คนเราเกิดมาบางคนต่างก็ตั้งคำถามว่า “เราเกิดขึ้นมาทำไม” “เกิดมาเพื่อทำอะไร” หลากหลายคำถามที่ชวนให้ครุ่นคิด เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัวและคำถามเหล่านี้ก็เริ่มมีมากขึ้นในยุคคลาสสิก ยุคของนักคิด ยุคของการยอมรับความเป็นปัจเจกบุคคล นับถือกันที่ความสามารถจึงเกิดกลุ่มแนวคิดที่เรียกว่า “มนุษยนิยม” เกิดขึ้น กลุ่มแนวคิดนี้มีหลักการว่า มนุษย์มีพัฒนาการตามธรรมชาติ มีสมองและความคิดที่เป็นอิสระ และที่สำคัญมีความต้องการตามธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งนักมนุษยนิยมผู้ยิ่งใหญ่นามว่าอับราฮัม มาสโลว์ ได้เสนอทฤษฏีที่ขยายความหลักการนี้อย่างเป็นหลักการ จนได้รับความเชื่อถือ เขาเรียกว่า “ทฤษฏีลำดับขั้นความต้องการของมาส์โลว์” (Maslow’s hierarchy of needs Theory) แนวคิดทฤษฏีนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จของคนเราได้อย่างไร วันนี้เรามีคำอธิบายขยายความให้อย่างชัดเจนครับ
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับอับราฮัม มาสโลว์ เจ้าของทฤษฏีนี้กันพอสังเขปครับ
มาสโลว์ เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1908 ที่สหรัฐอเมริกา เขาเกิดในครอบครัวชาวยิวที่อพยพมายังดินแดนอเมริกา เป็นลูกชายคนโตสุดในบรรดาพี่น้องทั้ง 7 คน พ่อแม่ของเขาให้ความสำคัญต่อการศึกษาของลูกมาก เขาจึงได้รับการศึกษาในโรงเรียนที่ค่อนข้างดี แต่กระนั้นเขาก็เป็นคนมีเพื่อนน้อยและเขาชอบหลบไปอ่านหนังสือคนเดียวในห้องสมุดมากกว่าเล่นสนุกกับเพื่อน สิ่งหนึ่งที่เขาสนใจจากการอ่านและศึกษาค้นคว้าคือเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาและพฤติกรรมของมนุษย์ เมื่อเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเขาจึงเลือกเรียนในมหาวิทยาลัย Wisconsin ในสาขาจิตวิทยา จนจบปริญญาเอกใน ค.ศ.1934
จากผลงานการศึกษาวิจัยและงานเขียนในระดับปริญญาเอก ทำให้เขามีชื่อเสียง เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Brooklyn ก่อนจะย้ายมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งที่นี่เองเขาได้พบกับปรมาจารย์ด้านจิตวิทยาและมนุษยนิยมมากมาย การแลกเปลี่ยนความรู้และทรรศนะ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาค้นคว้าและเสนอทฤษฎี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทฤษฏีลำดับขั้นความความต้องการของมาส์โลว์ที่เขาได้นำเสนอในปี ค.ศ.1943 ปรากฏในรายงานเรื่อง “A Theory of Human Motivation” ทฤษฏีนี้เสนอว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาโดยธรรมชาติแล้วมีความพร้อมที่จะทำสิ่งที่ดี หากเขาได้รับความต้องการตามลำดับ ซึ่งแสดงไว้ในรูปของฐานพีระมิด โดยความต้องการลำดับแรกจะมีมากที่สุดเป็นความต้องการพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนขาดไม่ได้ ไปจนถึงความต้องการสูงสุดในบันไดขั้นที่ 5 ซึ่งความต้องการทั้ง 5 ขั้น มีรายละเอียดดังนี้
-
ความต้องการด้านร่างกายหรือด้านกายภาพ (Physiological Needs)
