นี่เป็นเวลาแห่งการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปีกันอีกแล้วสิคะ อย่าลืมไปยื่นภายในกำหนดได้ตั้งแต่ตอนนี้ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2560 จะกรอกแล้วไปยื่นเองที่สรรพากร หรือจะใช้วิธียื่นผ่านอินเทอร์เน็ตก็สะดวกมากค่ะ
การยื่นภาษีในครั้งนี้จะเป็นการยื่นแสดงรายการรายได้ที่จะต้องเสียภาษีของปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งมีหลักเกณฑ์หลายอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นอัตราภาษี ค่าใช้จ่าย หรือค่าลดหย่อนต่าง ๆ อย่างไรอย่าลืมศึกษาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในปีนี้เพื่อให้กรอกข้อมูลภาษีได้อย่างถูกต้องกันด้วยค่ะ
อ่านเพิ่มเติม : กฎหมายภาษีใหม่ สิทธิลดหย่อนที่สามี-ภรรยา ต้องรู้
กลับมาถึงเรื่องที่เราจะมาคุยกันก็คือเรื่องของการยื่นภาษีของสามีและภรรยาที่มีเงินได้ทั้งคู่ ว่าเราควรยื่นภาษีอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับครอบครัวเรามากที่สุด ก่อนอื่นเราไปดูหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก่อนว่าสามีและภรรยาเลือกที่จะยื่นภาษีรวมกันหรือจะแยกกันยื่นภาษีก็ได้ อันนี้แล้วแต่ความสบายใจไม่บังคับ เพียงแค่ว่าไม่ว่าจะยื่นภาษีรวมกัน หรือแยกกันยื่น ก็ขอให้แสดงรายการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์เท่านั้น และหากจะยื่นรวมกันต้องมีการจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกำหนดเท่านั้น ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันก็ต้องแยกกันยื่นภาษีเท่านั้น
การแยกกันยื่นภาษีระหว่างสามีภรรยานั้นก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก เหมือนกับต่างคนต่างยื่นภาษีของตัวเองไปเลย เปรียบเสมือนหนึ่งว่าตัวเองเป็นคนโสด ส่วนการยื่นรวมกันนั้นมีให้เลือก 2 แบบ คือ ให้ฝ่ายหนึ่งเป็นคนยื่นทุกอย่างทั้งรายได้ที่เป็นเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ ส่วนอีกฝ่ายไม่ต้องยื่นเลย หรืออีกแบบหนึ่งคือฝ่ายหนึ่งยื่นภาษีเฉพาะรายได้ที่เป็นเงินเดือน ส่วนรายได้อื่นให้นำไปรวมยื่นกับอีกฝ่าย
สำหรับการพิจารณาเพื่อตัดสินใจว่าจะยื่นภาษีรวมกันหรือแยกกัน จึงสำหรับคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นนะคะ หลักการกว้าง ๆ ก็คือ เลือกวิธียื่นที่ทำให้เราเสียภาษีน้อยที่สุด หากว่ายื่นรวมกันแล้วเสียภาษีน้อยกว่าก็ให้ยื่นรวม หากว่าแยกกันยื่นแล้วภาษีที่จ่ายน้อยกว่าก็ให้แยกกันยื่น แล้วทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าแยกยื่นหรือรวมยื่นอันไหนที่เสียภาษีน้อยกว่า หลายคนบอกว่าแทบไม่ต้องคิด เพราะการแยกยื่นย่อมน่าจะดีกว่ารวมยื่น ซึ่งก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอนะคะ ต้องลองคิดคำนวณดูก่อนจึงจะรู้ว่าแบบไหนเสียภาษีน้อยกว่ากัน
-
มีเงินได้อยู่ในฐานภาษีเดียวกัน – ให้แยกยื่น
