หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่านับตั้งแต่มีปัญหาข้อพิพาทระหว่างนักบินและผู้บริหารสายการบินนกแอร์ จนนำไปสู่การยกเลิกเที่ยวบินภายในประเทศอย่างกะทันหันและส่งผลกระทบต่อการเดินทางของผู้โดยสารหลายพันคนที่ต้องตกค้างที่สนามบิน นำไปสู่ข้อสงสัยและการตั้งคำถามของสังคมว่า ระเบียบมาตรฐานของการบินไทยในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร จริงหรือไม่ที่นักบินต้องรับภาระจำนวนชั่วโมงบินที่สูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดโดยกรมการบินพลเรือน และถ้าสถานการณ์เหล่านี้ไม่ใช่สถานการณ์ชั่วคราวแต่เป็นสถานการณ์ที่อาจปรากฏได้อีกในอนาคตจากการขาดแคลนนักบินที่มีประสบการณ์และความชำนาญ ความเชื่อมั่นของผู้โดยสารทั้งคนไทยและต่างชาติที่มาในฐานะนักท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบไปด้วยหรือไม่ และในท้ายที่สุดระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบอย่างไรนั้น วันนี้มาติดตามข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดในประเด็นนี้กันดีกว่า
จากประเด็นขัดแย้งด้านมาตรฐานสู่วิกฤตการณ์นกแอร์
หลายคนที่ติดตามข่าวอาจจะเห็นประเด็นร้อนนี้ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและยังคงต่อเนื่องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูจนถึงปัจจุบันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวการยกเลิกเที่ยวบินกว่า 9 เที่ยวบินในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมาเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งในที่นี้จะประมวลข่าวที่เกี่ยวข้องมาทบทวนให้ทราบกันอีกครั้งหนึ่ง
เริ่มต้นจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แถลงการณ์ของบริษัทนกแอร์ประกาศขออภัยผู้โดยสารและประกาศยกเลิกเที่ยวบินกะทันหันในหลายเส้นทาง เช่น ดอนเมือง-เชียงใหม่ ดอนเมือง-ภูเก็ต ดอนเมือง-สุราษฏร์ธานี เป็นต้น ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากนักบินจำนวน 10 คนประท้วงและไม่พอใจจากการที่บริษัทนกแอร์เพิ่มมาตรฐานการ Audit การบริหารงานของฝ่ายการบิน และอาจนำผลกระทบมาสู่นักบินหลายท่านที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของเอียซ่า (IOSA) ดังกล่าว การยกเลิกเที่ยวบินฉุกเฉินดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารรวมจำนวน 1,512 คน ในเบื้องต้นแนวทางการแก้ไขปัญหาของนกแอร์คือการจัดหาสายการบินพันธมิตรมาช่วยลำเลียงผู้โดยสารที่ตกค้างตามสนามบินต่าง ๆ รวมถึงการเปิดห้องพักให้แก่ผู้โดยสารโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงจัดหาเที่ยวบินใหม่ให้โดยเร็วที่สุด อีกทั้งในกรณีที่ผู้โดยสารต้องรอเกินกว่า 4 ชม. ทางสายการบินได้เตรียมค่าชดเชยให้ท่านละ 600 บาทตามกฎที่ประกาศโดยการบินพลเรือนเพื่อเป็นการขออภัยต่อผู้โดยสาร ซึ่งล่าสุดสายการบินนกแอร์สั่งไล่ออกพนักงาน 1 ราย พักงาน 2 รายและ สอบสวนนักบินที่เหลืออีก 7 นาย
แต่อย่างไรก็ตามในด้านแถลงการณ์ของนักบินคู่กรณี พบว่าด้านนักบินระบุถึงปัญหาภายในของบริษัทนกแอร์ที่กำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนนักบิน เนื่องจากมีนักบินลาออกไปก่อนหน้าแล้วกว่า 30-40 คนทำให้ไม่มีนักบินให้บริการตามเที่ยวบินได้เพียงพอ ทั้งนี้มีการกล่าวอ้างถึงจำนวนชั่วโมงบินของนักบินนกแอร์ที่มากเกินกว่ามาตรฐานที่นักบินคนหนึ่ง ๆ จะพึงปฏิบัติงาน ดังนั้นการประกาศหรือการหยุดบินของนักบินจำนวน 10 คนนั้นจึงเป็นไปด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร โดยย้ำว่าประเด็นข้างต้นเป็นสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องดำเนินการและรับผิดชอบ โดยปัจจุบันสายการบินนกแอร์มีนักบินทั้งหมด 130 คน