คือความต้องการขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมีและพึงต้องการเพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอด นึกง่ายสุดคือปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ซึ่งความต้องการเหล่านี้ถือว่ามีความจำเป็น หากมนุษย์ไม่ได้รับความต้องการเหล่านี้อย่างเพียงพอก็จะส่งผลต่อคุณภาพของร่างกายตลอดจนประสิทธิภาพของการทำงานให้ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างบางประเทศในทวีปแอฟริกาที่เกิดภาวะทุกขภิกขภัย ขาดแคลนทั้งอาหาร น้ำและยารักษาโรค เนื่องจากเกิดความขัดแย้งและสงครามกลางเมือง พลเมืองไม่ได้รับความต้องการนี้อย่างเพียงพอจึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมทุกด้าน
-
ความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs)
หลังจากที่มนุษย์ได้รับความต้องการพื้นฐานเพียงพอแล้ว เขาจะเริ่มมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นคือการมีชีวิตอยู่รอดและปลอดภัย เขาจึงต้องการครอบครัวที่อบอุ่น ต้องการการงานที่มั่นคง เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงของฐานะและการเงิน การมีรายได้ที่มั่นคง มีเจ้านายและเพื่อนร่วมงานที่ดี ล้วนจัดอยู่ในความต้องการนี้ ที่จะยังให้เกิดความสำเร็จทั้งในเรื่องส่วนตัวและการงานอย่างแน่นอน หากเขาได้รับความรู้สึกว่ามั่นคงและปลอดภัย
-
ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (Belongingness and Love Need)
เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ด้วยเหตุผลนี้มนุษย์จึงเกิดความต้องการขั้นที่ 3 คือการมีเพื่อน มีครอบครัว คนรัก มีการยอมรับในความสามารถและตัวตน ความเป็นพวกพ้อง และสิ่งสำคัญสุดคือ “ความรัก” ที่เป็นสิ่งจรรโลงให้โลกนี้มีความสงบสุข สังคมเกิดความปรองดอง ความรักมีหลากหลายระดับ แต่เชื่อแน่ว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยเชื่อมต่อความรู้สึก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม
-
ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียงและความภาคภูมิใจ (Self- Esteem Need)
เมื่อมนุษย์เติบโตมาถึงจุดหนึ่ง ที่มีความต้องการด้านกายภาพ ความปลอดภัย ความรัก เพียบพร้อมสมบูรณ์ เขาจะเริ่มมีความต้องการอีกขั้นคือความก้าวหน้าและการยอมรับในคุณค่าของตนจากบุคคลอื่นรอบข้าง ความต้องการการยกย่องชมเชย โดยแบ่งเป็นการนับถือตนเอง คือการเห็นคุณค่าของตนเอง เชื่อมั่นว่าตนเองมีความรู้ความสามารถ และสามารถประสบความสำเร็จได้ และการยอมรับการนับถือจากผู้อื่นหรือคนรอบข้าง คือการได้รับการยกย่องชมเชย ให้รางวัล เชิดชูจากบุคคลอื่นรอบข้างนั่นเอง
-
ความต้องการความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-Actualization Needs)
เป็นความต้องการขั้นสูงสุด ที่มนุษย์น้อยคนจะไปถึงได้ เริ่มจากการที่ต้องได้รับความต้องการทั้งสี่ด้านข้างต้นอย่างเพียงพอก่อน ความต้องการนี้มาสโลว์อธิบายว่า เป็นความต้องการและความปรารถนาที่มนุษย์จะใช้ความสามารถและศักยภาพที่มีทั้งหมดในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เท่าที่เขาพึงจะทำได้ตามศักยภาพ เช่น เมื่อเป็นนักดนตรีก็พยายามพัฒนาตนเองให้เป็นนักดนตรีที่เล่นเก่งที่สุด ด้วยการฝึกฝน เป็นต้น
ทฤษฏีบันได 5 ขั้นของมาสโลว์ หากได้ศึกษาอย่างถ่องแท้จะเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในทุกลำดับขั้นของชีวิต ลองกลับมามองว่าตอนนี้เราได้รับความต้องการในชีวิตขั้นใดแล้ว และเราจะพัฒนาตนเองอย่างไรให้ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ถึงบันไดขั้นที่ 5 ได้อย่างไร