สำหรับครอบครัวหนึ่ง การบริหารจัดการเงินภายในบ้านก็ถือว่าเป็นการวางแผนชีวิตครอบครัวร่วมกัน แต่ใครจะเป็นผู้คุมการเงินของครอบครัวที่แท้จริง แต่เรื่องเงินทองก็ไม่เข้าใครออกใคร แล้วอย่างนี้จะเกิดความขัดแย้งในครอบครัวหรือไม่ เรามีตัวอย่างวิธีบริหารจัดการเงินภายในครอบครัวจากกระทู้ดัง มาเป็นแนวทางให้แต่ละครอบครัวตัดสินใจนำไปเป็นแบบอย่างกันค่ะ
ตัวอย่างที่ 1 ภรรยาเท่านั้นถึงจะเก็บเงินอยู่
เป็นเรื่องเล่าจากสมาชิกบนกระทู้ pantip https://pantip.com/topic/36756751 โดยบอกว่าส่วนตัวแล้วสามีไม่ค่อยมีวินัยในการออมเงินเท่าไหร่นัก เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการเงินภายในครอบครัวได้ ภรรยาจึงออกปากขอนำเงินเดือนของสามีมาบริหารจัดการภายในบ้านเอง ซึ่งตัวเธอเองนั้นทำขนมขายอยู่กับบ้าน จากที่เงินติดลบ เป็นหนี้สิน ภรรยาก็นำเงินเดือนของสามีมาใช้จ่ายภายในบ้าน โดยแบ่งการใช้จ่ายเงินเป็นสัดส่วน รวมทั้งยังแบ่งเงินไปออมอีกด้วย จึงเป็นที่น่าสนใจมากนะคะ เรามาดูกันค่ะว่าบ้านนี้เค้าออมเงินกันอย่างไร
- เงินเดือน 15,000 บาท แบ่งสัดส่วนเงิน ดังนี้
- ส่วนที่ 1 ค่าใช้จ่ายของสามี วันละ 50 บาท = 30 วัน × 50 บาท = 1,500 บาท (ทำปิ่นโตกลางวันให้ต่างหาก)
- ส่วนที่ 2 เงินเผื่อกรณีฉุกเฉินสำหรับสามี เดือนละ 500 บาท
- ส่วนที่ 3 เงินใช้หนี้ เดือนละ 10,000 บาท
- ส่วนที่ 4 ค่าน้ำค่าไฟ เดือนละ 250 บาท
รวมแล้ว ใช้เงินทั้งสิ้น 12,250 บาท ส่วนที่เหลือจะเป็นส่วนที่ 5 คือ เงินเก็บของครอบครัว เดือนละ 2,750 บาท เมื่อครบ 1 ปี บ้านนี้จะมีเงินออมทั้งหมด 33,000 บาท เลยทีเดียว
ถือว่าบ้านนี้ภรรยาเป็นผู้คุมอำนาจทางการเงินที่เก่งมากนะคะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณสามีเองก็เก่งมากด้วยที่มีระเบียบวินัย ไม่นำเงินไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควรค่ะ
ตัวอย่างที่ 2 บริหารจัดการเงินส่วนใหญ่อยู่ที่สามี
อีกหนึ่งกระทู้จาก https://pantip.com/topic/36722809 เป็นตัวอย่างที่คุณสามีเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการเงินภายในบ้านเป็นส่วนใหญ่ โดยที่คุณภรรยาก็เห็นว่าเหมาะสมดีแล้ว เพราะสามีจะได้มีส่วนรับรู้สถานการณ์การเงินภายในครอบครัวด้วย เพราะเรื่องเงินภายในบ้านก็ถือว่าต้องรับรู้ด้วยกัน มีปัญหาจะได้หาทางแก้ไขร่วมกันได้ทันการณ์ ซึ่งบ้านนี้ก็มีวิธีบริการจัดการเงิน โดยที่คุณสามีจะเป็นคนผ่อนค่าบ้าน ค่ารถ (จ่ายของใหญ่เป็นหลัก) ส่วนภรรยาก็จะจ่ายค่าอาหาร ของใช้ต่าง ๆ ภายในบ้าน ซึ่งถ้าจะมองตามเหตุผลแล้ว ก็ถือว่ายุติธรรมดีนะคะ
ตัวอย่างที่ 3 แยกเงินใช้ แต่มีเงินกองกลางเพื่ออนาคตของครอบครัว
