ทราบว่าการเช็คเครดิตบูโรบ่อยๆ เสี่ยงขอสินเชื่อไม่ผ่าน
เนื่องจากแต่ละธนาคารจะมีเกณฑ์ หรือเงื่อนไขในการให้สินเชื่อแตกต่างกัน ซึ่งในกรณีที่คุณมีประวัติการเดินบัญชีที่หมิ่นเหม่เมื่อเทียบกับรายได้ การที่คุณเช็คบูโรบ่อยๆ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่ผ่านการขอสินเชื่อ เนื่องจากธนาคารคิดว่าคุณอาจจะขอสินเชื่อจากที่อื่นไม่ผ่านจึงต้องมาขอสินเชื่อกับที่นี่ ซึ่งสาเหตุที่ไม่ผ่านอาจจะเป็นเพราะคุณสมบัติอะไรบางอย่างก็เป็นได้
แน่นอนว่าในยุคเศรษฐกิจแบบนี้คงไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงไปนัก ที่สถาบันการเงินอย่างธนาคารจะกลัวหนี้เสียจนขึ้นสมอง แล้วจะมีวิธีอะไรบ้าง ทำให้การขอสินเชื่อนั้นง่ายขึ้น วันนี้ rabbit finance จะมาแนะนำ
9 เคล็ดลับง่ายๆ ในการเพิ่มโอกาสอนุมัติสินเชื่อทุกประเภท
- สมัครทีละสถาบันการเงิน
สถาบันการเงินจะรู้ว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผู้สมัครกู้ได้ทำการยื่นขอสมัครสินเชื่อไปกี่ครั้งจากเครดิตบูโร ซึ่งถ้ามีการยื่นขอสมัครเป็นจำนวนมาก สถาบันการเงินจะระมัดระวังในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากคิดว่าผู้กู้ที่มีความต้องการสินเชื่อมากมักจะมีความเสี่ยงสูง
ดังนั้นคุณควรจะศึกษาหาข้อมูลและเลือกสมัครสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของตนเองมากที่สุดหนึ่งที่ จะได้เพิ่มโอกาสได้รับอนุมัติสูงที่สุดอย่างไรล่ะคะ
- สร้างหนี้
ข้อนี้คงจะสร้างความแปลกใจให้กับใครหลายๆ คนกันแน่ๆ การที่เราจะขอสินเชื่อนั้นเครดิตต้องดีไม่ใช่เหรอ มีหนี้สินแบบนี้จะขอสินเชื่อผ่านได้ยังไง คืออย่างนี้ค่ะ ทุกครั้งที่คุณมีหนี้ เช่น บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบ้านเป็นต้น ประวัติหนี้สิน รวมถึงประวัติการชำระหนี้ต่างๆ จะถูกส่งไปรวบรวมที่เครดิตบูโรค่ะ ทำให้สถาบันการเงินใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ ดังนั้น ผู้ที่ไม่เคยมีประวัติหนี้สินใดๆ เลย จะทำเรื่องขอสินเชื่อให้ผ่านได้ยาก
- ชำระหนี้ให้ตรงเวลา
เมื่อมีหนี้แล้วก็ต้องชำระหนี้ให้ตรงเวลาค่ะ ไม่งั้นจะกลายเป็นผลเสียทำให้อนุมัติไม่ผ่านได้ ถ้าคุณชำระหนี้ล่าช้าเป็นประจำ ประวัติการชำระหนี้ทุกสินเชื่อจะถูกรวบรวมไว้เป็นข้อมูลเครดิตที่เครดิตบูโร และแสดงถึงความรับผิดชอบในการชำระหนี้ของคุณได้ ดังนั้น อยากขอสินเชื่อผ่านต้องชำระหนี้ตรงเวลาเป็นประจำอย่างน้อย 6 เดือนก่อนการสมัครสินเชื่อใหม่ค่ะ
- ปิดหนี้ที่เคยปรับโครงสร้างหนี้ให้หมดก่อน
เมื่อผู้กู้ค้างชำระจ่ายหนี้เป็นเวลาหลายงวด และได้เจรจาประนอมหนี้กับสถาบันการเงิน ข้อมูลนี้จะถูกบันทึกในเครดิตบูโร หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “ติดบูโร” นั่นเอง ทำให้เมื่อยื่นสมัครสินเชื่อใหม่ก็จะถูกปฏิเสธจากสถาบันการเงินตลอด
ดังนั้น ผู้สมัครควรจะรีบปิดบัญชีที่เคยปรับโครงสร้างหนี้ให้หมดเป็นอันดับต้นๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนสถานะบัญชีให้กลับมาเป็น ”ปิดบัญชี” ก่อนไปทำการสมัครสินเชื่อใหม่ สถาบันการเงินจะได้ไม่เห็นประวัติตรงนี้
- ใช้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด โอดี ไม่เต็มวงเงิน
ผู้กู้ที่มีหนี้เกือบเต็มวงเงินในทุกบัญชีจะถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาชำระหนี้ในระยะสั้นที่สูง ดังนั้น สถาบันการเงินส่วนใหญ่จึงลังเลที่จะอนุมัติสินเชื่อใหม่ให้ ทั้งนี้ก็ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันด้วย
- รีไฟแนนซ์ เพื่อลดภาระผ่อนชำระต่อเดือน
สถาบันการเงินจะนำยอดภาระผ่อนของทุกสินเชื่อมาหักออกจากรายได้ต่อเดือนของผู้ขอกู้ ก่อนนำมาคำนวน ว่าผู้ขอกู้มีความสามารถในการชำระหนี้เหลือเท่าไหร่ และนั่นหมายถึงวงเงินสินเชื่อที่ผู้ขอกู้สามารถขอเพิ่มได้ ดังนั้นการรีไฟแนนซ์ไปยังสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยลดลง จะสามารถลดยอดผ่อนชำระต่อเดือนได้ง่ายๆ
- เดินบัญชีธนาคารสม่ำเสมอ
สถาบันการเงินจะพิจารณารายได้ของผู้สมัครกู้จากเอกสารประกอบเท่านั้น ซึ่งข้อมูลที่สถาบันการเงินเชื่อถือมากที่สุดคือจำนวนเงินเข้าในบัญชีธนาคารนั่นเอง ถ้าอยากที่จะขอสินเชื่อผ่านการเดินบัญชีธนาคารอย่างสม่ำสมอก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ค่ะ
- เก็บเอกสารและหลักฐานรายได้
สถาบันการเงินคำนวนรายได้ตามเอกสารประกอบเท่านั้น ดังนั้น คุณจึงควรเก็บเอกสารแสดงรายได้ให้พร้อม จะได้ไม่มีปัญหาตอนขอสินเชื่อ
- ใส่เบอร์โทรศัพท์บ้านและที่ทำงาน
ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ให้ผลลัพธ์ที่ไม่น่าเชื่อค่ะ เนื่องจากสถาบันการเงินจะพิจารณาและให้คะแนนแก่ผู้สมัครกู้ที่มีเบอร์ที่ทำงานที่ติดต่อได้ และสามารถสอบถามหรือตรวจสอบได้ว่าผู้สมัครได้ทำงานอยู่บริษัทนั้นๆ จริง ถ้าผู้สมัครไม่มีเบอร์ประจำในที่ทำงาน ควรให้เบอร์โทรศัพท์ฝ่ายบุคคลของบริษัทไปแทน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถติดต่อพูดคุย สอบถามจากฝ่ายบุคคลได้ เช่นเดียวกับเบอร์โทรศัพท์บ้าน ที่สถาบันการเงินมองว่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการติดต่อผู้กู้ได้ง่ายขึ้น