ปัจจุบันสังคมไทยมีความตื่นตัวในเรื่องของการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณมากขึ้น โดยทุก ๆ คนเริ่มตระหนักแล้วว่า การวางแผนทางการเงินนั้นมีความสำคัญอย่างมากในการดำเนินชีวิตของเรา เพื่อให้การใช้จ่ายเงินของเรานั้นคุ้มค่า ใช้จ่ายเงินได้ถูกต้อง ไม่เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ โดยมีความกังวลในเรื่องต่าง ๆ เช่น การที่เศรษฐกิจของโลกมีความผันผวนตลอดเวลา ทำให้ค่าเงินบาทไทยได้รับผลกระทบ การดำเนินธุรกิจต่าง ๆ มีทั้งขาขึ้นและขาลง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กันไปหมด จะหวังว่าจะทำงานไปเรื่อย ๆ แล้วถึงช่วงหนึ่ง เมื่อได้ของที่ต้องการครบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ หรืออื่น ๆ แล้วค่อยเริ่มเก็บเงินทีหลัง ค่อยเริ่มออมเงิน
ดูเหมือนความคิดนี้นั้นจะใช้ไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ “ออมก่อน จ่ายทีหลัง” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเงินออม แต่ก็ใช่ว่าการออมเงินเพียงอย่างเดียวนั้น จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่หลังเกษียณได้มีเงินใช้ตลอดเวลาเพราะอย่าลืมปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่คอยกัดกินเงินของเราให้ด้อยมูลค่าไปเรื่อย ๆ จากเงิน 100 บาท ซื้อข้าวได้ 1-2 มื้อ ในอนาคต เงิน 100 บาทอาจจะซื้อข้าวไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะอาจโดนพิษของภาวะเงินเฟ้อเล่นงานนั่นเอง
โดยวันนี้เรามีขั้นตอนการวางแผนเกษียณ สไตล์ คุณธชธร สมใจวงษ์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางด้านทรัพยากรบุคคล และเป็นนักวางแผนการเงิน ผู้เป็นเจ้าของหนังสือที่มีชื่อว่า “ต้องทำงานอีกนานแค่ไหน” ได้มีคำแนะนำขั้นตอนต่าง ๆ ทั้ง 6 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
ความต้องการของตัวเราเอง ดูว่างานที่เราทำอยู่นั้น เราสามารถทำได้ถึงอายุประมาณเท่าไหร่ เมื่อไหร่ที่เราจะหยุดทำงาน โดยการกำหนดอายุเกษียณนั้นแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเท่ากัน เช่น บางคนอาจอยากเกษียณเร็วหน่อยที่อายุประมาณ 50 ปี หรือ บางคนก็ตามเกณฑ์ที่ประมาณ 60 ปี จากนั้นก็คำนวนระยะเวลาที่เราคาดว่าจะมีชีวิตใช้เงินอยู่อีกประมาณกี่ปี เช่น นาย ก. ตั้งอายุเกษียณที่ 60 ปี และวางแผนว่าอยากได้เงินไว้ใช้หลังเกษียณให้พอสำหรับ 20 ปี
ขั้นต่อมาคือการคำนวณค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น หลังจากการประเมินขั้นแรกแล้ว ในตัวอย่างนี้ก็คือระยะเวลา 20 ปี นั่นเอง โดยคำนวณได้คร่าว ๆ จากความต้องการของเราเองว่าเราต้องการจะใช้ชีวิตในช่วงนั้นยังไงบ้าง และนำสิ่งเหล่านั้นมาแปลงเป็นจำนวนเงิน เช่น ถ้าเราอยากเดินทางท่องเที่ยวง่าย ๆ ในประเทศ และใช้เงินพอประมาณ ไม่ฟุ่มเฟือย เช่น เดือนละ 3-4 หมื่นบาท ก็ให้นำไปคูณกับระยะเวลา เป็นต้น
- ทำแหล่งบัญชีเงินได้ที่มีอยู่หรือที่เตรียมไว้สำหรับเกษียณ เช่น พอร์ตหุ้นหรือกองทุนต่าง ๆ ที่เราได้ลงทุนไว้ หรือได้ซื้อไว้ เพื่อได้ทราบว่าเงินใช้ในยามเกษียณของเรานั้นมีแหล่งที่มาจากด้านไหนบ้าง