หากว่าคิดคำนวณเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีแล้ว ทั้งสามีและภรรยามีเงินได้สุทธิที่จะต้องเสียภาษีอยู่ในฐานภาษีเดียวกัน ให้แยกกันยื่นภาษีจะดีกว่า เพราะอย่างที่ทราบว่าการเสียภาษีเงินได้เป็นแบบอัตราก้าวหน้าเป็นขั้นบันได ยิ่งมีรายได้มากจะต้องเสียภาษีมากขึ้น การแยกกันยื่นจะทำให้ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาททั้งคู่และเสียภาษีน้อยกว่า ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่าย สมมติว่าสามีมีเงินได้สุทธิ (หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว) 750,000 บาท ส่วนภรรยามีเงินได้สุทธิ 700,000 บาท ฐานภาษีสูงสุดของทั้งคู่เป็นฐานเดียวกันคือ 15% แต่ถ้ารวมกันยื่นเท่ากับเงินได้สุทธิทั้งคู่เป็น 1,450,000 บาท ฐานภาษีสูงสุดที่จะต้องเสียอยู่ที่ 25% ทำให้ต้องเสียภาษีมากขึ้น
-
มีรายได้ไม่มากแต่มีค่าลดหย่อนมาก – ให้ยื่นรวมเงินได้ทุกประเภท
การที่สามีหรือภรรยาฝ่ายหนึ่งมีรายได้ไม่มากแต่มีค่าลดหย่อนมาก ทำให้เมื่อคิดคำนวณแล้วอาจไม่มีเงินได้สุทธิที่จะต้องเสียภาษี หรือพูดง่าย ๆ ก็คือมีค่าลดหย่อนมากกว่ารายได้ทำให้เงินได้สุทธิเป็นติดลบจึงไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ใช้ค่าลดหย่อนเพื่อประหยัดภาษีได้ไม่เต็มที่ ถ้ายื่นภาษีรวมกัน อีกฝ่ายที่มีเงินได้สุทธิที่จะต้องเสียภาษีจะได้ใช้ประโยชน์จากค่าลดหย่อนที่มากของสามีหรือภรรยาเราได้มากกว่า ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่าย สมมติว่าภรรยาไม่ได้ทำงาน แต่มีเงินได้เป็นดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคารปีละ 50,000 บาท โดยที่ตัวภรรยาสามารถหักค่าลดหย่อนจากการเลี้ยงดูบิดามารดาคนละ 30,000 บาท รวมเป็นค่าลดหย่อน 60,000 บาท แม้ว่าถ้าแยกยื่นภรรยาจะไม่ต้องเสียภาษีก็ตาม แต่จะเป็นการใช้ค่าลดหย่อนไม่คุ้มค่าในการประหยัดภาษี ถ้าเลือกยื่นภาษีรวมกับสามี สามีจะต้องนำทั้งรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนทั้งหมดของภรรยามารวมคิดคำนวณด้วย ทำให้ประหยัดภาษีได้มากกว่า
-
มีเงินได้ทั้งที่เป็นเงินเดือนและเงินได้อื่น ๆ แต่เงินเดือนสูง – ให้แยกยื่นเฉพาะเงินเดือน
อธิบายเพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือว่า หากว่าเรามีเงินเดือนที่สูงมาก หลักจากคิดคำนวณแล้วต้องจ่ายภาษีสูงสุดที่อัตรา 20% ถ้าเรานำรายได้อื่น ๆ เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย มารวมคำนวณด้วย รายได้อื่น ๆ ก็ต้องเสียภาษีที่อัตรา 20% แต่ถ้าเรานำเฉพาะรายได้อื่น ๆ ไปแยกยื่นรวมกับอีกฝ่ายก็จะทำให้เสียภาษีน้อยลง โดยที่ต้องดูฐานภาษีของอีกฝ่ายด้วยว่าเสียอัตราสูงสุดอยู่ที่เท่าไหร่ หากเท่ากันที่ 20% ก็ไม่ต้องรวม ต่างคนต่างยื่น แต่หากอีกฝ่ายมีฐานภาษีที่ต่ำกว่า เช่น 10-15% ก็ให้นำรายได้อื่น ๆ นี้ไปรวมยื่นกับอีกฝ่ายจะทำให้ส่วนของรายได้เหล่านี้เสียภาษีที่ 10-15% ไปด้วย
ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นเป็นเพียงแค่หลักเกณฑ์กว้าง ๆ เท่านั้น แต่ถ้าจะเอาให้ชัวร์ก็ต้องลองคิดคำนวณดูจริง ๆ ว่าหากแยกยื่นจะเสียภาษีเท่าไหร่ หากว่ารวมยื่นทั้งแบบรวมทุกเงินได้กับรวมเฉพาะรายได้อื่น ๆ ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ แล้วค่อยนำมาเปรียบเทียบว่าแบบไหนช่วยให้ประหยัดภาษีได้มากกว่ากัน เสียสละเวลาลองคิดคำนวณนิดหน่อยแล้วเลือกวิธียื่นภาษีที่ประหยัดมากที่สุด เพียงแค่นี้เราก็จะมีเงินเหลือใช้เหลือเก็บสำหรับครอบครัวมากขึ้นค่ะ