ไม่น่าเชื่อว่าการไปร่วมพิธีแต่งงานเพื่อเป็นสักขีพยานแสดงความยินดีในงานอันเป็นมงคลแห่งการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวของคู่รักคู่หนึ่งจะนำสารพัดปัญหามาให้ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อาทิ จะใส่ชุดอะไรดีต้องเคลียร์คิวให้ว่าง เรื่อยไปถึงเรื่องการเดินทาง จนกระทั่งปัญหาใหญ่สำหรับใครหลาย ๆ คน นั่นคือ “การใส่ซอง”
อ่านเพิ่มเติม : เคล็ดลับวางแผนรับมือ ‘ภาษีสังคม’ รายจ่ายที่เลี่ยงยาก!
ประเด็นเรื่องการใส่ซองงานแต่งงานนับเป็นปัญหาหนักอก และบางครั้งก็สร้างความบาดหมางถึงขั้นตัดสัมพันธ์กัน ดังมีกรณีตัวอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวเด่นออนไลน์กระหึ่มโลกโซเชียลเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า หญิงสาวผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์เรื่องการใส่ซองช่วยงานแต่งงาน 200 บาท แต่กลับถูกเจ้าภาพส่งซองคืนพร้อมแนบข้อความเหน็บแนมว่าใส่น้อยเกินไป แถวบ้านใส่อย่างต่ำ 500 บาท ซ้ำยัง Unfriend จากการเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กด้วย เหตุการณ์นี้ทำให้เธอรู้สึกสะเทือนใจมากเพราะไปช่วยงานตั้งแต่เช้า หมดเงินทั้งค่าชุดและค่าน้ำมันรถ ระบุว่าเงินเดือนน้อยจึงใส่ซองตามอัตภาพ
ประเด็นนี้มีผู้ร่วมวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่จะตำหนิเจ้าภาพ บ้างก็ให้ข้อเสนอแนะเชิงเสียดสีว่าหากจัดงานแต่งงาน เพราะต้องการเงินมาก ๆ ก็ควรทำซองชนิดใส แขกรายใดใส่น้อยจะได้ส่งคืนตอนนั้นเลย (อ้างอิง: https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_199012)
อีกกรณีหนึ่งเป็นชายหนุ่ม ได้ตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดยอดนิยมแชร์ประสบการณ์ว่า “เสียเพื่อนเพราะซองงานแต่งงาน” เจ้าของกระทู้เล่าว่า ไปร่วมงานแต่งงานของเพื่อนในกลุ่มไลน์ซึ่งไม่สนิทสนมกันมากนัก งานจัดที่โรงแรม 5 ดาว เขาใส่ซอง 1,000 บาท ด้วยความเต็มใจ แต่เพื่อนคนนั้นกลับส่งไลน์มาตำหนิว่าใส่ซองพันเดียว หากใส่แค่นี้ควรมากินฟรี ท้ายกระทู้เขาจึงฝากถามคู่บ่าวสาวว่า ต้องการจัดงานแต่งงานหรือทำธุรกิจหากำไรกินค่าหัว เขาทำตัวไม่ถูกและรู้สึกไม่อยากไปร่วมงานใดอีกเลย (https://pantip.com/topic/35674895) นอกจากทั้งสองรายนี้แล้ว ยังมีผู้ตั้งกระทู้คำถามว่า ควรใส่ซองงานแต่งงานเท่าไรไม่ให้น่าเกลียด หากตนมีเงินเดือนเพียง 15,000 บาท เงื่อนไขคือผู้เชิญเป็นเพื่อนร่วมงาน ซึ่งไม่สนิทมาก ไม่ได้ไปร่วมงานแต่ฝากซองไปและมีหนี้สินส่วนตัวที่ต้องชำระอีกประมาณ 6,000 บาท (อ้างอิง: https://pantip.com/topic/31200421)
กรณีตัวอย่างข้างต้นบ่งชี้ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่และตราบใดที่คุณยังอยู่ในสังคม ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การใส่ซองงานแต่งงาน ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมานานก็เป็นหนึ่งใน “ภาษีสังคม” ที่เลี่ยงได้ยาก บางเดือนอาจได้รับการ์ดเชิญหลายงาน บ้างก็เป็นญาติ เพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ วันนี้เรามีข้อแนะนำดี ๆ มาฝากว่า ควรใส่ซองมากน้อยแค่ไหนให้เหมาะสม เอาอะไรเป็นเกณฑ์วัดจึงดูสมน้ำสมเนื้อและไม่ผิดมารยาทเพื่อคุณจะได้ไม่ต้องกังวลหรือหนักอกหนักใจเมื่อได้รับเชิญไปร่วมงานแต่งงานกันอีกต่อไป