- ต่อมาทำการคำนวณเงินต้องหาเพิ่ม หลังจากที่เราได้คำนวณว่าต้องใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ในช่วงเกษียณแล้ว ก็ถึงเวลาต้องคำนวณแล้วว่า ต้องหาเงินเพิ่มเท่าไหร่ เพื่อจะได้รู้ว่าเราควรใช้เครื่องมือทางการเงินในรูปแบบไหนเพื่อให้ได้เงินอีกจำนวนหนึ่งมาเพื่อให้ครบตามเป้าหมายที่เราวางไว้
วางแผนกำหนดแนวทางในการออมและการลงทุน เมื่อเราคำนวณเงินที่ขาดแล้วว่ามีเท่าไหร่ และเราก็ดูอายุในปัจจุบันของเราว่าเหลือเวลาอีกมากน้อยเพียงใดสะสมเงินเพิ่ม ถ้าเหลือเวลาน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ต้องการ อาจจะต้องใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เนื่องจากการลงทุนในสินค้าที่ให้ผลตอบแทนสูง ก็ย่อมมีความเสี่ยงสูงเป็นธรรมดา ส่วนของการเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินสำหรับการวางแผนเกษียณ ควรใช้ในส่วนของกองทุนต่าง ๆ เช่น RMF หรือ LTF ที่ควรพิจารณาเป็นอันดับแรก ๆ เพราะกองทุนเหล่านี้เป็นกองทุนที่มีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อเราเกษียณแล้ว และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่แต่ละบริษัททำไว้ให้ เพราะก็เป็นรายได้อีกทางนึงเช่นกันที่เราจะได้รับประโยชน์อย่างมาก เครื่องมือทางการเงินอีกอย่างก็เช่น หุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ที่คุณธชธร สมใจวงษ์ ได้แนะนำให้ควรศึกษาหาความรู้เอาไว้ เพราะเป็นช่องทางที่ถือว่าเป็น Asset ที่สามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้กับเราได้ เพราะสินค้าเหล่านี้ ถือเป็นการสร้างรายได้ในรูปแบบ Passive Income ให้กับเราในอนาคตนั่นเอง
และสุดท้าย ติดตาม ทบทวน และปรับปรุงอยู่เสมอ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การติดตามผลการลงทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างทาง
จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการวางแผนการเงินสำหรับเกษียณนั้นมีขั้นตอนที่ไม่ยากและไม่ซับซ้อนจนเกินไปนัก ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าใจได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวางแผนการเงินเท่านั้น ไม่ว่าขณะนี้คุณจะเพิ่งเริ่มทำงาน หรือใกล้จะเกษียณแล้วแต่ยังไม่เคยมองเรื่องการวางแผนทางการเงินจริงจังเท่าไร ก็ควรเริ่มวางแผนได้แล้ว เนื่องจากการวางแผนที่ดีนั้นต้องใช้เวลา และมีขั้นตอนในการปรับปรุงแผนเพื่อให้ได้ตรงตามเป้าหมายของเราที่สุด และที่สำคัญเมื่อเราวางแผนแล้วเราต้องหมั่นทบทวน และย้ำกับตัวเองเสมอเรื่องความมีวินัย เพราะเรื่องวินัยนั้นเป็นสิ่งสำคัญแทบจะที่สุดเลย เพราะถ้าเราวางแผนไว้แล้วแต่เราดันไม่มีวินัย ไม่มีความมุ่งมั่นเพียงพอทำตามแผน สุดท้ายแผนที่ใช้เวลาคิดมาทั้งหมดนั้น ก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในที่สุด และหวังว่าทุกคนจะลองทำตามคำแนะนำนี้ดู เพื่อชีวิตที่ดีกว่าในวัยเกษียณ