วัยเด็กคือวัยแห่งการเรียนรู้ ช่วงเวลานี้คุณสามารถสอนเขาได้อย่างเต็มที่ และค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพมากเสียด้วย เพราะเด็กๆจะยึดคุณและคำสอนของคุณเป็นหลัก ดังนั้นตัวคุณเองก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเขาด้วย
เรื่องการเงินถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆที่คุณควรสอนพวกเขา เพราะความรู้ในเรื่องการใช้เงินนี้จะติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต เขาจะมีอนาคตทางการเงินที่ดีหรือประสบสภาวะล้มเหลวทางการเงิน ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้สอนเองเป็นหลัก ว่าจะถ่ายทอดให้เขาเรียนรู้ได้อย่างไร ดังนั้นคุณเองก็ควรเรียนรู้ถึงวิธีที่จะสอนให้ลูกน้อยของคุณมี นิสัยทางการเงิน ที่ดีด้วยนั่นเอง
และวันนี้เราก็มีวิธีปลูกฝัง นิสัยทางการเงิน ให้เด็กๆ แบบง่ายๆ มาฝากกันด้วยค่ะ ซึ่งวิธีต่างๆต่อไปนี้ คือวิธีที่คุณสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน และช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้อีกด้วย จะมีวิธีใดบ้างนั้น มาลองดูกันเลย
1. พยายามดึงเขาเข้ามามีส่วนร่วมในทุกๆกิจกรรม
ไม่ว่าจะเป็นการช็อปปิ้ง การทำกับข้าว หรือไปธนาคาร ชำระเงินค่าสาธารรูปโภค ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องที่ควรให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกๆกิจกรรมที่คุณทำภายในบ้าน คือการเรียนรู้หลักเศรษฐศาสตร์ทางอ้อมนั่นเอง แต่ก็ใช่ว่าพาเขาไปแล้วคุณเอาแต่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยให้เขาเห็นนะ เพราะจากที่จะสอนให้เขาใช้เงินอย่างประหยัดจะกลายเป็นสอนให้เขาฟุ่มเฟือยแทนได้นั่นเอง
โดยเริ่มต้นที่การช็อปปิ้งกันก่อนเลย เขาจะได้เรียนรู้วิธีเลือกซื้อสินค้าที่ถูกต้อง รู้จักเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ และวัดคุณค่าอิงกับราคา หรือเทียบกันระหว่างคุณภาพ ต่อมาคือการทำอาหาร เขาจะได้เรียนรู้เรื่องความประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ เพราะการทำอาหารรับประทานเองในบ้าน บางครั้งอาจต้องใช้ผักสวนครัวที่คุณปลูกเอาไว้กินเองภายในบ้าน และช่วยสร้างวัฒนธรรมการใช้เงินที่ดีให้กับเขาในทางอ้อมอีกด้วย เพราะไม่ต้องออกไปหารับประทานนอกบ้านให้เสียเงินเพิ่มอีกเท่าตัวเช่นหลายๆครอบครัวในสมัยนี้ ยิ่งมีลูกผู้หญิงด้วยแล้ว การทานอาหารที่บ้าน จะช่วยสอนการเป็นแม่บ้านแม่เรือนให้กับเขาได้เป็นอย่างดีเลยล่ะ
2. ตั้งเงื่อนไข อย่าให้สิ่งของที่เขาอยากได้ โดยที่ไม่สอนเขาก่อน
ทุกครั้งที่เขาต้องการอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นของเล่น ของใช้ หรืออื่นๆที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต คุณควรตั้งเงื่อนไข และยื่นข้อเสนอให้เขาช่วยเหลือตัวเองบ้าง เช่น ถ้าเขาอยากได้ของเล่นชิ้นนี้ เขาต้องช่วยคุณทำงานบ้านตลอดสองสัปดาห์ หรือถ้าเขาอยากได้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค คุณก็ต้องเสนอที่จะช่วยเขาออกเงินส่วนหนึ่ง และอีกส่วนาเขต้องเป็นฝ่ายช่วยเก็บเงินด้วยอีกทางหนึ่ง