ทั้งนี้ในส่วนมาตรการป้องกันและคุ้มครองผู้โดยสารนั้น หลังปรากฏเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นกระทรวงคมนาคมได้ออกมาตรการคุ้มครองผู้โดยสารโดยกำหนดให้แต่ละสายการบินเตรียมแผนฉุกเฉิน และมีผู้จัดการประจำวัน (Manager on Duty) และให้นำส่งแผนฉุกเฉินดังกล่าวมาให้แก่กระทรวงเป็นผู้พิจารณา ซึ่งหากมีการยกเลิกเที่ยวบินอย่างกระชั้นชิด (3 ชั่วโมง) สายการบินมีหน้าที่ต้องดูแลผู้โดยสารทั้งหมดในทุกด้าน เช่น การบริหารอาหารเครื่องดื่ม การเปลี่ยนตั๋ว/คืนตั๋ว การจัดหาระบบขนส่งสาธารณะ บริการโทรศัพท์/โทรสาร/e-mail และที่พักพร้อมบริการรับส่งระหว่างสนามบินและที่พักหากต้องค้างคืน รวมถึงการจ่ายเงินชดเชยรายละ 1,200 บาทด้วย (ในกรณีที่สายการบินนั้นไม่สามารถหาเที่ยวบินใหม่ให้ได้ภายใน 3 ชั่วโมง) ทั้งนี้หากสายการบินไม่ดำเนินการตามเกณฑ์ข้างต้นจะต้องโทษอาญา ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือหากมีความผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกวันละ 1,000 บาท รวมถึงอาจนำไปสู่โทษสูงสุดคือการพักใบอนุญาตของสายการบินนั้น ๆ แต่สำหรับในกรณีนกแอร์นั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและการสอบสวน ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ากระทรวงคมนาคมและฝ่ายกฎหมายยังไม่มีระเบียบที่สามารถเอาผิดกับนักบินที่ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้
ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักเดินทางกับมาตรฐานการบิน
อย่างไรก็ตามจากข่าววิกฤตสายการบินนกแอร์ดังกล่าวนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงานและการวางแผนตารางบินของสายการบินที่อาจจะแน่นเกินไปจนนักบินเกิดความเครียดและไม่สามารถพักผ่อนได้เพียงพอ หรืออีกประเด็นคือการวิจารณ์การประท้วงหยุดงานของนักบินโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้โดยสารจำนวนมากที่มีกิจธุระจะต้องเดินทางไปที่ต่าง ๆ รวมถึงการประณามการประท้วงดังกล่าวว่าเหมือนการจับผู้โดยสารเป็นตัวประกันเพื่อการต่อรองค่าตอบแทนหรือต่อรองจำนวนชั่วโมงการบินกับสายการบินคู่กรณี แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของการบินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งกลุ่มแรกได้รับผลกระทบชัดเจน คือ ความเชื่อมั่นต่อสายการบินนกแอร์เอง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นสายการบินโลว์คอสต์ที่มีจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการมากและหลากหลายเส้นทาง แต่หากมีเหตุการณ์ประท้วงลักษณะดังกล่าวขึ้นอีกหรือผู้โดยสารขาดความมั่นใจในสุขภาพของนักบินที่ทำการบิน ก็ย่อมทำให้ยอดจำหน่ายตั๋วโดยสารลดต่ำลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลพลอยได้อื่น ๆ อาจตกกับสายการบินคู่แข่งอื่น ๆ ที่อาจจะได้รับอานิสงส์ในฐานะสินค้าที่ทดแทนกันได้
ในด้านการท่องเที่ยว ในช่วงต้นปียังคงเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่สำคัญต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน ดังนั้นความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวและการใช้บริการสายการบินอาจได้รับผลกระทบเชิงลบบ้างในระยะแรก แต่หากกระทรวงคมนาคมเร่งออกมาตรการเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสารให้ชัดเจนขึ้น ความวิตกกังวลต่าง ๆ ต่อการใช้บริการสายการบินจะปรับลดลงกลับสู่ภาวะปกติได้ ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะไม่รุนแรงมากนัก และหากสายการบินใดต้องการเวลาในการปรับโครงสร้างภายในและกำกับการจัดตารางบินที่เหมาะสมอาจอาศัยช่วงเวลาโลว์ซีซั่นหลังเดือนพฤษภาคมในการปรับโครงสร้างตารางการบินได้
ทั้งหมดนี้เป็นการประมวลภาพรวมและการประมาณการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤต สายการบินโลว์คอสต์