-
ใส่ตามอัตภาพ
พิจารณากำลังทรัพย์ สถานะการเงิน หรือคำนึงถึงรายได้ของตนเองเป็นสำคัญ คุณต้องประเมินก่อนเป็นอันดับแรกว่าหากใส่ซองเท่านั้นเท่านี้แล้วจะไม่เดือดร้อนในภายหลัง เช่น มีเงินเดือนไม่มาก ลำพังเพียงใช้ถึงสิ้นเดือนยังลำบาก ก็ควรใส่ซองช่วยงานพอประมาณแบบไม่เกินตัว
-
ใส่ตามระดับความสนิทสนม
กรณีนี้ควรนำเรื่องระดับความสัมพันธ์มาใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่น หากเป็นเพื่อนกัน ลองตรองดูว่ามีความสนิทชิดเชื้อมากแค่ไหน หากเป็นญาติพี่น้อง นอกจากความสนิทแล้วควรพิจารณาร่วมกับความอาวุโส ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่กว่าก็อาจใส่ซองเป็นจำนวนเงินพอสมควร เพื่อเป็นขวัญถุงให้คู่บ่าวสาวได้ไปเริ่มตั้งชีวิตสร้างครอบครัว เป็นต้น
-
ใส่โดยคูณจำนวนคนที่จะไปร่วมงาน
การเชิญแขกแบบไทย ๆ การ์ด 1 ใบอาจไม่ได้หมายถึงแขก 1 คน แต่หมายรวมถึงแฟน สามี ภรรยา หรือครอบครัวด้วย เจ้าภาพจึงมักสำรองที่นั่งพร้อมอาหารเผื่อไว้และย่อมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นคุณควรนำจำนวนคนที่จะไปร่วมงานคูณเข้ากับจำนวนเงินด้วยจึงเหมาะสม เช่น เดิมคิดจะไปคนเดียวและตั้งใจใส่ซอง 1,000 บาท แต่เผอิญแฟนว่างและไปร่วมงานด้วย กลายเป็น 2 คน ก็ควรเพิ่มเงินใส่ซองเป็น 2,000 บาท หรือหากคุณไปกินเลี้ยงกันทั้งครอบครัว มีลูก ๆ และคู่สมรสติดตามก็ควรพิจารณาใส่ซองมากหน่อย เพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียด
-
ใส่ตามสถานที่จัดงาน
สถานที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งซึ่งช่วยให้คุณประเมินได้ว่าควรใส่ซองเท่าไร เพราะในปัจจุบัน ราคาอาหารจัดเลี้ยงและค่าเช่าสถานที่ค่อนข้างสูง บ่งชี้ถึงจำนวนเงินที่คู่บ่าวสาวต้องจ่ายด้วย เช่น หากจัดที่โรงแรม คุณควรใส่ซองมากกว่ากรณีจัดงานที่บ้าน ร้านอาหาร หรือหอประชุมโรงเรียน เป็นต้น
-
ใส่เพิ่มจากที่เคยได้รับมา
แนวคิดนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนสมัยก่อน หากคุณเคยแต่งงานแล้ว และได้จดบันทึกไว้ว่าแขกที่มาร่วมงานแต่ละคนใส่ซองเท่าไร เมื่อเขาเชิญกลับมาบ้าง คุณก็ควรใส่ซองโดยบวกเพิ่มจากจำนวนที่เคยได้รับมาหรืออย่างน้อยก็ไม่ควรต่ำกว่าที่ได้รับ
เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ เชื่อว่าแนวทางข้างต้นน่าจะเป็นเครื่องประกอบการตัดสินใจ และคงพอช่วยให้คุณคลายความอึดอัดกลัดกลุ้มเมื่อได้รับการ์ดเชิญให้ไปร่วมงานแต่งงานได้บ้าง ลองประยุกต์ปรับเปลี่ยนตามสภาพเศรษฐกิจและความพึงพอใจส่วนตัวของคุณ เพื่อจะได้ไม่ต้องรู้สึกไม่ดีหรือบาดหมางใจกันในภายหลัง อย่างไรก็ตาม เจ้าภาพหรือคู่บ่าวสาวจำนวนมากน่าจะให้ความสำคัญกับน้ำใจและต้องการเชิญคุณไปร่วมเป็นเกียรติในงานอันเป็นมงคลแห่งชีวิตมากกว่าสิ่งอื่นใด การใส่ซองงานแต่งงานจึงควรยึดหลักมิตรภาพไว้เป็นดีที่สุด