สมรสเท่าเทียม ดีเดย์ 23 ม.ค.นี้ จดทะเบียนต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?
หลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านร่างไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา จึงทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ที่รองรับการจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกัน ล่าสุดนี้ทางโฆษกมหาดไทย ก็ได้ออกมาประกาศยืนยันแล้วว่า สมรสเท่าเทียม ดีเดย์ 23 ม.ค.นี้ แล้วคู่เพศเดียวกันอย่างแต่งงาน จะจดทะเบียนต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
สมรสเท่าเทียม
ประเทศไทยได้ก้าวสู่ความเท่าเทียมทางเพศด้วยการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่อนุญาตให้บุคคลทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้
- การแก้ไขถ้อยคำในกฎหมาย: เปลี่ยนจาก “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคลสองคน” และจาก สามี-ภริยา มาเป็น คู่สมรส เพื่อให้ครอบคลุมทุกเพศสภาพ
- อายุขั้นต่ำในการสมรส: ปรับจาก 17 ปี เป็น 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
- สิทธิ และหน้าที่ของคู่สมรส: คู่สมรสทุกเพศจะได้รับสิทธิ และหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสชาย-หญิง เช่น การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การจัดการทรัพย์สิน สิทธิประกันสังคม การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล และสิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงสิทธิตัดสินใจเรื่องทางการแพทย์
จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม บังคับใช้วันไหน?
หลังจากผ่านโหวตร่างกฎหมายไปเมื่อปลายปีก่อน วันที่ 23 ม.ค.2568 นี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ โดยที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขตทุกแห่ง สามารถเปิดให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมได้
เตรียมตัวจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมยังไง?
- อายุ 18 ปีบริบูรณ์
- กรณีผู้เยาว์กว่าต้องให้บิดา-มารดา หรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอม
- กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน
- ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
- ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
- ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
- ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
- หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อสิ้นสุดการสมรสไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
- คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
- ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
- สมรสกับคู่สมรสเดิม
- บุคคลที่มีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้
- มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
จดทะเบียนต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?
- บัตรประจำตัวประชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
- สำเนาหนังสือเดินทางกรณีชาวต่างประเทศ
- หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือองค์การของรัฐบาลประเทศนั้น มอบหมาย พร้อมแปล(กรณีชาวต่างประเทศขอจดทะเบียนสมรส)
- สำเนาทะเบียนบ้าน
สำหรับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ถือเป็นการมอบสิทธิให้คู่สมรสทุกเพศ แต่ก็ยังคงมีประเด็นอื่น ๆ ที่อาจต้องปรับเปลี่ยน และแก้ไขในอนาคตด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริง โดยการจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนที่จด ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ส่วนการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน จะมีค่าธรรมเนียม 200 บาท