พยายามอย่าออกเงินซื้อให้เขาก่อน แล้วสอนให้เขาผ่อนจ่ายภายหลัง เพราะวิธีแบบนี้ถือเป็นการสอนที่ผิด เนื่องจากจะไปปลูกฝังนิสัยการใช้บัตรเครดิตพร่ำเพรื่อให้แก่เขาโดยทางอ้อมนั่นเอง ทางที่ดีควรสอนให้เขารู้จักเก็บออมเงินเพื่อสิ่งของที่เขาอยากได้จะดีกว่านะ เพื่อให้เขาเกิดความคิดที่ว่าอะไรก็ไม่ได้มาได้ง่ายๆ จะต้องมีความพยายามเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมานั่นเอง
3. สอนเขาให้เก็บออมจนเป็นนิสัย
การออมเงิน ถือเป็นรากฐานสำคัญที่คุณควรปลูกฝังให้เขา เพราะเป็นการสะสมเงินทุนเพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน หรือสะสมเพื่อการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ คุณควรสอนเขาให้มีนิสัยรักการออม และเห็นการออมเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน มี่เขาจะต้องหมั่นทำอย่างสม่ำเสมอจนติดเป็นนิสัยไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งการสอนให้เขาออมเงินนี้ เริ่มสอนตั้งแต่เขายังเด็กและเริ่มใช้เงินเป็นกันเลย โดยให้เขาเก็บเงินจากค่าขนมโรงเรียนมาหยอดกระปุกวันละ 5-10 บาททุกวัน เมื่อเต็มกระปุกก็นำเงินไปฝากธนาคารโดยเปิดบัญชีเป็นชื่อเขา ก็จะทำให้เขาติดนิสัยการออมและมีนิสัยการใช้จ่ายเงินที่ดีได้นั่นเอง
เริ่มต้นจากการหยอดกระปุกเล็กๆน้อยๆ โดยกำหนดเป้าหมายในแต่ละวัน ให้เขาเหลือเงินจากโรงเรียนมาตามจำนวนที่เขาตั้งเป้าไว้ สะสมจนได้เงินจำนวนหนึ่งก็พาเขาไปเรียนรู้ระบบธนาคารต่อไป ด้วยการพาไปเปิดบัญชีเงินฝาก อย่าลืมสอดแทรกความรู้เรื่องดอกเบี้ย และผลกำไรรายปีที่เขาจะได้รับจากการฝากเงินในครั้งนี้ด้วย เพื่อให้เขาได้รับรู้จุดประสงค์หลักของฝากเงินนั่นเอง
หรือเพิ่มแรงใจในการออมด้วย >> พิชิตการออมด้วย กระปุกออมสิน DIY <<
นอกจากนี้คุณอาจจะสอนเขาหารายได้พิเศษเล็กๆน้อยๆ เช่น ให้เขาช่วยงานบ้าน หรืองานกิจการที่บ้าน บางครั้งงานในอินเตอร์เน็ตบางอย่าง ก็เหมาะที่จะให้เด็กๆฝึกทำ เช่นถ้าเขาเก่งในด้านภาษา ลองให้เขารับแปลเอกสารเพื่อฝึกฝนตัวเองในช่วงวัยรุ่น เพื่อหารายได้มาซื้อสิ่งของที่เขาต้องการโดยไม่ต้องพึ่งคุณ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นวิธีการสอนแบบกลมกลืนที่ทดสอบมาแล้วว่าได้ผล เพราะเด็กๆมักจะมองคนสอนเป็นหลัก ถ้าคุณสอนเขาในเชิงวิชาการมากเกินไป เขาก็จะรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่อยากปฏิบัติตาม และทันทีที่เขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เขาอาจเบื่อในเรื่องเหล่านี้ และกลายเป็นบุคคลที่ล้มเหลวทางการเงินได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น คุณควรเป็นผู้สอนที่ดี เป็นแบบอย่างให้แก่เขาในทางอ้อม หาวิธีปรับ นิสัยทางการเงิน สอนเขาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