คุณคงเคยได้ยินตัวย่อภาษาอังกฤษอย่าง MLR, MOR, MRR กันมาบ้าง ยิ่งสำหรับคุณ ๆ ที่เคยกู้ซื้อบ้านหรือซื้อคอนโดกันมาก่อนน่าจะรู้จักกันดี เพราะตัวย่อเหล่านี้คืออัตราดอกเบี้ยค่ะ และก็มีหลาย ๆ คนที่ยังอาจจะสับสนกันอยู่บ้างว่า ตัวย่อต่าง ๆ เหล่านี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง อันที่จริง ถ้าเราจะพูดถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ก็คือ
อัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือที่เราเรียกกันว่า Fixed rate ซึ่งหมายถึงอัตราดอกเบี้ยที่ตัวเลขเท่าเดิมตลอดอายุสัญญาหรือตลอดช่วงเวลาที่ตกลงและกำหนดกันไว้ค่ะ เช่น กำหนดว่าให้ชำระดอกเบี้ย 4% เป็นระยะเวลา 3 ปี
ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ อัตราดอกเบี้ยลอยตัว หรือที่เราคุ้นหูกันในภาษาอังกฤษว่า Floating rate นั่นเองค่ะ โดยจะหมายความถึง อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งและในแต่ละช่วงเวลาค่ะ โดยส่วนใหญ่นั้น ทางธนาคารแต่ละแห่งก็จะแจ้งประกาศอัตราดอกเบี้ยกันเป็นครั้งคราวไป ผู้ที่สนใจก็สามารถตรวจสอบได้ที่หน้าเว็บไซต์ของธนาคารแห่งนั้นได้เช่นกันค่ะ
และที่เรา ๆ น่าจะได้ยินกันบ่อยที่สุดก็คงไม่พ้นตัวย่อที่ว่า MLR, MOR และ MRR ค่ะ ตามที่ธนาคารแห่งชาติได้ให้ความหมายไว้
MLR หรือ Minimum Loan Rate ก็คือ อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือไม่ก็ต้องมีประวัติทางการเงินที่ดีพอ ลักษณะของสินเชื่อจะมีระยะเวลาในการกู้ยืม หรือ Term Loan ที่ค่อนข้างยาวแต่ก็มีกำหนดของระยะเวลาที่ชัดเจนนะคะ เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ หรือ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
ส่วน MOR หรือ Minimum Overdraft Rate หมายถึงอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่เกรดดี ในกรณีเบิกเงินเกินยอดในบัญชี
และ MRR หรือ Minimum Retail Rate ก็คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายเล็ก ๆ หรือ รายย่อยชั้นดี อย่างเช่นสินเชื่อส่วนบุคคล, สินเชื่อกู้ซื้อบ้าน หรือ สินเชื่อบัตรเครดิต นั่นเองค่ะ แต่ธนาคารพาณิชย์บางแห่งอย่างธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ก็ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้นมาใช้เพิ่มเติมด้วยนะคะ เรียกว่า MHR หรือ Minimum Housing Rate หรือ HLR แปลว่า Housing Loan Rate ซึ่งทางธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์นั้น ได้ให้นิยามว่า เป็นดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อการเคหะสำหรับลูกค้าเกรดดีค่ะ
