นักศึกษา แม่บ้านที่ต้องเลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน หรือแม้แต่คนทำงานประจำบางครั้งก็อยากจะหางานพิเศษหรืออาชีพเสริมทำเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมในเวลาที่ว่าง ๆ ยิ่งเป็นงานที่ทำจากที่บ้านได้ยิ่งน่าสนใจมาก เพราะไม่ต้องเดินทางไปไหน มีความเป็นอิสระคล่องตัว เลือกเวลาทำงานได้ คนส่วนใหญ่มักใช้ช่องทางในการหางานหรืออาชีพเสริมทำผ่านทางอินเทอร์เน็ต เมื่อลองคีย์ค้นหา ก็จะเจอว่าทำงานที่บ้านได้เงินจริงบ้าง รับทำงานที่บ้าน รายได้เสริมทำที่บ้านไม่ต้องลงทุน รับงานของชำร่วยมาทำที่บ้าน หางานทำที่บ้านไม่มีค่ามัดจำ ประมาณนี้แล้วก็คลิกเข้าไปก็จะไปเจอหน้าเว็บไซต์ที่รับสมัครคนทำงานจากที่บ้าน มีรูปแบบที่ต่างกันไป ทั้งการปักครอสติช ทำของชำร่วย รับถักไหมพรม พับนก ร้อยม่านดาว เป็นต้น
คนที่สงสัยว่างานแบบนี้มีจริงหรือไม่ หรือทำงานนี้แล้วได้เงินจริงหรือ ต้องลองไปอ่านข่าวนี้กันค่ะ
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา มีกลุ่มของผู้รับงานไปทำที่บ้านจำนวน 31 คนได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องที่มีร้านจ้างปักแผ่นเฟรมผ่านทางอินเทอร์เน็ตไม่จ่ายค่าตอบแทนให้ แถมยังไม่ยอมคืนเงินหลักประกันการทำงานให้ด้วย ความเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 47,509 บาท ซึ่งกรณีนี้ถือว่าผู้ว่าจ้างมีความผิดตามกฎหมาย พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้ผู้ว่าจ้างจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ครบภายใน 30 วัน แต่ผู้ว่าจ้างไม่ปฏิบัติตาม ตอนนี้จึงอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ว่าจ้างรายนี้ต่อไป
ที่จริงแล้วกรณีแบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ถ้าเราย้อนกลับไปดูข่าวที่ผ่านมา ก็จะพบข่าวหลอกลวงการจ้างงานปักครอสติชหรืองานที่มีลักษณะใกล้เคียงกันอย่างนี้มากมาย ล่าสุดที่เพิ่งผ่านไปก็เป็นช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา มีหญิงสาวชาวอ่างทองเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจว่าถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกจ้างงานทางออนไลน์เป็นงานรับปักครอสติช ลงทุนไป 100 บาท บวกค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกรวมเป็นเงิน 500 บาท แต่พองานเสร็จจะส่งก็ปรากฏว่าติดต่อแอดมินของเพจผู้จ้างไม่ได้แล้ว มีผู้เสียหายรวมกันกว่า 500 คน
เมื่อต้นปีช่วงเดือนมกราคม 2560 กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานก็เคยออกมาเตือนให้ผู้ที่รับงานผ่านทางอินเทอร์เน็ตไปทำที่บ้านต้องระมัดระวังอาจตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพที่ตั้งเพจขึ้นมาหลอกลวงให้ทำงานฟรีถึงเวลาไม่จ่ายค่าตอบแทนให้ หรือบางรายก็ให้ผู้รับงานโอนเงินเป็นค่าหลักประกันการทำงานไปให้ก่อน จากนั้นก็เงียบหายไปเลยก็มี ผู้เสียหายส่วนใหญ่มักไม่สามารถเอาผิดกับกลุ่มมิจฉาชีพได้ เพราะไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่มีสัญญาว่าจ้างหรือหลักฐานอื่น ๆ