จากกระทู้ https://pantip.com/topic/31856617 (ความเห็นที่ 1 และ 4) สามีและภรรยาเพิ่งแต่งงาน และตกลงกันว่ายังไม่อยากจะมีลูก แต่ก็คิดมีไว้ในอนาคต ทั้งสองจึงกำหนดเป้าหมายในชีวิตร่วมกันนั่นก็คือ เก็บเงินให้ลูกและเป็นเงินสำรองยามแก่เฒ่า ซึ่งฝ่ายสามีมีเงินเดือน ๆ ละ 30,000 บาท ภรรยามีเงินเดือน ๆ ละ 25,000 บาท ทั้งสองจึงคิดแล้วว่าจะออมเงินคนละ 5,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งรวมแล้วใน 1 ปี บ้านนี้จะมีเงินเก็บเท่ากับ 5,000 × 12 เดือน = 60,000 บาท เลยทีเดียว ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายภายในบ้านก็ผลัดกันซื้อของใช้ที่จำเป็น เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจนะคะ ต่างคนต่างจ่าย แต่ก็ยังมีเงินเก็บเป็นเงินกองกลางอีก
-
แล้วใครคือผู้กุมอำนาจที่แท้จริง?
เอาตามตรงแล้วการบริหารจัดการเงินภายในบ้าน สามีและภรรยาก็ถือว่าเป็นคน ๆ เดียวกันแล้ว แต่การบริหารจัดการเงินนั้น ทั้งสามีและภรรยาต้องอยู่ภายในการตกลง ยินยอมร่วมกัน เพราะบางบ้านภรรยาอาจจะใช้เงินเก่งกว่าสามี ในขณะที่บางบ้านสามีใช้เงินเก่งกว่าภรรยา ซึ่งหากว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินก็ควรจะหันหน้าปรึกษากันดี ๆ โดยยึดหลัก ดังนี้
- คุยกันด้วยเหตุผลถึงเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน
หาว่าภายในครอบครัวเกิดเหตุการณ์วิกฤต มีปัญหาด้านการเงินภายในครอบครัว เช่น อาจจะต้องใช้จ่ายหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายไหนก็ตาม แต่เมื่อคุณร่วมใช้ชีวิตด้วยกันแล้ว ก็ถือว่าจะต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย โดยอาจจะแบ่งเป็นเงินกองกลาง จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และควรให้ผู้ที่บริหารจัดการเงินได้เก่งกว่า เป็นคนดูแลเงินกองกลางก้อนนั้น โดยในแต่ละเดือน คนที่ดูแลต้องแจ้งรายละเอียดการเงินให้อีกฝ่ายทราบทุกเดือน เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความขัดแย้งเรื่องการเงินภายในครอบครัวที่ดีที่สุดแล้วค่ะ
- ปัญหาหนี้สินไม่ใช่ของใครคนหนึ่ง หากมีปัญหาต้องหันหน้าเข้าหากัน
เป็นเหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้นในหลายครอบครัว เช่น ค่าใช้จ่ายไม่พอใช้แต่ละเดือน ก็ไม่กล้าที่จะบอกอีกฝ่ายให้รับรู้ แต่กลับเป็นฝ่ายไปหยิบยืมเงินจากคนอื่น มาบริหารจัดการเอง ซึ่งหากฉุกเฉินก็สามารถทำได้ แต่หากเป็นเหตุการณ์ปกติ ทั้งสามีและภรรยาก็ควรจะหันหน้าปรึกษาว่าจะทำอย่างไร เช่น ช่วยกันลดภาระค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เพื่อจะได้มีเงินมาบริหารจัดการได้อย่างพอใช้ หรือถ้าหากจะต้องกู้หนี้ ยืมสินจริง ๆ ก็ต้องรับรู้ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาขัดแย้งตามมาในภายหลัง
อย่างไรก็แล้วแต่ การบริหารจัดการเงินภายในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเรื่องของการวางแผนชีวิตคู่ร่วมกัน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ อย่าให้เรื่องของตัวเลขมาลดทอนในเรื่องของความรักและความรู้สึกของคนภายในครอบครัวนะคะ