ใกล้สิ้นปีแล้ว หลายคนคงกำลังวางแผนหรือคิดเรื่องการซื้อกองทุนเพื่อเป็นเงินออมและเพื่อประโยชน์ทางภาษี บางคนเล่นหุ้นและมีการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่แล้ว ก็คงมีความรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นเป็นอย่างดี ส่วนคนที่ไม่เคยเล่นหุ้น แต่ต้องซื้อกองทุน จะเริ่มจากอะไรดี บทความนี้มีเรื่องเกี่ยวกับการเลือกกองทุนมาฝาก
คนที่ไม่เคยเล่นหุ้น หรือเคยเล่นแต่ไม่ค่อยมีเวลา ไม่ค่อยมีความรู้ แต่อยากลงทุน สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมได้ หรือสรุปอีกอย่างหนึ่งว่า ให้คนอื่นจัดการลงทุนแทน ลักษณะคือ มีคนหลายๆคนเอาเงินมากองรวมกัน แล้วให้คนคนหนึ่งที่เรียกว่า ผู้จัดการกองทุน เป็นคนจัดการนำเงินที่กองรวมกันนั้น ไปจัดการลงทุนตามกรอบ กฎเกณฑ์และนโยบายที่ได้ประกาศไว้
โดยทั่วไปกองทุนที่ให้ผลประโยชน์ด้านภาษีจะหมายถึง กองทุนรวมประเภท LTF ชื่อจริงคือ Long Term Equity Fund
กองทุนนี้ซื้อแล้วจะถือไปยาวๆ ไม่ต่ำกว่า 5 ปี LTF สามารถหาซื้อได้ที่ธนาคาร เราสามารถเดินเข้าไปถามเลยว่าจะมาซื้อ LTF ต้องทำอย่างไร ขั้นตอนนั้นง่ายมากคล้ายๆกับการเปิดบัญชีเงินฝาก ปัญหาคือ ทุกธนาคารจะมีกองทุน LTF แน่นอนว่า ทุกธนาคารก็ต้องเชียร์กองทุนของตัวเอง แล้วเราจะมีวิธีเลือกอย่างไร ว่าจะซื้อกองทุนของธนาคารไหนดี เมื่อเลือกธนาคารได้แล้ว ก็ต้องดูรายละเอียดปลีกย่อยจากหนังสือชี้ชวนด้วย ก่อนเลือกกองทุน ลองมาดูว่า LTF จะให้ผลตอบแทนอะไรกับเราบ้าง ผลตอบแทนแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
- ส่วนที่เป็นภาษีขอคืน
- ส่วนที่เป็นกำไรที่กองทุนทำได้
ในส่วนของภาษีขอคืน ไม่ว่าเราจะเลือกกองทุนไหนก็จะได้ภาษีขอคืนเท่ากัน แต่ส่วนที่แต่ละกองทุนให้เราได้ไม่เท่ากันคือ กำไรที่กองทุนทำได้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายกองทุนแล้ว ค่าใช้จ่ายของกองทุนเรียกง่ายๆว่าเป็นค่าจ้างที่เขาจัดการการลงทุนให้เรานั่นเอง ซึ่งแต่ละกองจะคิดไม่เท่ากัน เมื่อเป็นดังนี้ หลักในการเลือกกองทุน LTF ก็จะเน้นที่ความสามารถในการทำกำไร และค่าจ้างที่กองทุนนั้นจะคิดจากเรา
การทำกำไรเป็นเรื่องของอนาคต เราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าผู้จัดการกองทุนจะบริหารเงินลงทุนได้ดีหรือไม่อย่างไร ที่จริงเราสามารถดูผลดำเนินการย้อนหลังได้ แต่ก็เป็นเพียงข้อมูลในอดีตที่ไม่การันตีอนาคต ในเมื่อไม่มีอะไรที่แน่นอนให้ดู เกี่ยวกับผลการทำกำไรในอนาคต ก็พออนุโลมให้ดูผลกำไรที่กองทุนทำได้เฉลี่ยย้อนหลังไป 5 ปี แต่ต้องจำไว้ว่า ในวงการหุ้น ผลงานในอดีตไม่อาจการันตีอนาคต แต่สิ่งที่เราสามารถดูและรู้ได้คือ ค่าใช้จ่ายที่กองทุนหักจากเรา ตัวเลขเหล่านี้สามารถหาดูได้ที่ เว็บไซด์ morningstarthailand.com/th/ เมื่อเข้าไปแล้วพยายามเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดที่กองทุนแต่ละกองทุนจะหักจากเรา และไม่จำเป็นว่าจะต้องเลือกกองทุนที่คิดค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด เพราะยังมีข้อมูลอื่นๆให้พิจารณาประกอบกันด้วย
อ่านเพิ่มเติม : จัดอันดับกองทุน LTF ตามระดับความเสี่ยง 2559
เมื่อรู้แหล่งที่เราจะเข้าไปค้นหาข้อมูลของกองทุนแล้ว และได้เข้าไปค้นหาเปรียบเทียบแล้ว ก็ถึงเวลาตัดสินใจว่าจะเลือกกองไหนดี โดยมีหลักคิด 3 ข้อดังนี้
1 ค่าใช้จ่าย ที่กองทุนคิดจะไม่เท่ากัน และไม่เกี่ยวกับฝีมือ กองทุนที่คิดค่าใช้จ่ายสูงไม่ได้แปลว่าฝีมือดี
2 ผลงานในอดีต ไม่ได้รับประกันว่าอนาคตจะทำได้แบบเดิม กองทุนส่วนใหญ่จะมีผลงานดีแย่สลับกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพตลาดในช่วงที่เราเข้าซื้อและถือกองทุนนั้นด้วย
3 ผลงานในอนาคตเราไม่รู้ แต่เราสามารถรู้ค่าใช้จ่ายที่กองทุนคิดจากเราได้ จึงควรเลือกกองที่มีค่าใช้จ่ายต่ำๆไว้ก่อน
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับคนที่ไม่เคยซื้อกองทุน ไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อกองทุนอะไร และยังไม่มีแนวทางในการตัดสินใจ เรียกว่าไม่มีข้อมูลอะไรอยู่ในหัวเลย ก็ลองทำตามคำแนะนำข้างต้นดู อีกแหล่งหนึ่งที่จะให้ความรู้เรื่องกองทุน LTF ได้เป็นอย่างดีก็คือที่เว็บไซด์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และโปรดจำไว้เสมอว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง จำนวนเงินที่เราลงทุนไปนั้น ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่เราสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ เพราะอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่มีความโดเด่นเรื่องมีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง ขอให้โชคดีกับการลงทุนเลือกซื้อ LTF