ถ้าคุณ ๆ เกิดสงสัยขึ้นมาว่า อัตราดอกเบี้ยนั้นแต่ละธนาคารสามารถกำหนดขึ้นมาได้เองเลยอย่างนั้นหรือเปล่า คำตอบคือ ใช่ค่ะ เพราะ ถ้าว่ากันตามกฎของแบงค์ชาติ ซึ่งก็ไม่ได้บังคับกำกับกำเกณฑ์ใด ๆ ว่าแต่ละธนาคารจะต้องใช้อัตราดอกเบี้ยเพียงแค่ 3 อย่างเท่านั้นคือ MLR, MOR และ MRR ค่ะ แต่ตามหลักการนั้น แต่ละธนาคารสามารถที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้นมาเรียกเก็บได้ แต่ที่สำคัญก็คือ ธนาคารผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงนั้น ๆ ต้องสามารถให้คำจำกัดความถึงความหมายของอัตราดอกเบี้ยนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจนค่ะ รู้อย่างนี้แล้ว บางท่านอาจจะมึน ๆ ว่า ถ้าเป็นอย่างนี้แต่ละธนาคารก็ตั้งอัตราดอกเบี้ยกันขึ้นมาตามใจชอบเลยสิ คุณ ๆ อย่าเพิ่งกังวลกันไปค่ะ เพราะในความเป็นจริงธนาคารต่าง ๆ ก็ไม่ได้มานั่งคิดประดิษฐ์อัตราดอกเบี้ยอะไรมากนักหรอกค่ะ เรา ๆ ถึงได้เจอแต่ MLR, MOR และ MRR กันอยู่บ่อย ๆ นั่นแหละค่ะ และอัตราดอกเบี้ยลอยตัวทั้ง 3 แบบนี้ก็คืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์หลาย ๆ แห่ง นิยมใช้กันมากที่สุดในการเสนอธุรกรรมสินเชื่อต่าง ๆ ด้วยค่ะ
นอกจากนิยามของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแล้ว คุณ ๆ ควรจะรู้ไว้ด้วยว่าอัตราดอกเบี้ยเหล่านี้ถึงจะใช้ชื่อเหมือน ๆ กัน แต่ไม่ได้เป็นอัตราเดียวเท่ากันทุก ๆ ธนาคารหรอกนะคะ นั่นก็เพราะว่าความแตกต่างทางต้นทุนของธนาคารแต่ละแห่งค่ะ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องของธนาคารต่าง ๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องของดอกเบี้ยเงินฝาก, จำนวนเงินฝาก, สถานะของกองทุนต่าง ๆ, อัตราส่วนของกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง, ปริมาณของจำนวนเงินสำรอง, จำนวนหนี้เสีย และ สภาพคล่องของแต่ละธนาคารเองด้วยค่ะ ซึ่งก็แน่นอนว่าปลาใหญ่ย่อมได้โอกาสจัดข้อเสนอที่พิเศษกว่าปลาเล็ก เราจึงมักเห็นอัตราดอกเบี้ยที่เสนอโดยธนาคารขนาดใหญ่นั้นมีอัตราที่ต่ำกว่าข้อเสนอของธนาคารขนาดเล็กค่ะ
ในทำนองเดียวกัน แม้คุณ ๆ 2 คนเดินเข้าไปที่ธนาคารแห่งเดียวกันเพื่อไปขอสินเชื่อประเภทเดียวกัน ก็อาจจะได้รับข้อเสนออัตราดอกเบี้ยที่ไม่เท่ากันก็ได้ค่ะ นั่นเป็นเพราะลูกค้าแต่ละรายมีความเสี่ยงของการกู้ยืมที่ต่างกัน ไมว่าจะเป็นด้านส่วนต่างของรายได้กับรายจ่าย, ส่วนของรายได้ประจำ หรือ รายได้สุทธิ, พฤติกรรมในการชำระหนี้ที่ผ่านมาของลูกค้า, ภาระหนี้สินปัจจุบัน และ ประเภทของหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันการกู้ยืม บางคนอาจจะนำบัญชีเงินฝากออมทรัพย์, บัญชีเงินฝากประจำ, รถยนต์ แต่บางคนอาจจะนำอสังหาริมทรัพย์มาใช้เป็นหลักประกันก็ได้ค่ะ ซึ่งจุดนี้เองทำให้คนหนึ่งอาจจะได้รับ MLR อย่างเดียว ในขณะที่อีกคนอาจจะได้รับ MLR + 1% ค่ะ
และถึงแม้ว่า MLR นั้นจะหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่และมีประวัติดี หรือมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน แต่ก็มีอยู่เหมือนกันที่ทางธนาคารจะมอบอัตราดอกเบี้ย MLR ให้กับลูกค้าทั่วไปได้เช่นกันไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นลูกค้ารายใหญ่เพียงอย่างเดียวค่ะ เพียงแต่ทางธนาคารจะเสนอให้ก็ต่อเมื่อเป็นการกู้สินเชื่อระยะยาวที่มีระยะเวลากำหนดไว้แน่นอนค่ะ ณ จุดนี้ คุณ ๆ ก็คงจะพอเข้าใจความเหมือนและความต่างของอัตราดอกเบี้ยในการขอสินเชื่อกันแล้วนะคะ