ก่อนที่รูปแบบการหลอกลวงจะพัฒนาขึ้นมาเป็นทางออนไลน์ พอได้เงินประกันการทำงานก็ปิดเพจหนีไป เมื่อหลายปีก่อนก็มีข่าวเรื่องเกี่ยวกับการหลอกลวงจ้างงานปักครอสติช ลักษณะเหมือนกับช่องทางขายชุดอุปกรณ์ปักครอสติชมากกว่า เพราะผู้รับงานต้องจ่ายเงินค่าอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นค่ามัดจำก่อน 500 บ้าง 100 บ้างตามขนาดและลวดลายที่รับมา โดยเงินมัดจำจะคืนให้เมื่องานเสร็จและผ่านเรียบร้อย ข้อกำหนดในการทำงานก็มีความจุกจิกมาก เช่น ลายด้านหน้าและหลังต้องเหมือนกัน ห้ามขมวดปม ปักเสร็จต้องไม่เห็นเนื้อผ้าสีขาว ห้ามไม่ให้ไหมตึงหรือหย่อนเกินไป เรียกได้ว่างานมีสิทธิ์ไม่ผ่านได้ ถ้าทำความเข้าใจให้ดี ๆ จะรู้ว่าทำไปก็ไม่มีทางได้เงินแน่ ๆ เพราะอย่างไรเขาก็ต้องหาที่ติเพื่อจะไม่คืนเงินมัดจำให้เราอยู่แล้ว เหมือนเสียเงินซื้ออุปกรณ์ปักครอสติชมาอย่างไรอย่างนั้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้ออกมาชี้แจงว่าการกระทำดังกล่าวถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ซึ่งมีข้อกำหนดไว้ว่า ผู้ว่าจ้างจะต้องจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการว่าจ้างงานให้รับไปทำที่บ้านและมอบไว้ให้กับผู้รับงาน โดยในเอกสารดังกล่าวต้องระบุชื่อ ที่อยู่ ทั้งของผู้ว่าจ้างและผู้รับงาน อัตราค่าตอบแทน มีข้อกำหนดให้ผู้ว่าจ้างห้ามเรียกหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากผู้รับงาน ห้ามจ้างงานที่เป็นอันตราย ดังนั้นสำหรับคนที่ต้องการหางานพิเศษหรืองานเสริมออนไลน์ทำที่บ้าน ควรต้องขอเอกสารฉบับดังกล่าวกับผู้ว่าจ้างด้วย เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาจะได้มีหลักฐานที่มีประโยชน์ทางกฎหมายต่อไป
ผู้ว่าจ้างที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ถือว่าทำผิดกฎหมาย ซึ่งมีการกำหนดอัตราโทษไว้ คือ ปรับเป็นเงินตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 200,000 บาท โทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 1 ปี ผู้ว่าจ้างหรือผู้รับงานที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ 02-245-7170 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัด ที่สายด่วน 1546
สมัยนี้พวกมิจฉาชีพที่เอากันทุกรูปแบบจริง ๆ พวกเราที่อยากหางานพิเศษที่บ้านทำเพื่อเพิ่มรายได้ก็คงต้องระมัดระวังกันจริง ๆ ยิ่งโดยเฉพาะการรับงานผ่านทางออนไลน์ที่ไม่ได้เห็นหน้าค่าตาผู้ว่าจ้างเลย หลายคนที่ลังเลรีรอเฝ้าจ้องหน้าเพจผู้ว่าจ้างอยู่นานก่อนจะลงมือสมัครก็ยังไม่วายพลาด เป็นเพราะพวกนี้เขาต้องมีหน้าม้าที่เป็นคนที่รู้จักกันหรือไม่ก็ทำเองให้เห็นว่ามีคนรับงานมาก มีการจ่ายงาน และจ่ายเงินให้เห็น แต่พอถึงตาเรากับพวกของเราก็ไม่มีจริง ! ผู้ว่าจ้างที่เป็นผู้ประกอบการจริงคงไม่น่าจะมีปัญหาในการจัดทำเอกสารตามกฎหมายให้กับผู้รับงาน เพื่อเป็นการแสดงให้เชื่อมั่นว่าถึงเวลาผู้รับงานจะได้รับค่าตอบแทนจากงานที่ทำส่งไปแน่นอน
ขอบคุณข้อมูล